X

หัตถศิลป์สุโขทัยเชื่อมการท่องเที่ยวชุมชนสร้างอาชีพสร้างรายได้ยั่งยืน

สศท.นำงานหัตถศิลป์สุโขทัยเชื่อมโยงการท่องเที่ยว หวังสร้างอาชีพ สร้างรายได้ แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

เมื่อเวลา 13.00น. วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 นางสาวสรินรัตน์ เกิดสกุลรุ่งโรจน์ รองผวจ.สุโขทัย เป็นประธานเปิดกิจกรรม”เรียนรู้หัตถศิลป์ เพลินถิ่นหัตถกรรม”ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)หรือ สศท. ณ ร้านสุเทพสังคโลก ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย


นายภาวี โพธิ์ยี่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมคุณค่าหัตถศิลป์ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. เปิดเผยว่า งานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า และมีเสน่ห์ ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทย จากจุดเด่นดังกล่าว สศท. จึงได้ส่งเสริมและเสริมสร้างให้เกิด “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” เพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีการนำองค์ความรู้ในงานศิลปหัตถกรรมไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน มาต่อยอดเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ผลักดันให้เรื่องเล่าแห่งภูมิปัญญาในงานหัตถกรรม ได้กลายเป็นเรื่องราวที่มีความน่าสนใจ และสามารถดึงดูดความสนใจของกลุ่มนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งจังหวัดสุโขทัย นับว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีศักยภาพ ทั้งในด้านเอกลักษณ์ และความงดงามในงานศิลปหัตถกรรมไทย โดยมีงานหัตถกรรมที่เป็นมรดกโลกได้แก่ กลุ่มเครื่องสังคโลก และ เครื่องปั้นดินเผา ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 700 ปี ไม่เพียงแต่มีความสวยงามเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของผู้คนแล้ว ลวดลายต่าง ๆ ที่แต่งแต้มลงบนชิ้นงานบนเครื่องสังคโลกก็ล้วนเป็นมรดกแห่งภูมิปัญญาที่สะท้อนเรื่องราว วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของผู้คนในแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี


ในกระบวนการส่งเสริมให้เป็นชุมชนเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวนัั้น สศท.ได้ดำเนินการศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกของ กลุ่มเครื่องสังคโลก และเครื่องปั้นดินเผา จังหวัดสุโขทัย อาทิ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาชีพ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และนำมาวิเคราะห์ศักยภาพและข้อจำกัด เพื่อนำมาสู่การร่วมกำหนดทิศทางและการดำเนินการร่วมกันกับคนในชุมชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าชุมชนมีความพร้อมในหลายด้าน ได้แก่ มีองค์ความรู้ในงานศิลปหัตถกรรมที่สามารถดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างประสบการณ์ให้แก่นักท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมด้วยตนเอง ผ่านการมีส่วนร่วมทดลองทำงานเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่สร้างความประทับใจได้ นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางการเดินทางที่สะดวกสบาย มีที่พัก ร้านอาหารที่มีความพร้อม เหมาะกับการท่องเที่ยวในรูปแบบสโลว์ไลฟ์ ซึ่งที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบการท่องเที่ยงเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งสศท.ได้เพิ่มเติมมนต์เสน่ห์ในงานศิลปหัตถกรรมเข้าไปกลมกลืนกับโปรแกรมการท่องเที่ยว ที่เชื่อว่าจะสามารถสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวควบคู่กับการได้สืบสานองค์ความรู้ในงานศิลปหัตถกรรมไทย และการกระจายเม็ดเงินสู่ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม

ดังนั้น เพื่อให้การเชื่อมโยงงานศิลปหัตถกรรมเข้ากับการท่องเที่ยว ให้สามารถถ่ายทอดเสน่ห์ และองค์ความรู้ของงานศิลปหัตถกรรมได้อย่างสมบูรณ์ สศท.ยังได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่าน “ปราชญ์พื้นถิ่น” ซึ่งได้แก่ ครูสุเทพ พรมเพ็ชร ครูศิลป์ของแผ่นดินปี 2565 ที่จะมาถ่ายทอดความงดงาม “สังคโลกสุโขทัย” ความทรงจำที่ยังไม่เลือนหาย ซึ่งในกระบวนการเชื่อมโยงภาคการท่องเที่ยวนั้น ได้มีการบูรณาการการทำงานกับ ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น โดยการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงประวัติศาสตร์ผ่านงานศิลปหัตถกรรม นำนักท่องเที่ยวเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์ การเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ รวมไปถึงการเรียนรู้ถึงงานหัตถกรรมดั้งเดิมของชุมชนเก่าแก่ในจังหวัดสุโขทัย เช่น การท่องเที่ยวอาณาจักรพ่อกูสังคโลก จากครูสมเดช พ่วงแผน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2555 การชมงานสังคโลก ร่วมพูดคุยกับปราชญ์พื้นถิ่น ทดลองทำงานเครื่องปั้นดินเผา เชื่อมโยงถึงโปรแกรมท่องเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุโขทัย ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว การส่งเสริมการจับจ่ายซื้อของขวัญของฝากที่เป็นงานศิลปหัตถกรรมเลื่องชื่อของจังหวัดสุโขทัย สศท.ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการส่งเสริมชุมชนเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมเชื่อมโยงการท่องเที่ยว จะเป็นกิจกรรมที่คนในท้องถิ่น ชุมชน ได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ ร่วมกันเป็นเจ้าของ มีความผูกพัน เกิดพลังชุมชนที่เข้มแข็งจากฐานราก นำมาสู่ความยั่งยืนในงานศิลปหัตถกรรมไทย ตลอดจนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ผ่านการท่องเที่ยวอีกด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน