X

หลุมหลบภัย !! ที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม พาครอบครัวมาหลบภัย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ปทุมธานี หลุมหลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป.พิบูลสงคราม พาครอบครัวมาหลบภัย

ในปีพุทธศักราช 2482 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในยุโรปเมื่ออังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามเยอรมัน และญี่ปุ่นก็ประกาศเข้าร่วมกับเยอรมัน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พุทธศักราช 2484  จากนั้นวันที่ 8 ธันวาคม ปีเดียวกัน ญี่ปุ่นนำกองทัพเข้าเมืองไทยทางสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสมุทรปราการ

ครั้งแรกไทยได้ทำกติกาสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2484 ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานที่มั่น เพื่อเป็นทางผ่านสำหรับการขยายอำนาจไปยังพม่าและอินเดียที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

สงครามที่เกิดขึ้นในเอเชียนี้เรียกกันว่า สงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อไทยเห็นว่าญี่ปุ่นมีชัยชนะและคาดว่าจะชนะสงคราม จึงได้ประกาศสงครามต่อฝ่ายพันธมิตรเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2485 ส่งผลให้กรุงเทพฯ เป็นเป้าหมายการโจมตีถูกทิ้งระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญต่างๆ ของกองทัพญี่ปุ่น ทำให้ช่วงเวลานั้นรัฐบาลได้ออกคู่มือการป้องกันภัยทางอากาศให้กับประชาชน การเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน และได้สร้างหลุมหลบภัยสาธารณะตามสถานที่ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อใช้หลบระเบิดในครั้งนั้น ซึ่งในปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีหลุมหลบภัยหลงเหลืออยู่เพียง 2 แห่งคือ สวนสัตว์เขาดิน เอเชียทีค และ อีกแห่งคือที่จังหวัดปทุมธานี

บริเวณหลุมหลยภัยจะทีศาลาสำหรับหลบร้อน หลุมหลบภัยขนาดไม่หนัก รูปปั้นทหารในท่าทางต่างๆ ถูกจัดวางไว้ตามมุมเพื่อความสมจริง ทางเดินระหว่างศาลาที่ใช้พักหลบร้อนไปยังหลุมหลบภัยราดด้วยคอนกรีต มีบ่อน้ำเล็กๆ ตื้นเขินคั่นระหว่างหลุมหลบภัยและศาลา ภายในศาลามีนิทรรศการเล็กๆ บอกเล่าประวัติความเป็นมาของหลุมหลบภัยแห่งนี้ ว่า

 

“จากคำบอกเล่าของนายประสิทธิ์ ปานย้อย อดีตกำนันตำบลบ้านใหม่ พ.ต.ท.จำนง ดำนิล และ ส.อ.เชิด บุญเอื้อ ซึ่งเป็นบุคลที่อยู่ในช่วงเวลานั้น ได้ให้ข้อมูลว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้างบ้านพักไว้ 2 หลัง และหลุมหลบภัย 1 แห่ง โดยขนวัสดุก่อสร้างมาทางน้ำ ใช้กำลังทหารในการก่อสร้าง…”

ลักษณะของหลุมหลบภัยมีลักษณะแบบไข่ผ่าซีก (รูปนูนหลังเต่า) ทำด้วยก่ออิฐถือปูน มีประตูทางเข้า-ออก 2 ทาง ด้านทิศเหนือและทิศใต้ ด้านในหลุมหลบภัยเป็นห้องโล่ง จุคนได้ 15-20 คน จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะมาพักที่บ้านพักหลังจากมีสัญญาณเตือนภัยว่าจะมีการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร

ปัจจุบันบ้านพักไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว คงเหลือแต่หลุมหลบภัยที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

สภาพปัจจุบันของหลุมหลบภัย โครงสร้างภายนอกเป็นรูปไข่ผ่าครึ่งซีก (รูปนูนหลังเต่า) ก่ออิฐถือปูน หน้าทางเข้า-ออก มีแท่นปูนรูปสามเหลี่ยมคางหมูขนาดใหญ่ตั้งขวางไว้ระยะห่างไม่เกิน 1 เมตรจากปากทางเข้า-ออก ภายในหลุมหลบภัยปูนผุกร่อนจนเห็นโครงสร้างเหล็กภายใน พื้นที่ไม่กว้างขวางนัก

ไม่น่าเชื่อว่าพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้จะสามารถจุคนได้ 15-20 คน อากาศข้างในหลุมหลบภัยค่อนข้างเย็น และน้ำท่วมขังภายในหลุมหลบภัย (คาดว่าท่วมขังอยู่ตลอดเวลา) สถานที่แห่งนี้ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี พื้นที่โดยรอบสะอาดเรียบร้อน

เมื่อ พ.ศ.2547 องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านใหม่ ได้บูรณะซ่อมแซมหลุมหลบภัยและปรับปรุงบริเวณพื้นที่โดยรอบ

 

จากนั้น ในปี พศ.2560 กลุ่มบริษัท พรีไซซ และสมาคมพนักงาน กลุ่มบริษัท พรีไซซ ร่วมกับเทศบาลตำบลบ้านใหม่ ได้เข้ามาปรับปรุงและบำรุงรักษาพื้นที่โดยรอบอีกครั้ง เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และให้เยาวชนหรือคนที่สนใจได้เข้ามาศึกษาหาความรู้และพบเห็นสถานที่จริงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหลบภัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

ขอขอบคุณ ลุงสม เกตุแก้ว และ ลุงเลิศ กะไหล่ทอง ผู้นำพาชม

ไตรเทพ ไกรงู..รายงาน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี คลุกคลีในวงการสื่อสารมวลชนมานาน โดยเริ่มงานครั้งแรกในราวปีพศ.2540 โดยเข้าร่วมงานกับ นสพ.อาชญากรรม รายสัปดาห์ จากนั้นก็ทำงานเป็น ขทร.ไทยรัฐ นสพ.บ้านเมือง ก่อนจะไปยัง นสพ.คมชัดลึก และเครือเนชั่นกรุ๊ป รายงานข่าว ความเดือดร้อน ระวังภัย และข่าวพัฒนาในชุมชนในท้องถิ่นทางเนชั่นทีวี วันนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นปากเสียง และนำเสนอการพัฒนาเมืองปทุมธานี