X

เจ้าพระยา..สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์

ปทุมธานี เจ้าพระยา..สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์

ด้วยวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยที่ผูกพันกับสายน้ำมายาวนาน “เจ้าพระยา” แม่น้ำสายหลักเส้นนี้ช่วยหล่อเลี้ยงผู้คนทั้งการอุปโภค-บริโภค เพื่อการเกษตรกรรม รวมทั้งยังเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ การผสานความร่วมมือร่วมใจกันดูแลรักษาสายน้ำ ตลอดจนภูมิทัศน์งดงามที่รายรอบให้คงเป็นมรดกล้ำค่าของประเทศไทย นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในคุณค่าความสำคัญของพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา
ภูมิทัศน์วัฒนธรรมแม่น้ำเจ้าพระยามีความเด่นชัดในสองมิติ คือ ภูมิทัศน์วัฒน ธรรมแบบพื้นถิ่นและภูมิทัศน์วัฒนธรรมแบบประวัติศาสตร์ ซึ่งมีเสน่ห์กันไปคนละแบบ อย่างภูมิทัศน์วัฒนธรรมแบบพื้นถิ่นเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตชุมชน วิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับแม่น้ำ การที่จะดำเนินการในเรื่องภูมิทัศน์วัฒนธรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและประโยชน์สูงสุดควรต้องมองให้ครบทุกมิติเป็นองค์รวม รอบด้าน ทั้งในเรื่องโบราณสถาน ชุมชน วิถีชีวิตริมน้ำ ฯลฯ ต้องมองในเรื่องเดียวกันเพื่อเข้าใจความลึกซึ้งของแม่น้ำเจ้าพระยา

จังหวัดปทุมธานี เมืองหน้าด่านแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย อาหารการกิน ธรรมชาติและสายน้ำแห่งวัฒนธรรม ชุมชนริมน้ำ วิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวไทยเชื้อสายมอญที่น่าสนใจ ปทุมธานี เดิมชื่อ “เมืองสามโคก” เป็นเมืองที่ตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อปี พ.ศ. 2358 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองสามโคก ได้มีพสกนิกรจำนวนมากสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ นำดอกบัวหลวงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเมืองใหม่เพื่อให้เป็นสิริมงคลว่า “ประทุมธานี” และต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนการสะกดนามจังหวัดเป็น “ปทุมธานี” “ถิ่นบัวหลวง เมืองรวงข้าว เชื้อชาวมอญ นครธรรมะ พระตำหนักรวมใจ สดใสเจ้าพระยา ก้าวหน้าอุตสาหกรรม” นี่คือคำขวัญจังหวัดปทุมธานี จึงนับว่าปทุมธานี เป็นรากเหง้าแห่งแผ่นดินโบราณริมแม่น้ำ

จังหวัดปทุมธานีอยู่ห่างจากกรุงเทพฯไปทางทิศเหนือประมาณ 46 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 1,565.856 ตารางกิโลเมตร เเบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองปทุมธานี สามโคก ลาดหลุมเเก้ว ธัญบุรี หนองเสือ คลองหลวง และ ลำลูกกา  แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจังหวัดปทุมธานี โดยเริ่มจากท้ายเกาะใหญ่ซึ่งอยู่ในเขตติดต่อของอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วไหลไปสุดเขตจังหวัดปทุมธานีตอนใต้ในตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ณ บริเวณที่เรียกว่า คุ้งน้ำวัดกิ่งทอง

ดร.พินิจ บุญเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า จังหวัดปทุมธานี เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีสายน้ำสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ อยู่มากมาย แม่น้ำเจ้าพระยา (Meanam) มีความงดงามสมกับฉายา “Mother of Waters” และมีความลึกขนาดที่เรือกลไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดยังสามารถแล่นเลียบริมฝั่งแม่น้ำไปได้โดยปราศจากอันตราย ใกล้จนสามารถได้ยินเสียงนกที่เกาะอยู่บนกิ่งไม้ส่งเสียงร้องอย่างร่าเริง ทัศนียภาพโดยทั่วๆไปดูงดงามราวกับภาพวาด ตลอดสองฝั่งแม่น้ำมีบ้านเรือนตั้งอยู่เป็นจุดๆ ไกลออกไปแลเห็นหมู่บ้านปลูกเรียงรายอยู่เป็นหย่อมๆ สร้างความหลากหลายแก่ทัศนียภาพเป็นอย่างยิ่ง


พัฒนาการทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมก็คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิศาสตร์ของดินดอนสามเหลี่ยมเจ้าพระยาจากเดลต้าเก่าสู่เดลต้าใหม่ ที่ควบคู่ไปกับการเข้ามาตั้งหลักแหล่งของกลุ่มชนที่หลากหลายทางชาติพันธุ์จากภายนอก ทำให้เกิดสังคมลุ่มแม่น้ำขึ้น ลักษณะสำคัญของ “สังคมลุ่มแม่น้ำ” ก็คือ การเป็นทั้งสังคมเกษตรกรรม ทำสวนทำนา และทำการค้าขายกับภายนอกทางทะเล โดยมีแม่น้ำลำคลองเป็นเส้นชีวิต คือเป็นทั้งเส้นทางคมนาคมทั้งกับภายนอกและภายใน ซึ่งแหล่งน้ำเพื่อการกินอยู่และการเกษตรกับการเป็นแหล่งของการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยเป็นบ้านเป็นเมืองและเป็นรัฐในขณะที่ผลของการขุดคลองลัดแม่น้ำอ้อมที่เชียงราก ที่เรียกว่า คลองลัดเกร็ดใหญ่ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้น ต่อมาในรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดฯ ให้พวกมอญอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารไปตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยได้เกิดเป็น เมืองสามโคก ขึ้นมา แล้วมาเปลี่ยนเป็น เมืองปทุมธานี ในรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


นับตั้งแต่การเกิดเมืองปทุมธานี ขึ้นตรงรอยต่อของบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เกิดมีการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองกันริมสองฝั่งน้ำเจ้าพระยาขึ้น และแม่น้ำนี้ก็กลายมาเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญที่ทำให้ปทุมธานีเป็นทั้งเมืองท่าและเป็นชุมทางของเส้นทางคมนาคมทางน้ำ นับว่าเป็น เมืองสายน้ำเมืองหน้าด่านที่สำคัญก่อนจะเข้ากรุงรัตนโกสินทร์ บ้านเรือนผู้คนก็จะขยายตัวตามลำคลองนี้ออกไปสู่บริเวณท้องทุ่ง บริเวณใดที่เป็นเมืองก็มักจะมีคลองขุดแยกออกจากแม่น้ำออกไปทั้งสองฝั่ง ตรงใดที่เป็นปากคลองก็มักพบวัดสำคัญและย่านตลาดต่างๆพอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 การเติบโตของบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำก็ถึงขีดสุด เพราะมีการขุดคลองกันอย่างมากมายในท้องทุ่งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่คลองส่วนใหญ่ที่ขุดนั้นไม่ได้มุ่งหวังเพื่อการคมนาคมอย่างแต่ก่อนเพียงอย่างเดียว หากมุ่งเพื่อขยายพื้นที่การเกษตรในการปลูกข้าว ซึ่งเป็นสินค้าที่สำคัญของประเทศตามที่กล่าวมาแล้วก็คือ การเสนอให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมและลักษณะทางภูมิศาสตร์ของชุมชนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่สัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองของมนุษย์ ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำในช่วงเวลาต่างๆ


จังหวัดปทุมธานียังเป็นโมเดลต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำ เราสามารถจัดการน้ำเสียได้อย่างยั่งยืนในคลองเปรมประชากรและคลองรังสิตประยูรศักดิ์ การมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ช่วยกัน รักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้น้ำในคลองเปรมประชากรและคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ดีขึ้น เราปล่อยปลานานาพันธ์หลายชนิด ลงไปในคลอง ทำให้สายน้ำสำคัญสองสายนี้กลับมาสดใสมีชีวิตอีกครั้ง
และเมื่อวันจักรี 6 เมษายน 2562 จังหวัดปทุมธานีจัดทำพิธีตักน้ำอภิเษก น้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพิธี พระบรมราชาภิเษก 6 พฤษภาคม 2562 ได้ตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ บริเวณกลางแม่น้ำเจ้าพระยา (ความกว้างแม่น้ำ 240 เมตร) หน้าวัดศาลเจ้า ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองปทุมธานี ระยะห่างจากฝั่ง 120 เมตร ฝั่งตรงข้ามคือตำบลบางปรอก อำเภอเมืองปทุมธานี ตักน้ำด้วยขันสาคร 14 ครั้ง ลงคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ นำขบวนเรือ 10 ลำ ขึ้นเหนือถึงหน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานีหลังเก่า (2460) สร้างระหว่างสมัย รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 แล้วล่องใต้ ทำพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่วัดชินวรารามวรวิหาร (ความกว้างแม่น้ำ 260 เมตร)

เจ้าอาวาส วัดศาลเจ้าเล่าให้ฟังว่า พระที่วัดชินวรารามวรวิหาร อายุราว 80 พรรษา จำได้ว่าตอนบวชใหม่ๆ ครั้งพิธี พระบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 จังหวัดปทุมธานีสมัยนั้นก็ตักน้ำอภิเษก น้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดศาลเจ้า กลางแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วล่องเรือทำพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่วัดชินวรารามวรวิหาร ด้วยดังเดิม นับเป็นความศักดิ์สิทธิ์และปิติยินดีหาที่สุดมิได้ ที่ปทุมธานีชาวแม่น้ำเจ้าพระยาได้ถวายงานมาตั้งแต่พระนครศรีอยุธยาถึงกรุงเทพมหานคร ราชอาณาจักรไทยของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ด้วยวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี “ปทุมธานี สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์”


เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป วิถีชีวิตของชาวริมน้ำก็ปรับเปลี่ยนไป การใช้เส้นทางน้ำลดความสำคัญลง ในขณะที่ร่องรอยและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ยังคงมีความน่าสนใจ ที่จะให้คนรุ่นหลังได้สืบค้น หรือศึกษาข้อมูล ผ่านเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำ จึงเป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมวิถีชีวิตไทย-มอญ การจัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ในรูปแบบการท่องเที่ยวทางน้ำ จะใช้ศักยภาพของวัดและชุมชนริมแม่น้ำเป็นจุดขาย โดยมีพื้นที่หลัก ที่จะตั้งให้เป็นจุดแวะพักชมอย่างมากมาย และมีกิจกรรมที่ชาวบ้าน วัด และชุมชน จะได้ร่วมกันเป็นเจ้าบ้านที่ดีต้อนรับนักท่องเที่ยว ให้จังหวัดปทุมธานี กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ยั่งยืนสืบไป

พงศ์พัทธ์ วงศ์ยะลา..รายงาน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี

พนอ ชมภูศรี คลุกคลีในวงการสื่อสารมวลชนมานาน โดยเริ่มงานครั้งแรกในราวปีพศ.2540 โดยเข้าร่วมงานกับ นสพ.อาชญากรรม รายสัปดาห์ จากนั้นก็ทำงานเป็น ขทร.ไทยรัฐ นสพ.บ้านเมือง ก่อนจะไปยัง นสพ.คมชัดลึก และเครือเนชั่นกรุ๊ป รายงานข่าว ความเดือดร้อน ระวังภัย และข่าวพัฒนาในชุมชนในท้องถิ่นทางเนชั่นทีวี วันนี้พร้อมแล้วที่จะเป็นปากเสียง และนำเสนอการพัฒนาเมืองปทุมธานี