X

จังหวัดปทุมธานี

……….ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า    พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี

ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี     ชื่อประทุมธานี…เพราะมีบัว

ราวปีพุทธศักราช 2202  ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เกิดสงครามสู้รบกันระหว่างพม่าและมอญ ชาวมอญมีน้อยกว่าไม่สามารถต้านทานกำลังทหารของพม่าได้ “มังนันทมิตร”จึงได้กวาดต้อนครอบครัวชาวมอญจากเมืองเมาะตะมะ อพยพหลบหนีภัยสงครามเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเจ้าอยู่แห่งกรุงศรีอยุธยา ในครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงโปรดเกล้าให้ครอบครัวชาวมอญเหล่านั้นออกไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่บ้านสามโคก ที่อยู่ด้านทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยา

ล่วงมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ชาวมอญได้อพยพหนีพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร อีกเป็นครั้งที่ 2 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญเหล่านั้น ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคก ปากเกร็ด พระประแดง  และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้มีการอพยพชาวมอญครั้งใหญ่จากเมืองเมาะตะมะเข้าสู่ประเทศไทยเรียกว่า “มอญใหญ่” พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญบางส่วนตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคกอีกเช่นเดียวกัน จากชุมชนขนาดเล็ก บ้านสามโคกจึงกลายเป็น เมืองสามโคก ในเวลาต่อมา

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2358 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองสามโคก เป็น เมืองประทุมธานี และเมื่อ พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำว่า “จังหวัด” แทน “เมือง” และให้เปลี่ยนการสะกดชื่อใหม่จาก “ประทุมธานี” เป็น “ปทุมธานี” กลายเป็น จังหวัดปทุมธานี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2475 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ยุบจังหวัดธัญบุรีมาขึ้นกับจังหวัดปทุมธานี  ทำให้จังหวัดปทุมธานี มีเขตการปกครองเป็น 7 อำเภอดังเช่นปัจจุบัน คือ อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง  อำเภอหนองเสือ อำเภอลำลูกกา อำเภอสามโคก และ อำเภอลาดหลุมแก้ว

คำขวัญประจำจังหวัด – ถิ่นบัวหลวง เมืองรวงข้าว เชื้อชาวมอญ นครธรรมะ พระตำหนักรวมใจ สดใสเจ้าพระยา ก้าวหน้าอุตสาหกรรม

จังหวัดปทุมธานีเป็นพื้นที่เกษตรกรรมสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ โดยมีพื้นที่การเกษตร 506,678 ไร่ หรือร้อยละ 53.03 ของพื้นที่จังหวัด (สำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2546) ในปัจจุบัน นอกจากการเกษตรแล้ว

ยังเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีนิคมอุตสาหกรรมกระจายอยู่ทั้งจังหวัด โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมเกือบร้อยละ 70 ของจังหวัดมาจากภาคอุตสาหกรรม (สำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2543)

พื้นที่การเกษตรมีอยู่ในทุกอำเภอ และมีมากที่สุดในเขตอำเภอหนองเสือ อำเภอลำลูกกา อำเภอลาดหลุมแก้ว และอำเภอคลองหลวงตาม โดยพื้นที่ของจังหวัดจะมีการทำการเกษตร ส่วนใหญ่เป็นที่นา สวนผลไม้นานาชนิด

จังหวัดปทุมธานีมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2543 ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อคน 2,064,288 บาท/ปี นับว่าสูงเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศ รองจากจังหวัดระยอง ชลบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร และภูเก็ต มีผลิตภัณฑ์มวลรวมมูลค่า 118,489 ล้านบาท รายได้สูงสุดขึ้นอยู่กับภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ 69.32 คิดเป็นมูลค่า 82,136 ล้านบาท รองลงมา คือ ภาคบริการ ร้อยละ 7.688 คิดเป็นมูลค่า 9,102 ล้านบาท และสาขาการค้าส่งและค้าปลีก ร้อยละ 5.12 คิดเป็นมูลค่า 6,071 ล้านบาท โดยพื้นที่เขตอำเภอคลองหลวงมีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่นมากที่สุด รองลงมาคืออำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว และ อำเภอสามโคก ส่วนพื้นที่ที่มีโรงงานน้อยที่สุดได้แก่ อำเภอหนองเสือ

นอกจากนี้ ปทุมธานี ยังเป็นเมืองแห่งการศึกษา โดยในปัจจุบันมีสถานศึกษาขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ศูนย์รังสิต) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยวไลอลงกรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นต้น

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี คลุกคลีในวงการสื่อสารมวลชนมานาน โดยเริ่มงานครั้งแรกในราวปีพศ.2540 โดยเข้าร่วมงานกับ นสพ.อาชญากรรม รายสัปดาห์ จากนั้นก็ทำงานเป็น ขทร.ไทยรัฐ นสพ.บ้านเมือง ก่อนจะไปยัง นสพ.คมชัดลึก และเครือเนชั่นกรุ๊ป รายงานข่าว ความเดือดร้อน ระวังภัย และข่าวพัฒนาในชุมชนในท้องถิ่นทางเนชั่นทีวี วันนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นปากเสียง และนำเสนอการพัฒนาเมืองปทุมธานี