ปทุมธานี – ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เน้นตลาดค้าส่งกลไกสำคัญ เป็นศูนย์กลางรองรับผลผลิตจากเกษตรกร
ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจไทย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้เป็นรากฐานสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง ด้วยนโยบายไทยแลนด์ สตาร์ทอัพ รองรับการพัฒนาธุรกิจในช่วงเริ่มต้น ก่อนพัฒนาขึ้นเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี และก้าวขึ้นสู่บริษัทขนาดใหญ่ต่อไป และเมื่อถึงจุดนั้นสตาร์ทอัพก็จะสามารถเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจากเดิมที่มีบริษัทอยู่เพียงไม่กี่แห่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็จะมีบริษัทขนาดเล็กๆ ที่มาช่วยสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตและแข็งแกร่งมากขึ้น
ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปทุมธานี เป็นเมืองสิ่งแวดล้อมสะอาด อาหารปลอดภัย แหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้และพักผ่อนหย่อนใจของอาเซียน สังคมอยู่เย็นเป็นสุข” ซึ่งไม่เพียงจะมุ่งพัฒนาสิ่งแวดล้อมสะอาด เพื่อให้สอดรับกับการเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนในของอาเซียนแล้ว ยังมุ่งเน้นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคทั่วไป
ดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า จังหวัดปทุมธานี ถือเป็นหัวเมืองเอกทางเศรษฐกิจใกล้กรุงเทพมหานคร ที่มีแหล่งปลูกข้าวมี ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี มีแหล่งเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด แหล่งผลิตกล้วยหอมที่มีคุณภาพและผลิตผลจากเกษตรกรรมอีกมากมาย จังหวัดปทุมธานี ตั้งเป้าที่จะผลักดัน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นกลไกสำคัญในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น โดยได้นำกลไกของ “ตลาด” ในรูปแบบต่าง ๆ มาเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อน จังหวัดปทุมธานี
มีตลาดกลางการค้าปลีกและส่ง อย่าง”ตลาดไทและ ตลาดสี่มุมเมือง” เป็นตลาดค้าปลีก-ส่ง ที่ใหญ่สุดของไทย อยู่ในพื้นที่ เราต้องสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ ป้อนผลิตผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่ออกไปสู่ตลาดโลกและในตลาดระดับท้องถิ่น เราตระหนักถึงความจำเป็นของภาคเกษตรที่ต้องมีตลาดกลางที่มีศักยภาพ ความเป็นมาตรฐานในการเป็นศูนย์กลางรองรับผลผลิตจากเกษตรกร สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ ลดค่าการตลาดและเพิ่มมูลค่าของผลผลิตได้
ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวต่อว่า เราเชื่อมั่นว่า จะสามารถช่วยพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้มีศักยภาพ และความสามารถในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นยกระดับมาตรฐานสินค้าให้เป็นสากล พัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ ยกระดับให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเป็น SME 4.0 และเป็นต้นแบบให้กับเอสเอ็มอีในจังหวัดตนเอง และนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับจังหวัดต่อไป
สินค้าที่นำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าอย่างเช่น ปลาดุกนั้นถือว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของจังหวัดปทุมธานีที่ เกษตรกรนิยมเลี้ยงกันมากเพื่อเอาไว้จำหน่าย การนำ “ปลาดุก” มาเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็น “ปลาดุกแดดเดียว”เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการแปรรูปตามหลักถนอมอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น และเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างงามอีกด้วย
พงศ์พัทธ์ วงศ์ยะลา-รายงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: