X

ประเพณีแข่งลูกหนู สืบสานวัฒนธรรมชาวรามัญ ที่ยังเหลืออยู่หนึ่งเดียวในประเทศไทย(มีคลิป)

ปทุมธานี ประเพณีแข่งลูกหนู สืบสานวัฒนธรรมชาวรามัญ ที่ยังเหลืออยู่หนึ่งเดียวในประเทศไทย

 

วันที่ 28 เม.ย.2562  ที่ลานอเนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ถนนปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว ต.บ้านฉาง อ.เมือง จ.ปทุมธานี นายผล ดำธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานพิธีเปิดงานสืบสานประเพณีจุด “ลูกหนู” หรือ “จรวดมอญ” ซึ่งจัดโดย อบจ.ปทุมธานี โดยมีนายชาญ พวงเพ็ชร์ และนายสาคร อำภิน รักษาการนายก อบจ.ปทุมธานี และหัวหน้าส่วนราชการ ให้การต้อนรับ

นายชาญ พวงเพ็ชร กล่าวเปิดเผยว่า งานประเพณีลูกหนูจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และปีนี้มีกิจกรรมประกอบด้วย ขบวนแห่ลูกหนูรอบเมือง การแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมาของประเพณีจุดลูกหนูปทุมธานี และชมมหกรรมการแข่งขันลูกหนู โดยชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากวัดวาอารามต่างๆ ทั่วจังหวัดปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียง ที่ศรัทธาเข้ามาให้การสนับสนุน จนปัจจุบันนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาล อบต. ซึ่งมีการจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุน เพื่อให้ประเพณีที่ดีงามเหล่านี้อยู่คู่กับท้องถิ่นตลอดไป โดยปีนี้มีคณะลูกหนูเข้าร่วม 12 คณะ 12 สาย นำลูกหนูมาเข้าร่วมแข่งขัน โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

 

พระอาจารย์สำราญ ถามวโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบางโพธิ์ใน กล่าวว่า ประเพณีการแข่งขันลูกหนู หรือภาษามอญจะเรียกว่า ฮะตะน๊อย แปลว่า หางหนู ถือว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวมอญ หรือชาวรามัญ ปกติจะเป็นการแข่งขันเฉพาะในงานศพพระมอญเท่านั้น เพราะคนมอญเน้นชนวนที่ใช้จุดไฟ และการที่กระบอกเพลิงที่ถูกจุดนั้นวิ่งเข้าหาปราสาทตั้งศพอย่างรวดเร็ว และส่งเสียงหวีดร้องแหลมเล็ก คล้ายกับหนูในท้องนา ชาวมอญจึงเรียกการจุดกระบอกเพลิงดังกล่าวว่า การจุดหางหนู ต่างจากมุมมองของคนไทย ที่เน้นกระบอกบรรจุดินเพลิงมากกว่า จึงเรียกว่า ลูกหนู เนื่องจากพระสงฆ์ คนมอญเคารพนับถือมาก เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ทรงศีลปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ การเผาศพต้องทำด้วยความเคารพ ไม่นิยมจุดดอกไม้จันทน์เผาศพพระสงฆ์ด้วยมือตนเอง ซึ่งถือว่าไม่เป็นการสมควร จึงใช้ลูกหนูจุดศพ และมีการสร้างปราสาทสำหรับเผาศพโดยเฉพาะ โดยจะเผาปราสาทไปพร้อมกับเผาศพด้วย เป็นประเพณีเฉพาะวัดที่มีพระสงฆ์มอญเท่านั้น ไม่มีการจำกัดชั้น วรรณะของพระสงฆ์แต่ประการใด ประเพณีนี้ยังคงรักษาสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้

การจัดทำลูกหนูนั้นก็เริ่มจากการตัดไม้เป็นท่อนๆ แล้วกว้านให้เป็นโพรงตามแนวยาว จากนั้นก็มีการผสมดินปืนอัดลงไปในโพรงให้แน่น ความยาวของตัวลูกหนูก็มีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็กๆจนกระทั่งขนาดใหญ่ ยาว 1-2 เมตรก็มี จากนั้น ก็จะอุดหัวท้ายด้วยดินเหนียวและเจาะรูตรงกลางเพื่อใช้ ติดสายชนวน แล้วก็นำไปติดไว้บนลวดสลิง เวลาจะจุดลูกหนูก็ใช้ไม้ยาวๆ ที่มีไฟปลายยอดไปจ่อที่สายชนวน จนนั้นลูกหนูก็จะวิ่งไปตามสาย ไปชนกับเขื่อนกั้นและพุ่งไปหาปราสาทที่สร้างไว้ โดยเมื่อลูกหนูพุ่งไปชนปราสาท ไม่ว่าจะเป็นเสาปราสาท ตัวปราสาท หรือแผ่นป้ายต่างๆ ที่เตรียมไว้ ก็จะได้รับเงินรางวัลตามที่กำหนด แต่รางวัลสูงสุดคือ การที่ลูกหนูวิ่งชนยอดปราสาท ถือว่าเป็นชัยชนะ

 

พระอาจารย์สำราญ กล่าวต่อว่า วิธีจุดลูกหนูเขาใช้คบเพลิงไปจุดสายชนวนตรงท้ายตัวของลูกหนู เมื่อไฟลามเข้าไปถึงดินปืนก็จะเกิดระเบิดขับดันตัวลูกหนูให้วิ่งไปข้างหน้าอย่างแรง พอสุดลวดสลิงจะพุ่งเข้าชนปราสาททันที แล้วกรรมการจะให้คะแนนไว้ ของใครชนที่สำคัญก็จะได้คะแนนมาก และได้รับรางวัล ส่วนลูกหนูวัดใดแพ้ไม่ได้รางวัล เจ้าภาพก็จะมอบเงินให้เป็นค่าพาหนะเลี้ยงดูกันพอสมควร ไม่ต้องกลับมือเปล่า ในขณะที่ลูกหนูวิ่งเข้าชนปราสาทกองเชียร์ของแต่ละคณะจะเชียร์กันดังกระหึ่ม จะร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน

ในสมัยก่อนนั้นประเพณีการจุดลูกหนู หรือการแข่งลูกหนู มีอยู่ในหลายๆจังหวัดแถบภาคกลาง เช่น ปทุมธานี  นนทบุรี  ลพบุรี และอีกหลายๆที  แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญเติบโตขึ้น พื้นที่ที่จะใช้ในการดำเนินการจัดงานก็หาลำบาก หลายๆจังหวัดจึงหดหายไปเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันนี้ เหลือเพียงที่จังหวัดปทุมธานี จังหวัดเดียวเท่านั้นที่ยังมีการสืบสานประเพณีจุดลูกหนูเอาไว้ได้อย่างเหนี่ยวแน่น

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี คลุกคลีในวงการสื่อสารมวลชนมานาน โดยเริ่มงานครั้งแรกในราวปีพศ.2540 โดยเข้าร่วมงานกับ นสพ.อาชญากรรม รายสัปดาห์ จากนั้นก็ทำงานเป็น ขทร.ไทยรัฐ นสพ.บ้านเมือง ก่อนจะไปยัง นสพ.คมชัดลึก และเครือเนชั่นกรุ๊ป รายงานข่าว ความเดือดร้อน ระวังภัย และข่าวพัฒนาในชุมชนในท้องถิ่นทางเนชั่นทีวี วันนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นปากเสียง และนำเสนอการพัฒนาเมืองปทุมธานี