ปทุมธานี อลงกรณ์ ลงพื้นที่ เยี่ยมชมตลาดกลางอินทรีย์ท้ายเกาะ ยกเป็นโมเดลตลาดกลางสินค้าเกษตรอินทรีย์
เมื่อเวลา 09.30น.วันที่ 14 ก.พ.2566 ที่ตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ท้ายเกาะ ถนนปทุมธานี-เสนา ต.ท้ายเกาะ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน เดินทางเยี่ยมชมโครงการตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ท้ายเกาะและปาฐกถาพิเศษ “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศไทย” โดยมีดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ นายกสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทยรองประธานสภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส แห่งประเทศไทย และอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นาย วิเชียร สวาทยานนท์ เจ้าของตลาดโรงเกลือท้ายเกาะ ร่วมให้การต้อนรับ
ข่าวน่าสนใจ:
ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ นายกสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทยเปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า1ปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสนำความรู้ด้านการบริหารธุรกิจมาทำงานพัฒนาธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ผมเดินทางไปทั่วประเทศ พบปะกับพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์หน่วยงานภาคีต่างๆมากมาย สิ่งที่ผมเห็นคือ Gap หรือช่องว่าง ที่พี่น้องเกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์แล้วเข้าไม่ถึงตลาด และผมเห็นความต้องการผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากผู้ประกอบการและผู้บริโภค แต่ก็สามารถเข้าถึงผลผลิตเกษตรอินทรีย์ได้น้อยมาก เกษตรกรทำอินทรีย์แล้วเข้าไม่ถึงมาตรฐาน ขาดความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ขาดความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์เชิงพาณิชย์ ขาดความรู้ที่จะแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ขาดเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ ขาดการจัดการเชื่อมโยงผลผลิตซึ่งพอมีอยู่อย่างกระจัดกระจายทั่วประเทศ ขาดศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าเกษตรอินทรีย์
โดยรวมแล้วความท้าทายหลักของเกษตรกร คือมีจุดอ่อน ในด้านการประกอบการ มีขีดจำกัดด้านการตลาด จึงได้เริ่มบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนแบบประชารัฐ นำไปสู่การลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สู่เศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืนตามแนวทางประชารัฐ” กับ 35 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2559 และต่อมาได้จัดตั้งกลไกวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนห่วงโซ่เกษตรอินทรีย์ ในรูปของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัด และสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หรือ PGS-Participatory Guarantee System ภายใต้แบรนด์ SDGSPGS และกลไกธุรกิจในแต่ละจังหวัดเพื่อจัดการผลผลิตจากแปลงเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองสู่ตลาด และต่อมาได้ยกระดับจัดตั้งเป็นสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืนไทย เพื่อการเชื่อมโยงธุรกิจเกษตรอินทรีย์ในเครือข่ายที่กว้างขวางและมั่นคงขึ้น
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ต้องขอชื่นชมสมาคมการค้าเกษตรกรรมยั่งยืน สภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส แห่งประเทศไทย การมีตลาดกลางอินทรีย์ท้ายเกาะถือว่าเป็นต้นแบบของตลาดกลางอินทรีย์ของประเทศไทย ถือว่าเป็นสามโคกโมเดล เป็นความร่วมมือของภาคเอกชนภาครัฐและกลุ่มเกษตรกร ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืน ยุทธศาสตร์เกษตรปลอดภัย ถือว่าเป็น 2 ใน 5 ยุทธศาสตร์ที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายไว้ และเกษตรอินทรีย์เป็น1ใน 5 สาขาของเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งตรงนี้ตอบโจทย์อนาคต ซึ่งเราส่งเสริมให้คนไทยกินอาหารเป็นยาไม่ใช่กินยาเป็นอาหารเพราะฉะนั้นเกษตรอินทรีย์เป็นคำตอบที่ดีสำหรับอนาคต โดยมีนโยบายส่งเสริมให้ทุกจังหวัดรวมกรุงเทพมหานคร มีตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อน ซึ่งทุกวันนี้สินค้าเกษตรอินทรีย์กำลังเป็นเทรนที่ทั่วโลกกำลังนิยมหลังจากโรคโควิดระบาด คนก็กังวลเรื่องสุขภาพ การขับเคลื่อนตลาดเกษตรอินทรีย์ในวันนี้เป็นสัญญาณที่ดี ที่จะก่อให้เกิดตลาดอินทรีย์แบบยั่งยืนใน 77จังหวัด
ด้านคุณวิเชียร สวาทยานนท์ เปิดเผยว่า ตนเองมีความตั้งใจจะสร้างให้เกิดความเจริญขึ้นในชุมชน โดยมุ่งหวังให้เป็นแหล่งรวมของสินค้า ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จนถึงระดับจังหวัด เพื่อส่งเสริมให้เกิดรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนแก่ชุมชน เรามีความมั่นใจว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้ไม่ยาก เนื่องจากปทุมธานีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูง ด้วยปัจจัยที่เอื้ออำนวยมากมาย อาทิ เป็นจังหวัดที่ไม่ไกลจากเมืองที่มีกำลังซื้อสูงอย่างกรุงเทพฯ และเป็นเส้นทางผ่านไปยังจังหวัดต่างๆ มากมาย
ตลาดโรงเกลือท้ายเกาะให้ความสนใจด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นตลาดกลางซื้อขายสินค้าออนไลน์ให้กับร้านค้าในตลาด เพื่อโอกาสทางการค้าที่เท่าทันกับยุคสมัย และจะเริ่มรณรงค์อย่างต่อเนื่องให้เป็นตลาดไร้เงินสด ด้วยการรับชำระค่าเช่าและค่าสาธารณูปโภคผ่านระบบธุรกรรมออนไลน์ และตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ (Organic World Thailand)แห่งนี้เกิดจาก ความร่วมมือกับสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนไทย ในการรวบรวมสินค้าเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร โดยจะเก็บค่าเช่า 1 บาท เป็นเวลา 24 เดือนสำหรับเกษตรกรที่นำสินค้ามาจำหน่ายสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานตลาดกลางอินทรีย์ท้ายเกาะ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: