X

สทนช.ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จ.สุโขทัย

19 ก.ย. 66 นายชยันต์  เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ลุ่มน้ำยม จ.สุโขทัย เพื่อติดตามการปรับปรุงคลองยม-น่าน และติดตามการดำเนินงานตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 และ 3 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ บริเวณประตูระบายน้ำก่อสร้างใหม่ (กม.11+800) อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ภายใต้โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อตัดยอดน้ำบางส่วนจากแม่น้ำยม

โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน ประกอบด้วยงานขุดลอกคลองชักน้ำลงคลองหกบาท งานปรับปรุงคลองหกบาท และคลองยม-น่าน งานก่อสร้างและปรับปรุงประตูระบายน้ำ งานก่อสร้างสะพานรถไฟและสะพานรถยนต์  ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถตัดยอดน้ำจากแม่น้ำยมได้ประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมช่วงไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยไม่เกิน 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ อ.เมืองสุโขทัย และ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ นอกจากนั้นยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ในคลอง เพื่อใช้สำหรับการอุปโภค บริโภค การเกษตร และการปศุสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 7,300 ไร่ ซึ่งโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จ.สุโขทัย ปัจจุบันมีความก้าวหน้าของการดำเนินงานร้อยละ 19

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศตั้งแต่ 1 ม.ค. 66 ถึงปัจจุบัน น้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 16 และในพื้นที่ภาคเหนือน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 25 สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำยมช่วงฤดูฝนปีนี้มีค่าน้อยกว่าปกติ จากการตรวจสอบพื้นที่สุโขทัย พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร 8 ตำบล 4 อำเภอ ได้แก่ ต.บ้านด่าน ต.วังน้ำขาว อ.บ้านด่านลานหอย ต.เมืองเก่า ต.วังทองแดง อ.เมืองสุโขทัย ต.นาขุนไกร ต.เกาะตาเลี้ยง อ.ศรีสำโรง ต.หนองกลับ ต.เมืองบางขลัง อ.สวรรคโลก

และพบพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจากปริมาณน้ำฝนน้อย 23 ตำบล 6 อำเภอ ได้แก่ ต.สามพวง ต.ศรีคีรีมาศ ต.หนองจิก ต.นาเชิงคีรี ต.บ้านน้ำพุ ต.ทุ่งยางเมือง อ.คีรีมาศ ต.ไทยชนะศึก ต.ทุ่งเสลี่ยม ต.กลางดง ต.เขาแก้วศรีสมบูรณ์ อ.ทุ่งเสลี่ยม ต.ลานหอย ต.บ้านด่าน ต.วังตะคร้อ ต.วังน้ำขาว ต.ตลิ่งชัน ต.หนองหญ้าปล้อง ต.วังลึก อ.บ้านด่านลานหอย ต.ศรีนคร ต.นครเดิฐ อ.ศรีนคร ต.แม่สำ ต.แม่สิน ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย และ ต.นาขุนไกร อ.ศรีสำโรง

ทั้งนี้ รองเลขาธิการฯได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 และ 3 มาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญอย่างเคร่งครัด และกำชับทุกหน่วยงานเตรียมแผนการรับมือ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ทันกับสถานการณ์

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน ประตูระบายน้ำท่านางงาม เป็น 1 ใน 4 ของประตูระบายน้ำในแม่น้ำยมที่ก่อสร้างเป็นแบบขั้นบันได เป็นแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเก็บกักน้ำให้เกษตรกรใช้น้ำได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งลำนำ ทำให้ได้พื้นที่รับประโยชน์ 51,375 ไร่ ครอบคลุม 5 ตำบล (ชุมแสงสงคราม, ท่านางาม, คุยม่วง, บางระกำ, บึงกอก) อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ปัจจุบันความก้าวหน้าของการดำเนินงานร้อยละ 99 สำหรับการจัดทำผังน้ำก่อให้เกิดประโยชน์ทำให้ทราบถึงเส้นทางน้ำ รูปตัดลำน้ำ ติดตามการระบายน้ำ และสิ่งกีดขวางทางน้ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผังน้ำยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยตัดสินใจในการสร้างที่อยู่อาศัย โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม ไม่ให้อยู่ในพื้นที่น้ำหลาก หรือกีดขวางทางระบายน้ำ รวมถึงเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินในขอบเขตพื้นที่ ตามระบบทางน้ำที่ได้กำหนดแนวเขตไว้ โดยผังน้ำจะกำหนดขอบเขตชัดเจนว่า บริเวณใดเป็นพื้นที่สงวนไว้ให้ทางน้ำโดยเฉพาะ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ขณะนี้การจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำยมได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และได้นำไปรับฟังความคิดเห็นเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียในเขตผังน้ำมีสิทธิเสนอข้อสอบถาม ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นต่อผังน้ำ และรายการประกอบผังดังกล่าว โดยให้ทำเป็นหนังสือหรือผ่านช่องทางออนไลน์ก็ได้ (www.onwr.go.th)

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน