เชียงราย-จัดทำเกณฑ์ลำดับแผนหลักจัดการน้ำกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ หวังเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาน้ำในทุกลุ่มน้ำ จับมือทีมที่ปรึกษา ลงพื้นที่ระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน ร่วมบูรณาการจัดทำแผนพัฒนา มั่นใจเป็นต้นแบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ แก้ไขปัญหาน้ำในทุกมิติอย่างยั่งยืน
วันนี้ (7 ตุลาคม 2562) ณ เอ็ม บูทีค รีสอร์ท จ.เชียงราย ดร.จงกล จงวิไลเกษม ที่ปรึกษาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 เพื่อนำเสนอ (ร่าง) แผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 10 ลุ่มน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) และเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยมี คณะกรรมการลุ่มน้ำ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเหนือ เข้าร่วมประมาณ 100 คน
ดร.จงกล จงวิไลเกษม ที่ปรึกษาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สทนช. และทีมที่ปรึกษา ที่ประกอบด้วย คณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำ (ร่าง) แผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำโขงเหนือ ที่สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งสิ้น 791 โครงการ งบประมาณรวม 42,999 ล้านบาท ประกอบด้วย ด้านที่ 1 : การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 126 โครงการ งบประมาณ 1,287 ล้านบาท ด้านที่ 2 : การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต จำนวน 556 โครงการ งบประมาณ 25,726 ล้านบาท ด้านที่ 3 : การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย จำนวน 87 โครงการ งบประมาณ 15,241 ล้านบาท ด้านที่ 4 : การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ จำนวน 2 โครงการ งบประมาณ 718 ล้านบาท ด้านที่ 5 : การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการพังทลายของดิน จำนวน 20 โครงการ งบประมาณ 27 ล้านบาท ส่วนด้านที่ 6 : การบริหารจัดการ ไม่มีหน่วยงานใดเสนอแผนมายัง สทนช.
ทั้งนี้ การพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ดังกล่าว มีแผนงาน/โครงการจำนวนมาก อีกทั้งงบประมาณในการพัฒนามีจำกัด จึงจำเป็นต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการต่างๆ ให้เหมาะสม คุ้มค่า สอดคล้องกับบริบท และตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่ง สทนช. และทีมที่ปรึกษา ได้ดำเนินการศึกษาการจัดทำเกณฑ์หลักที่ใช้ในการจัดลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนหลักในแต่ละด้าน
ประกอบด้วย 4 เกณฑ์หลัก คือ ด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ-สังคม และด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อใช้ประกอบในการจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน/โครงการต่างๆ และจะนำแผนการจัดลำดับความสำคัญดังกล่าว มาให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้พิจารณาและให้ความคิดเห็นอีกครั้ง ก่อนนำไปดำเนินการจัดลำดับความสำคัญของแผนหลักต่อไป
“สทนช. คาดว่าจะสามารถจัดทำแผนหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ และแผนปฏิบัติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 5 ปี ที่บูรณาการแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์น้ำได้อย่างยั่งยืน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พร้อมทั้งจะเร่งรัดการดำเนินการในโครงการที่มีความพร้อมในทันที อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และปัญหาคุณภาพน้ำ ที่เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดได้อย่างรวดเร็ว และตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง หวังให้เป็นต้นแบบต่อยอดขยายผลไปใช้เป็นทิศทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ ต่อไป” ดร.จงกล จงวิไลเกษม ที่ปรึกษาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: