แจงยิบ เป็นไปตามประเพณีรัฐฉานตามน้ำหลังรับเกียรติอันสูงส่งเป็นครั้งแรกที่พระไทยรับสมณศักดิ์ชั้น “พระราชครู” เทียบเท่ารองพระสังฆราช ถวายชฎาเป็นสมบัติสงฆ์แล้ว ส่วน‘แหวนอินฟินิตี้’ เป็นเรื่องของคณะกรรมการวัดและญาติโยมที่ต้องการนำรายได้ไปทำสาธารณะประโยชน์เวลา 14.00 น. วันนี้ ณ วัดแสงแก้วโพธิญาณ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย พระภาวนารัตนญาณ (วิ) หรือ ‘ครูบาอริยชาติ อริยะจิตโต’ เจ้าอาวาสวัดแสงแก้วโพธิญาณ กล่าวถึงกรณีที่ พระรัตนมุนี รักษาการเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย มีบัญชาให้เจ้าคณะอำเภอแม่สรวย สอบข้อเท็จจริงกรณีที่สวมชฎาทองคำ รับถวายสังฆาฏิทองคำ และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในโลกโซเชียล นั้น ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีที่พระชั้นผู้ใหญ่ได้เปิดโอกาสให้ได้ชี้แจงถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่สังคม และคณะศรัทธา เรื่องดังกล่าว เกิดขึ้นมาตั้งแต่ วันที่ 19 ก.พ. 2562 จากการที่ได้เข้าพิธีมหาเถรามุระคันธาภิเษก ยกยอสมณะศักดิ์เป็น “พระราชครู” ณ เมืองยอง รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีพระสงฆ์จากประเทศไทยได้รับ ภายหลังจากที่ได้ไปเป็นเจ้าภาพ ทำการสร้างฉัตรทองคำน้ำหนักรวม 7 กิโลกรัม ขึ้นประดิษฐาน บนยอดพระธาตุจอมยอง ซึ่งแต่ก่อนเป็นฉัตรเงินและชำรุดทรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และยังได้ถวายปัจจัยทำถนนขึ้นสู่พระธาตุจอมยอง ที่รัฐฉาน มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท จนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เคารพนับถือซึ่งกันและกัน ต่อมาได้รับการประสานงานจากคณะสงฆ์ของเมืองยอง เพื่อเข้าพิธี มหาเถรามุรคันธาภิเศก ยกยอสมณะศักดิ์เป็น “พระราชครู” ของเมืองยอง เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ได้รับเกียรติอันสูงส่งเช่นนี้ เป็นพระสงฆ์รูปแรกของประเทศไทยที่ได้รับสมณะศักดิ์ในชั้นสูงนี้ เนื่องจากคณะสงฆ์ เจ้าหน้าที่บ้านเมือง คณะกรรมการเมือง กรมศาสนาของเมืองยอง และศรัทธาของประชาชน เมืองยอง รัฐฉาน ได้เห็นพ้องต้องกันที่จะถวายสมณะศักดิ์ พร้อมด้วย ชฎาทองคำ สังฆาฏิทองคำซึ่งสมณะศักดิ์ “พระราชครู” ดังกล่าว เทียบเท่าตำแหน่งรองสังฆราชของเมืองยอง นับเป็นของสูงที่พวกเขาเชื่อว่าผู้ที่ได้รับจะนำไปก่อประโยชน์ให้สูงสุด และเมื่อหลังจากเข้าพิธีดังกล่าวแล้ว ก็ได้ทำการมอบ ชฎาทองคำ และสังฆาฏิทองคำ ให้เป็นสมบัติของสงฆ์ เป็นทรัพย์สินของวัดแสงแก้วโพธิญาณ ไม่ได้ยึดเป็นของตนเอง มีความตั้งใจที่จะนำสิ่งของทั้ง 2 อย่างที่ได้รับมาจัดวางแสดงไว้ยังพิพิธภัณฑ์ของวัดแสงแก้วโพธิญาณ ที่กำลังดำเนินการจัดสร้างขึ้น ให้สาธุชนคณะศรัทธา และนักท่องเที่ยวได้ศึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อรับทราบถึงประเพณี วัฒนธรรม ของชาวเมืองยอง ที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกับประเพณีวัฒนธรรม ของคนล้านนาไทย ซึ่งแต่ก่อนชาวล้านนาก็มีประเพณีในลักษณะนี้ แต่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันยังพบว่า ชาวเมืองยอง ยังนิยมใช้สินค้าไทย มีสำเนียงภาษาใกล้เคียงกับชาวล้านนา มีประเพณีบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน รวมทั้งอาหารการกินก็มีลักษณะใกล้เคียงกับบ้านเราเช่นกัน และที่สำคัญที่สุดชาวเมืองยอง ยังมีความเคารพศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย อีกด้วยกรณีที่มีการวิจารณ์ในโลกโซเชียล ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นอาบัติ ก็ยอมรับว่าเป็นจริง แต่เป็นอาบัติเบา เป็นนิสะยะปาจิตตีย์ ซึ่งก็ได้ดำเนินการปลงอาบัติ ตามพระวินัยสงฆ์ทันทีที่เดินทางกลับมายังวัด และเรื่องที่เกิดขึ้นก็เป็นประเพณีชาวพุทธที่อยู่ในต่างประเทศ เป็นไปตามวัฒนธรรมของบ้านเมืองเขา มีมาตั้งแต่สมัยล้านนา แต่ได้เลือนหายไปตามที่กล่าว ส่วนที่เมืองยอง ยังรักษาประเพณีอย่างนี้ไว้ เมื่อไปถึงก็ได้เข้าพิธีตามที่เขากำหนดโดยไม่ได้ยึดติดแต่อย่างใด ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้กับคณะกรรมการสงฆ์ และพระเดชพระคุณพระรัตนมุรี รักษาการณ์เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ให้ได้รับทราบความจริงแล้ว
ในส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าทางวัด มีการทำวัตถุมงคลเป็น ‘แหวนอินฟินิตี้’ ก็เป็นเรื่องของกรรมการและญาติโยม ที่ต้องการนำรายได้ไปทำเรื่องการกุศลต่างๆ ไม่ได้นำปัจจัยที่ได้ไปใช้เป็นการส่วนตัวแต่อย่างใดทั้งสิ้น บัญชีธนาคารส่วนตัวไม่มี ที่มีก็เป็นบัญชีของวัด ไมมีไวยาวัจกร และมีคณะกรรมการเบิกจ่าย ทุกขั้นตอน ส่วนตัวมีเพียงผ้าไตรจีวร และเครื่องอัฐบริขารตามพระวินัยสงฆ์ที่พระพุทธองค์ทรงพระบรมราชานุญาตให้มีไว้ใช้เท่านั้น หากวันนี้เดินออกไปจากวัดแห่งนี้ก็ไม่ได้ยึดติดอะไรทั้งสิ้น พร้อมทั้งได้ทำการชี้แจงเรื่องทั้งหมด ให้แก่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า สำหรับตำแหน่ง ‘พระราชครู’ เมืองยอง รัฐฉาน ของประเทศเมียนมา เป็นตำแหน่งที่สูงยิ่ง รองจากตำแหน่ง ‘สมเด็จพระอาชญาธรรม’ ซึ่งเป็นสมณะศักดิ์เทียบเท่า ‘สมเด็จพระสังฆราช’ ของเมืองยอง เลยทีเดียว โดยสมณะศักดิ์ชั้นต่างๆ คณะสงฆ์ของเมืองยอง มีเรียงลำดับ ดังนี้ ในชั้นต้นจะเป็น พระภิกษุ,พระสวาติ,พระสวามี,พระครูบา,พระราชครู จนถึง สมเด็จพระอาชญาธรรม หรือ สมเด็จพระสังฆราช หากสมเด็จพระอาชญาธรรม มีอายุถึง 90 ปี ก็จะยกให้เป็น ‘สมเด็จพระอัคคะโมลี’ ซึ่งปัจจุบัน สมเด็จพระอาชญาธรรม ของเมืองยอง มีพระชนมายุ 71 พรรษา จึงยังทรงสมณะศักดิ์ สมเด็จพระอาชญาธรรม เทียบเท่า สมเด็จพระสังฆราช ของเมือง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: