X

ประเพณีแห่ผ้าพระบฏ  การเดินทางจากพระบรมธาตุฯ สู่…พุทธคยา มรดกโลก

ประเพณีแห่ผ้าพระบฏ  การเดินทางจากพระบรมธาตุฯ สู่…พุทธคยา มรดกโลก

ประเพณีแห่ “ผ้าพระบฏ” หรือที่เรียกขานกันติดปากว่า “ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ “     หมายถึงการแห่ผ้าผืนยาว ที่มีการวาด หรือพิมพ์ภาพเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ ขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ณ.วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อเป็นการน้อมรำลึก และเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทั้งนี้ประเพณีดังกล่าวประชาชนชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียง ยึดถือ ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

อาจารย์ฉัตรชัย ศุภกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากการค้นคว้าจากบันทึก และตำนานต่างๆ ในเรื่องผ้าพระบฏ ทำให้ทราบว่า ประเพณีนี้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อครั้งพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ทรงเป็นกษัตริย์ ปกครองเมืองตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) ได้มีดำริที่จะทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ องค์พระบรมธาตุ ที่เริ่มทรุดโทรม  โดยการบูรณะครั้งใหญ่นี้ดำเนินการแล้วเสร็จลงในปีพุทธศักราช 1773 จากนั้นก็เริ่มเตรียมการที่จะเฉลิมฉลอง จัดงานสมโภชองค์พระบรมธาตุ

ระหว่างนั้น ได้มีชาวบ้านปากพนัง เข้ามากราบทูลว่า พบผ้าแถบยาวผืนหนึ่งถูกคลื่นซัดเจ้ามาติดชายหาดปากพนัง และนำผ้าผืนดังกล่าวมาถวายต่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราช เมื่อได้รับผ้าผืนนั้นมา พระองค์ทรงสั่งให้เจ้าพนักงานซักทำความสะอาด จนมองเห็นภาพพุทธประวัติ (พระบฏ) ที่ถูกวาดลงบนผ้าแถบยาว จึงสั่งให้มีการติดตามสืบหาเจ้าของผ้า จนต่อมาทราบว่า ผ้าพระบฏผืนดังกล่าวนั้น เป็นผ้าของชาวพุทธจากเมืองหงสาวดี ที่ได้นำขึ้นเรือเพื่อจะนำไปบูชาที่พระพุทธบาท ที่ลังกา โดยมี“ผขาวอริยพงษ์ “เป็นหัวหน้าคณะ แต่ระหว่างทางเกิดมรสุมใหญ่จนขบวนเรือล่มลงกลางทะเล และผ้าพระบฏ ถูกคลื่นซัดมาติดชายหาด โดยผู้ร่วมขบวนเรือดังกล่าวมีผู้รอดชีวิตราว 10 คน

พระเจ้าธรรมโศกราช ทรงทราบดังนั้น จึงอนุญาตให้ชาวพุทธจากหงสาวดี ที่รอดชีวิต นำผ้าพระบฏไปห่มองค์พระบรมธาตุ ในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ ในครั้งนี้ ซึ่งก็สร้างความปราบปลื้มยินดีแก่ชาวพุทธหงสาวดีเป็นที่ยิ่ง จึงโปรดให้ชาวเมืองจัดเครื่องประโคมแห่แหนขึ้นห่มพระมหาธาตุ ในคราวเดียวกับการสมโภชพระมหาธาตุนั้นเอง

แม้จะมิได้เดินทางไปยังพระพุทธบาทลังกา แต่ผ้าพระบฏ ที่นำมา ก็ได้ถูกนำห่มองค์พระบรมธาตุ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ จึงกำเนิดขึ้นตั้งแต่นั้น สืบทอดยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน..

อย่างไรก็ตาม จากหนังสือ “สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้” อธิบายตำนานเรื่องนี้ต่างออกไปเล็กน้อย กล่าวคือ คณะพุทธศาสนิกชนล่องเรือมาจากเมืองอินทรปัต ซึ่งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงฝั่งเขมร จะนำพระบฏไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุหรือพระเขี้ยวแก้วที่ลังกา และเข้ามาเมืองนครศรีธรรมราชในรัชสมัยพระเจ้าจันทรภาณุ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ส่วนหัวหน้าคณะพุทธศาสนิกชนนั้นไม่ปรากฏชื่อแต่เสียชีวิตไปเนื่องจากจมน้ำ

แม้ตำนานจากทั้งสองแหล่งที่มาจะเล่ารายละเอียดแตกต่างกัน แต่เล่าเรื่องราวไปในทิศทางเดียวกันคือ เรือของพุทธศาสนิกชนคณะหนึ่งที่กำลังจะไปลังกาเกิดเหตุเรือแตกกลางทะเล แล้วคลื่นได้ซัดผ้าพระบฏมาขึ้นที่ชายหาด ก่อนจะนำผ้าพระบฏไปห่มพระมหาธาตุในการสมโภชพระมหาธาตุเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

จากพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช  สู่ พุทธคยา..มรดกโลก

ดร.เกล้าสรวง สุพงษ์ธร ประธานสมาพันธ์จิตอาสาชาวใต้ พร้อมด้วย นายเฉลียว คงตุก รองประธานสมาพันธ์จิตอาสาชาวใต้ นายเกรียงไกร พิณทอง เลขาธิการสมาพันธ์จิตอาสาชาวใต้ อาจารย์ฉัตรชัย ศุภกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวไทยจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางไปยังพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ในการเดินทางมาในครั้งนี้ เป็นการนำเอาประเพณี”แห่ผ้าพระบฏ” หรือประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช มาเผยแพร่ให้ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก

ดร.เกล้าสรวง  สุพงษ์ธร  เปิดเผยว่า ในวันนี้เป็นการนำเอาประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ หรือผ้าพระบฏ ที่นำมาจากประเทศไทย มาทำพิธีห่มองค์สถูปพระเจดีย์พุทธคยา ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนิกชนชาวไทย โดยผ้าพระบฏ ที่เรานำมานั้นได้ทำพิธีถวายแค่องค์พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ตามประเพณีโบราณที่ชาวนครศรีธรรมราชและคนไทยทั้งประเทศยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน

ในวันนี้คณะของเราได้เข้าร่วมในงานพิธีสวดมนต์นานาชาติ ที่มีพระภิกษุในพทธศาสนาจากประเทศต่างๆรวม 5 ประเทศเข้าร่วมงานนี้ ประกอบด้วย ประเทศไทย ประเทศอินเดีย ประเทศ สปป.ลาว ประเทศกัมพูชา และประเทศเนปาล ทั้งนี้ การนำผ้าพระบฏมาห่มองค์สถูปเจดีย์พุทธคยา ในครั้งนี้ ถือเป็นการนำเอาประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานเพื่อเผนแพร่สู่สายตาชาวโลกให้ได้รับรู้รับทราบถือประเพณีที่ดีงามของเรา

ดร.เกล้าสรวง กล่าวต่อว่า ขณะนี้กำลังมีการนำเสนอให้องค์พระบรมธาตุ ที่ตั้งอยู่ในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทั้งนี้การแห่ผ้าขึ้นธาตุ หรือผ้าพระบฏเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานถึง 849 ปี และเป็นที่เดียวในโลกที่มีประเพณีแบบนี้ ในนามของคณะจัดงานก็ขออนุโมทนาบุญกุศลให้กับคนไทยและชาวพุทธทั่วโลกด้วย

ด้านอาจารย์ฉัตรชัย  ศุภกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช  กล่าวว่า การนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ในการประชุมขององค์กรยูเนสโก ที่กรุงพนมเปญ ได้มีการประกาศให้ขึ้นทะเบียนเบื้องต้นเอาไว้ จากนั้นก็มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอด 6 ปีผ่านมา ทั้งนี้เราสามารถดำเนินการตามกฎระเบียบของยูเนสโกได้แล้ว 3 ข้อ คือ การแสวงหาคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากล ก็ได้มีการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ซึ่งในที่สุดเราก็ได้จัดทำเป็นเอกสารฉบับสมบูรณ์เป็นภาษาอังกฤษ จำนวน 300 หน้า

โดยเอกสารนี้ได้แสดงความสำคัญของวัตถุประสงค์ 3 ประการ ในอันที่จะขึ้นเป็นมรดกโลก ข้อที่ 1 คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นด้วยอัจฉริยภาพ โดยเฉพาะองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเราได้พบว่าการสร้างองค์พระบรมธาตุเจดีย์ที่มีความสูง 36 วา 55 เมตร โดยวัดจากฐานราก เป็นพระเจดีย์ทรงระฆัง ซึ่งพัฒนามาก่อนที่เราจะได้รับอิทธิพลจากศรีลังกา โดยสันณิฐานว่ามีการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.1100 ที่ผ่านมาก็มีความทรุดทรุดไปตามกาลเวลา แต่ก็มีการบูรณะซ่อมแซมต่อเนื่องกันมาตลอด จนกระทั้งถึงปี 1719 ก็การรับเอาอิทธิพลขากศรีรังกา นั้นคือทรงระฆัง จนกระทั่งองค์พระบรมธาตุ ก็ปรากฏรูปทรงดังที่เห็นในทุกวันนี้ นี่คืออัจฉริยภาพของมนุษย์ในคราบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อาจารย์ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ประการที่ 2 คือ เมื่อได้สร้างขึ้นมาแล้ว ก็ส่งผลให้บริเวณใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นรัฐที่อยู่ในภาคเหนือตอนล่าง สมัยล้านนา หรือในสมัยอยุธยา ก็ได้แนวความคิดจากนครศรีธรรมราชไปใช้ในการสร้างเจดีย์ในท้องถิ่นของตัวเอง ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมีอยู่สองอย่าง คือ การสร้างเจดีย์ช้างล้อม ที่มีอยู่ถึง 29 แห่งในประเทศไทย ซึ่งต้นกำเนิดก็ไปจากนครศรีธรรมราช

ประการที่สอง ก็คือพุทธลีลา ที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่าพระเวียน ที่สร้างขึ้นสมัยก่อนอยุธยา แล้วสืบต่อไปยังสุโขทัย ก่อนเคลื่อนลงมาในสมัยอยุธยา รัตนโกสินทร์ อันแสดงให้เห็นว่าองค์พระบรมธาตุเจดีย์นั้นเป็นต้นแบบ

ประการที่สาม คือการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาโดยต่อเนื่อง เป็นเวลายาวนานกว่า 800 ปี โดยเริ้มต้นเมื่อปี พศ.1771 โดยในปีนั้นมีการนำผ้าไปห่มองค์พระธาตุเจดีย์ ที่เรียกกันว่า ผ้าพระบฏ เป็นผ้ายาวสีขาว เขียนภาพพุทธประวัติ ในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช โดยมีการปฎิบัติสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้..ทั้งนี้การที่เรานำเอาผ้าพระบฏ เดินทางจากประเทศไทย มายังสถูปเจดีย์พุทธคยา ถือเป็นการเผยแพร่ สู่สายตาชาวโลก ตรงตามที่ยูเนสโก กำหนดเอาไว้ในระเบียบการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอีกด้วย

เฉลียว คงตุก / พนอ ชมภูศรี

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี คลุกคลีในวงการสื่อสารมวลชนมานาน โดยเริ่มงานครั้งแรกในราวปีพศ.2540 โดยเข้าร่วมงานกับ นสพ.อาชญากรรม รายสัปดาห์ จากนั้นก็ทำงานเป็น ขทร.ไทยรัฐ นสพ.บ้านเมือง ก่อนจะไปยัง นสพ.คมชัดลึก และเครือเนชั่นกรุ๊ป รายงานข่าว ความเดือดร้อน ระวังภัย และข่าวพัฒนาในชุมชนในท้องถิ่นทางเนชั่นทีวี วันนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นปากเสียง และนำเสนอการพัฒนาเมืองปทุมธานี