ปทุมธานี บิ๊กแจ๊สร่วมภาคีเครือข่าย4มหาวิทยาลัย จัดประกวดแบบแลนด์มาร์คแหล่งใหม่ย่านรังสิต
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ห้องประชุมสภาเทศบาลนครรังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ได้มีการแถลงข่าวการดำเนินงาน โครงการประกวดแบบ The Landmark Rangsit ปทุมธานีเมืองแห่งสายน้ำจากพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 5 ระดับนิสิตนักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นกิจกรรมในโครงการประกวดแบบปรับปรุงภูมิทัศน์สวนสาธารณะเพื่อน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ โดยมีพระสมุห์พิชิต ฐิตชโย ที่ปรึกษาคณะทำงานโครงการฯ, พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี, ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต ประธานคณะทำงานโครงการฯ, นางสาวสุดาลักษณ์ ชินวิรารัฒน์ ประธานชมรมรักษ์บวร รักษ์ศีล 5 ปทุมธานี ในอุปถัมภ์พระธรรมรัตนาภรณ์ รองประธานคณะทำงานโครงการฯ และนายองอาจ ธรรมนิทา กรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานี กรรมการและเลขานุการคณะทำงานโครงการฯ ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ของกรมชลประทานมีลักษณะเป็นเกาะ อยู่บริเวณประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านให้ใช้พระนามของพระองค์ท่าน ถือเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ทาง อบจ.ปทุมธานีและเทศบาลนครรังสิต จึงได้ประสานหลายหน่วยงานเพื่อที่จะสร้างแลนด์มาร์คที่สำคัญของนครรังสิต นอกจากมีอนุสาวรีย์ มีวันสถาปณา ที่ต้องมีการจัดอย่างยิ่งใหญ่ ให้สมพระเกียรติของพระองค์ท่าน และเป็นที่ออกกำลังกายของพี่น้องประชาชนชาวนครรังสิต ผมจึงอยากให้โครงการนี้สำเร็จให้ได้ และต้องทำอย่างรวดเร็ว ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดต้องขอบคุณทางนครรังสิต ที่ได้นำนักศึกษา มามีส่วนร่วม รวมถึงมีการประกวดไอเดียของเด็กรุ่นใหม่ เพื่อนำมาเสริม ซึ่งผมอยากให้เห็นผลเร็วที่สุด และนำผลตรงนี้นำไปประกอบเพื่อ MOU ต่อไปและจะเกิดประโยชน์กับพี่น้องชาวรังสิตอย่างมหาศาล
ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้เราได้ขอความร่วมมือจากนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในจังหวัดปทุมธานี โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งนักศึกษาก็ให้ความสนใจมาร่วมโครงการของเรา โดยรวมเราได้ไอเดีย แนวความคิดจากน้อง ๆ นักศึกษา เพื่อที่นำมาประยุกกับประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญกับประตูน้ำจุฬาลงกรณ์เป็นอย่างมาก เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และสถานที่ออกกำลังกาย เป็นสถานที่ค้าขายส่งเสริมทางด้านต่าง ๆ เป็นแลนด์มาร์คของรังสิตแห่งใหม่ ที่ได้รับความร่วมมือกับน้อง ๆ นักศึกษาและประชาชนทุกภาคส่วน ต้องขอบคุณองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กรมชลประทาน รวมถึงภาคีเครือข่าย ที่ได้ร่วมกันให้เกิดโครงการแลนด์มาร์ครังสิตเกิดขึ้น
ข่าวน่าสนใจ:
นายองอาจ ธรรมนิทา กรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดปทุมธานี กรรมการและเลขานุการคณะทำงานโครงการฯ กล่าวว่า “สำหรับการประกวดแบบจัดขึ้นภายใต้แนวคิดสร้างสรรค์ The Landmark Rangsit ปทุมธานีเมืองแห่งสายน้ำจากพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 5 สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมการประกวดฯ เป็นนิสิตนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในจังหวัดปทุมธานี โดยสมัครเข้าร่วมในรูปแบบเป็นทีม ทีมละไม่เกิน 5 คน และมีอาจารย์ที่ปรึกษาประจำทีม ด้านลักษณะและรายละเอียดการประกวดแบบแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย ส่วนที่ 1) คือส่วนของพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ภูมิทัศน์ภายนอก ปะรําพิธี ลานกิจกรรม เป็นต้น, ส่วนที่ 2) คือส่วนของอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งอาจเป็นอาคารเดียวหรือหลายอาคารเชื่อมต่อถึงกัน และส่วนที่ 3) คือส่วนของอาคารหอคอยชมเมือง ซึ่งพื้นที่ใช้สอย ห้อง และระบบต่างๆ เป็นไปตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในโครงการฯ สำหรับเกณฑ์การพิจารณาตัดสินการประกวดฯ ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการนั้น ประกอบด้วย ส่วนที่ 1) คือแนวความคิดในการออกแบบ ส่วนที่ 2) คือความสวยงาม เช่น ผังบริเวณ (Layout), การออกแบบภูมิทัศน์ (Landscaping design), โครงสร้าง (Hard scape), องค์ประกอบทางธรรมชาติ (Soft scape), อุปกรณ์ประกอบถนน (Street furniture), สภาพแวดล้อม (Surrounding), ความสัมพันธ์กับพื้นที่รอบข้าง (Urban link), อาคาร (Building) เช่น การออกแบบเชิงโครงสร้าง (Architecture design), การออกแบบตกแต่งภายใน (Interior design), การนำเสนอผลงาน ในรูปแบบ 2D/3D/Animation (Presentation) ส่วนที่ 3) คือความสมบูรณ์ (Entirety) เช่น แนวความคิด (Concept), ฟังก์ชั่น และประโยชน์ใช้สอย (Function and Utility), แบบแปลน แผนผัง (Plan), การเข้าถึง (Accessibility), ความสัมพันธ์ภายนอกและภายในอาคาร/พื้นที่ (Internal and external relationships), รายละเอียดการออกแบบ (Design details), การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal design) และส่วนที่ 4) คือความเป็นไปได้ของโครงการ (Project feasibility) เช่น งบประมาณ (Budget), ความเหมาะสมทางด้านวิชาการ และตามมาตรฐานวิชาชีพสถาปัตยกรรม วิชาชีพวิศวกรรม และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันของโครงการฯ, วัสดุ, โครงสร้าง, งานระบบ (Material, Structure, System work), เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmentally Friendly) เป็นต้น ในด้านรางวัลประกาศเกียรติคุณและทุนการศึกษานั้น ประกอบด้วย 1) รางวัลชนะเลิศ จะได้รับโล่เกียรติยศจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พร้อมทุนการศึกษา จำนวน 100,000 บาท และทุนสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้แบบก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในส่วนแรกอีกจำนวน 100,000 บาท และ 2) รางวัลชมเชย จำนวน 9 รางวัล หรือตามจำนวนทีมที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ ได้รับโล่เกียรติยศจากนายกเทศมนตรีนครรังสิต พร้อมทุนการศึกษา จำนวน 20,000 บาท สำหรับกรอบระยะเวลาจัดการประกวดฯ ดำเนินการ 3 รอบ คือ รอบคัดกรอง โดยแต่ละมหาวิทยาลัย คัดเลือกให้เหลือไม่เกิน 5 ทีม, รอบคัดเลือก โดยคณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดฯ ส่วนกลาง คัดเลือกให้เหลือไม่เกิน 10 ทีม ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2565, รอบชิงชนะเลิศ โดยคณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดฯ ภายในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2565 นำไปสู่การการจัดแสดงผลงานและมอบรางวัลเกียรติยศ จากนั้น เทศบาลนครรังสิตจะได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการวางเค้าโครงการออกแบบและแก้ไขพัฒนาแบบตามความเหมาะสมทางด้านวิชาการ และตามมาตรฐานวิชาชีพสถาปัตยกรรม วิชาชีพวิศวกรรม และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ต่อไป.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: