ปทุมธานี ตักบาตรพระร้อยทางเรือวัดชินวราราม ประเพณีเก่าแก่ริมฝั่งเจ้าพระยา
เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 21 ต.ค.2562 ที่วัดชินวรารามวรวิหาร (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี นายผล ดำธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยนางวันทนา ดำธรรม รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดปทุมธานี นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี นายเอกบดินทร์ จำเนียรกาล ขนส่งจังหวัดปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการและประชาชนร่วมประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของวัดที่อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งแม่น้ำ
ข่าวน่าสนใจ:
- พรรคประชาชนเปิดตัว นายแพทย์จิรชาติ เรื่องวัชรินทร์ หรือ หมอมุดสัง ชิง นายก อบจ.สุราษฎร์ ฯ สมัครจันทร์นี้
- ระทึก เพลิงไหม้บ้าน 2 ชั้นวอดทั้งหลัง น้องแมว 7 ชีวิต รอดตายหวุดหวิด โดย 3 ตัวโดนไฟลวกบาดเจ็บ
- ชายวัย 50 ปี เปลี่ยนถังแก๊สเอง จุดเตาทำกับข้าวไฟพรึ่บคลอกเจ็บหนัก
- นนทบุรี กระบะเลี้ยวตัดหน้า จยย.พุ่งชน ร่างหนุ่มชาวลาวลอยก่อนตกกระแทกพื้นดับ
การตักบาตรพระร้อย เป็นประเพณีตักบาตรทางน้ำในช่วงเทศกาลออกพรรษา ที่ชาวปทุมธานี โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายมอญ ปฏิบัติกันมานานนับร้อยปี เพราะจังหวัดปทุมธานีมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ทำให้เกิดลำคลองหลายสายขึ้น เพื่อใช้เป็นเส้นทางการคมนาคม ใช้ในการชลประทาน ใช้ในการอุปโภคบริโภค อีกทั้งบ้านเรือนประชาชนแต่เดิมจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในช่วงออกพรรษาเป็นช่วงน้ำหลาก บรรยากาศชุ่มชื่นการสัญจรไปมาทางเรือสะดวก ดังนั้น การตักบาตรพระสงฆ์จึงใช้เรือในการบิณฑบาตบริเวณท่าน้ำหน้าบ้านประชาชน
ย้อนถึงประวัติความเป็นมา และพิธีปฏิบัติในประเพณีเก่าแก่นี้ หากวัดใดที่จะจัดพิธีตักบาตรพระร้อยต้องแจ้งกำหนดวันเสียก่อน ซึ่งประเพณีจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ ไปจนถึงวันแรม 13 ค่ำ เดือน 11 วนเวียนกันไปในแต่ละวัด ถึงวันงานทางวัดจะนิมนต์พระเพื่อร่วมพิธีแต่เช้ามืด จากนั้นจึงจัดลำดับโดยการแจกหมายเลขก่อนหลัง เสร็จแล้ววัดเจ้าภาพจึงถวายภัตตาหารเช้าแก่พระที่ร่วมพิธี การตักบาตรพระร้อยจะเริ่มประมาณสองโมงเช้า นำโดยเรือพระพุทธวัดเจ้าภาพซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้เรือกระแชง ภายในเรือจะตั้งพระพุทธรูป โต๊ะหมู่บูชา ดอกไม้ธูปเทียน จากนั้นจึงเป็นเรือพระสงฆ์เรียงตามลำดับหมายเลขที่ได้รับ
เอกลักษณ์ของประเพณีคือการทำบุญตักบาตรจะประกอบขึ้นในเรือ ชาวบ้านจอดเรือจับเข้ากันเป็นพวง จัดเตรียมอาหารมาใส่บาตรพ่อพายท้าย แม่พายหัว ลูกนั่งกลางลำเรือ ส่วนพระภิกษุสงฆ์ลงเรือนั่งเป็นประธาน มีศิษย์วัดนั่งหัวเรือ ท้ายเรือคอยสาวเรือไปตามพวงหรือรับอาหารบิณฑบาต แม้วิธีปฏิบัติจะแปรเปลี่ยนไปบ้างตามยุคสมัย แต่ภาพความศรัทธาสามัคคียังคงดำรงสะท้อนออกมาจากผู้คนนับร้อย ผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาว ยืนเรียงเป็นทิวแถว ขบวนเรือประดับแม่น้ำอย่างมีชีวิต อีกทั้งอาหารคาวหวาน หมี่กรอบ ผัดเผ็ด ผลไม้ ส้ม องุ่น กล้วยหอม ขนมถ้วยฟู ข้าวต้มหมัด ข้าวเม่าทอด ขนมตาล ขนมสอดไส้ แต่ละบ้านจัดเตรียมแยกไว้เป็นอย่างๆ เพื่อทำบุญตักบาตรในรุ่งเช้า หลังตักบาตรเสร็จแล้ว กลางวันปิดทองพระประธานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีการละเล่นรำพาข้าวสารและทอดผ้าป่า
การตักบาตรพระร้อยในปัจจุบันส่วนใหญ่จะพบเห็นในลักษณะที่ “พระสงฆ์รับบาตรอยู่ในเรือ ส่วนชาวบ้านนั่งรออยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง หรือบนแพ บนโป๊ะ” เป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยที่รอตักบาตรอยู่ในเรือ ประชาชนที่มาตักบาตรพระร้อยมีทั้งคนในพื้นที่ละแวกวัด คนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีที่ทราบกำหนดวันตักบาตร และคนจากจังหวัดใกล้เคียงที่ต้องการสัมผัส และมีส่วนร่วมในประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ ที่พบเห็นได้น้อยเต็มทีแล้ว และส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางคมนาคมทางบกขนสำรับคาวหวานมาเตรียมใส่บาตรที่ริมแม่น้ำ ไม่ได้ขนลงเรือมาเหมือนในสมัยก่อนเพราะหลายๆ บ้านไม่มีเรือใช้แล้ว อีกทั้งปัจจุบันมีการสร้างประตูน้ำกั้นปากคลองที่จะออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จึงไม่สะดวกต่อการนำเรือออกมา
“ประเพณีตักบาตรพระร้อย ชาวบ้านมาด้วยใจที่เปี่ยมศรัทธา ถึงช่วงวันออกพรรษาประจำปี ต่างเตรียมข้าวของ ทั้งอาหารคาวหวาน อาหารแห้ง พืชผักผลไม้ พระจำนวนกว่าร้อยรูปนั่งบนลำเรือล่องเลาะริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ให้ชาวบ้านได้ทำบุญใส่บาตรอย่างอิ่มอุ่น ริมน้ำเจ้าพระยาจึงเนื่องแน่นด้วยผู้คนซึ่งร่วมกันสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมที่ยึดถือปฏิบัติกันมานับร้อยปีให้ดำรงอยู่ต่อไป”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: