ปทุมธานี บิ๊กแจ๊สเดินหน้าแปรรูปเศษอาหารและผักตบชวาให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ภายใน 24 ชม. โครงการแรกของประเทศไทย
วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2565 ที่สถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยฝั่งตะวันออกจังหวัดปทุมธานี ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คํารณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานในพิธีเปิดโรงงานแปรรูปเศษอาหารและผักตบชวา ภายใน 24 ชั่วโมง นำร่องปทุมธานีจังหวัดสะอาด ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ กับภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด และ รศ.ดร. จุฑารัตน์ เอี้ยวกฤตยากร ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพโมเลกุลและชีวสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อเป็นต้นแบบโครงการแรกของประเทศไทย โดยมี ร้อยตำรวจเอก ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต กล่าวรายงาน และภาคเอกชน ผู้นำชุมชน และประชาชนร่วมพิธี
ในปีที่ผ่านมาสถานการณ์ขยะมูลฝอยในเขตจังหวัดปทุมธานี มีปริมาณขยะมูลฝอยมากถึง 1,714 ตันต่อวัน โดยมีขยะในเขตพื้นที่เทศบาลนครรังสิต ประมาณ 150-170 ตันต่อวัน ซึ่งมีขยะอินทรีย์ มากถึงร้อยละ 55 และได้ใช้วิธีจัดการปัญหาขยะอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง เช่น นำขยะเศษอาหารกลับมาใช้ประโยชน์โดยการผลิตน้ำหมักชีวภาพ ผลิตปุ๋ยหมักและผลิตแก๊สชีวภาพ แต่ยังคงกำจัดปริมาณขยะไม่ทัน ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะตกค้างสะสม อันเป็นสาเหตุของการเกิดกลิ่นเหม็น เกิดมลพิษทางอากาศ เกิดแหล่งน้ำเสีย กระทบต่อสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ เทศบาลนครรังสิต จึงได้ริเริ่มโครงการ “ปทุมธานีจังหวัดสะอาด” มีวัตถุประสงค์ที่จัดการขยะอินทรีย์ให้ประสบผลสําเร็จ กลายเป็นชุมชน (Zero Waste) นำร่องด้วยการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการคัดแยกขยะให้ถูกต้อง อีกทั้ง จับมือร่วมกับภาคเอกชน ประกอบด้วย รศ.ดร. จุฑารัตน์ เอี้ยวกฤตยากร ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพโมเลกุลและชีวสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด เปิดโรงงานแปรรูปเศษอาหารและผักตบชวาให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ภายใน 24 ชม. ด้วยกระบวนการในการกําจัดที่รวดเร็วและถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อแก้ปัญหาขยะอินทรีย์ตกค้างสะสม เพื่อเป็นต้นแบบโครงการแรกของประเทศไทย
สำหรับ โครงการ “ปทุมธานีจังหวัดสะอาด” เป็นการจับมือกันระหว่าง เทศบาลนครรังสิต กับ ภาคเอกชน จัดตั้งโรงงานแปรรูปเศษอาหารและผักตบชวา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างและการดำเนินงานทั้งหมดจาก บริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด ซึ่งจะนำเทคโนโลยีที่ร่วมคิดค้น ร่วมกับ รศ.ดร. จุฑารัตน์ เอี้ยวกฤตยากร ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพโมเลกุลและชีวสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จนได้นวัตกรรมในการแปรรูปเศษอาหารและเศษวัชพืช เช่น ผักตบชวา ให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ภายใน 24 ชม. ทั้งนี้ เทศบาลนครรังสิตได้นำมาผสมผสานกัน และเกิดเป็นโรงงานต้นแบบที่ใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการแปรรูปเศษอาหารและผักตบชวา นับเป็นผลงานการคิดค้นโดยคนไทย สามารถกำจัดขยะเศษอาหารและวัชพืชได้ถึงวันละ 20 ตันต่อวัน ทั้งยังได้ผลิตผลเป็นปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งเทศบาลนครรังสิต ได้มีการส่งมอบแจกจ่ายให้ประชาชนในชุมชน โดยทางเทศบาลนครรังสิต คาดว่าจะสามารถจัดการปัญหาขยะได้อย่างยั่งยืน และจะเป็นโครงการนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพให้กับชุมชนอื่น ๆ ต่อไป
นายกฤตวัฒน์ เลื่อนราม กรรมการผู้จัดการ บริษัทไบโอแอ็กซ์เซล กล่าวว่า เนื่องจากทางโรงงานได้ร่วมกับกับทางนครรังสิต ปัจจุบันทางเทศบาลได้มีปัญหาทางด้านขยะจากเศษอาหารและผักตบชวา ซึ่งทางบริษัทเราได้มารับหน้าที่มากำจัดและแปรรูปจากขยะที่ไม่มีค่าเพื่อพัฒนามาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีมูลค่า ส่วนของของผลิตภัณฑ์จะแบ่งให้กับทางเทศบาลนครรังสิต รวมถึงเศษอาหารจากโรงงานต่าง ๆ เราสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ เพื่อให้ทางเทศบาลนำไปใช้ต่อ
ร้อยตำรวจเอก ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต กล่าวว่า ปัญหาขยะในพื้นที่เทศบาลนครรังสิตต่อวันนั้นเยอะมากโดยเฉพาะขยะอินทรีย์ เราจึงอยากให้นำมาใช้ประโยชน์ ปกติจะใช้ระยะเวลาในการหมัก 30 วัน ถึงจะนำไปใช้เป็นปุ๋ยได้ ซึ่งทางบริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล ได้มีนวัตกรรมที่สามารถแปรรูปขยะอินทรีย์ภายในเวลา 24 ชั่งโมง ทางเทศบาลจึงได้ร่วมกับบริษัทเพื่อลดปริมาณขยะในพื้นที่เทศบาลนครรังสิต ผลผลิตก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ เราจะขอความร่วมกับพี่น้องประชาชนให้คัดแยกขยะมาแลกกับผลผลิตคือปุ๋ยหรืออาหารสัตว์ นอกจากนี้ทางเทศบาลนครรังสิตมีศูนย์พักพิงสุนัขแมวจรจัด ปริมาณอาหารที่เราใช้ต่อเดือดต่อปีเยอะมาก หากตรงนี้สามารถทำอาหารสัตว์ได้ด้วย และนำไปใช้ประโยชน์ ผมเชื่อว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่าย เราจะมีสิ่งที่จะช่วยดูแลสุนัขและแมวจรจัดของชุมชนนครรังสิต
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี กล่าวว่า เนื่องจากผักตบชวาเป็นปัญหาในทุกแม่น้ำลำคลอง ที่ผ่านมาทาง อบจ.ร่วมกับเทศบาล อบต.หลาย ๆ พื้นที่ พยายามกำจัดวัชพืชเหล่านี้ให้หมดไปเราได้เดินหน้ามาเยอะแล้ว วิธีการกำจัดขยะและผักตบชวาต้องมีการพัฒนาไป ร่วมถึงจะต้องพัฒนาไปผลิตไฟฟ้าอย่างที่ในต่างประเทศเขาทำกัน ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีกลุ่มผู้ที่คิดหาผลประโยชน์ ที่ประกอบธุรกิจแบบเดิม ๆ เช่นมีที่ดินแล้วเปิดให้เอาขยะมาทิ้งแล้วทำการฝังกลบ หากทำวิธีนี้ผ่านไปอีก 30 ปี ลูกหลานเราจะลำบาก เพราะสภาพสิ่งแวดล้อมจะเป็นพิษหมด น้ำใต้ดินในธรรมชาติจะเสียหมด วันนี้จึงต้องขอบคุณทางบริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล ที่เกิดโครงการนี้ขึ้นมาร่วมกับทางเทศบาลนครรังสิต ทำเป็นจุดแรกผ่านใน 24 ชั่วโมงสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์เอาไปแจกพี่น้องประชาชน ขอบคุณทางบริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล ที่ลงทุนโดยที่ไม่ได้ใช้งบประมาณแต่อย่างใด หากโครงการนี้เกิดประโยชน์ต่อไปจังหวัดปทุมธานีต้องไม่มีผักตบชวา เราจะเก็บผักตบชวาที่ลอยไปลอยมาทำให้เป็นต้นแบบ จังหวัดปทุมธานีต้องปลอดผักตบชวา.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: