X

ผ้าย้อมยางกล้วย จากความยากจนในอดีต พลิกสู่การทำเงินเลี้ยงชีพผ่านเอกลักษณ์ของธรรมชาติ

สงขลา – จากธรรมชาติ ความยากจนและภูมิปัญญาสู่ผ้าบาติกลวดลายเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร “ ผ้าบาติกสีธรรมชาติจากยางกล้วย ”สร้างงานสร้างเงินเลี้ยงชีพบนวิถีชีวิตแบบพอเพียง ของชาวบ้านที่ปาดังเบซาร์ เชื่อมีคนสืบต่อพร้อมเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจ และเยาวชนรุ่นใหม่

ผลิตภัณฑ์จากชุมชนมีหลายอย่างหลายที่ แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นหรือภูมิประเทศ ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญ มีคุณค่าในตัวของตัวเอง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ยากแก่การเลียนแบบ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้ผู้คนที่พบเห็นต่างมีความชื่นชม และกลายเป็นจุดขายที่สำคัญ อย่างเช่น “ ผ้าบาติกสีธรรมชาติจากยางกล้วย” ผลิตภัณฑ์จากคนในชุมชนปาดังเบซาร์ ที่ในอดีตผ่านความล้มลุกคลุกคลาน จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบันที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้และอนาคตกำลังสดใส

นางบุญธรรม มะโนเพ็ชร อายุ 60 ปี อยู่ที่ 100 / 7 หมู่ 6 ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ประธานกลุ่ม “ ผ้าบาติกสีธรรมชาติจากยางกล้วย ” บอกว่ามีประสบการณ์จากอดีตที่สมัยเด็กๆ เห็นพ่อซึ่งมีอาชีพเป็นควาญช้างนำผ้าสีขาวมาย้อมด้วยยางกล้วย แล้วตัดเป็นเสื้อและกางเกงหรือเป็นเครื่องนุ่งห่มในครอบครัว ด้วยเหตุผลหลักคือยากจน และผ้าชุดสวยๆมีราคาแพงแต่ไม่มีความคงทน สู้ผ้าที่ย้อมด้วยยางกล้วยไม่ได้

โดยริเริ่มทำการย้อมผ้าโดยใช้สีจากยางกล้วยมาตั้งแต่ประมาณปี 2537 ซึ่งในขณะนั้นมีการตั้งกลุ่มอาชีพหลายๆอาชีพ และเห็นเพื่อนบ้านหลายคนย้อมผ้ากัน เลยใช้ประสบการณ์ที่มีตั้งแต่วัยเด็ก ตั้งกลุ่มทำการย้อมผ้าจากยางกล้วย หรือ “ผ้าบาติกสีธรรมชาติจากยางกล้วย ” ก็ลองผิดลองถูก ล้มลุกคลุกคลานมา ประมาณปี 2548 มีงานแสดงสินค้าก็นำผลิตภัณฑ์ที่ได้ไปจัดแสดงและขาย ซึ่งมาตรฐานก็ได้ระดับ 3 ดาว มาตลอด ส่วนตัวคิดว่าผลงานยังไม่ดีเท่าไหร่ สู้ของที่อื่นไม่ได้เลยหยุดไประยะหนึ่ง

ปี 2552 จึงได้เริ่มลงมือกันใหม่ โดยเพิ่มเติมลายต่างๆลงบนเนื้อผ้าซึ่งยึดลายธรรมชาติใกล้ตัวในท้องถิ่น เช่นลายใบฟักทอง ใบยาง ใบตำลึง ใบบอนเป็นต้น ทั้งนี้เพื่อความเป็นเอกลัษณ์เฉพาะตัว ซึ่งปัจจุบันนี้มีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี และได้รับคำชมจากกลุ่มลูกค้าว่าผ้าของที่นี่สวยกว่าที่อื่น ประกอบกับมีการตัดเย็บที่หลากหลายรูปแบบทำให้มีความนิยม ยอดจองสินค้าทั้งที่ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป และผ้าเป็นชิ้นเพิ่มขึ้น ซึ่งชุดที่นิยมคือชุดเดรสซึ่งใช้ได้กับชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นก็มีเสื้อหรือชุดลำลอง เสื้อสูทราคาเริ่มตั้งแต่ 400 – 2,000 บาท ส่วนผ้าเป็นชิ้นหรือผืน ราคาชิ้นละ 400 – 1,000 บาท แล้วแต่ความยากง่ายในการตัดเย็บหรือความสวยงามของลายผ้า

ราคาเหมือนจะแพงนะแต่ต้องย้อนดูกรรมวิธีในการทำ  ที่มีหลายขั้นตอนที่ใช้เวลาพร้อมด้วยความใส่ใจ ซึ่งของเราจะใช้ผ้าฝ้าย และผ้าสปันซึ่งมีความทนทาน ที่สำคัญเมื่อทำปฎิกริยากับยางกล้วยแล้วผ้าจะเย็นสวมใส่สบาย ขั้นตอนในการทำก็คล้ายๆกับการทำผ้าบาติกทั่วๆไป ส่วนยางกล้วยของเราจะใช้ยางกล้วยหิน ซึ่งมีปริมาณยางมาก สีเข้มสวย ติดทนนานเมื่อนำมาย้อม จะได้ผ้าสีน้ำตาลอมเหลือง ตัดเป็นเสื้อผ้านำไปซักและรีดสีจะยิ่งเด่นชัดขึ้น

ปัจจุบันนี้มีสมาชิกในกลุ่ม 7-8 คน งานที่สั่งเข้ามาถือว่าทำแทบไม่ทันลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นวัยทำงาน ที่สั่งแล้วสั่งอีกคนละหลายๆชุด ส่วนรายใหญ่ๆที่ออเดอร์ผ้าเป็นผืนเข้ามา 600 – 800 ผืนต่อเดือนทางเราไม่รับ เช่นเดียวกันกับทางประเทศแอฟริกาที่จะสั่งเป็นเสื้อสำเร็จรูปเดือนละ 4,000 ตัว ทางเราก็ปฎิเสธไปด้วยเหตุผลเดียวกันคือไม่มีกำลัง เอาแบบพอเพียงก็พอแล้ว

ส่วนปัญหาอุปสรรคที่ประสบในขณะนี้ก็มีบ้างคือเรื่องของฝนฟ้าอากาศ เพราะผ้าที่ย้อมต้องตากโดยใช้แสงแดดเป็นหลัก เรายังไม่มีโรงตากที่เป็นโดมเพราะตรงนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการสนับสนุนในการผลิต แต่มีส่วนช่วยในการตลาด อนาคตของ “ ผ้าบาติกสีธรรมชาติจากยางกล้วย ” เชื่อว่าคงไปได้ดีเนื่องจากมีจุดขาย คือการเขียนลายด้วยมือผืนต่อผืนไม่ซ้ำ  ด้วยลายธรรมชาติ เป็นเอกลักษณ์ ที่เราพร้อมเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ แก่ผู้ที่สนใจและเยาวชนรุ่นใหม่เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไว้ให้คงอยู่ และอีกประมาณ 2 ปี จะเขียนสูตรในการย้อมผ้าซึ่งมีเคล็ดลับเฉพาะตัว เป็นตำราเผยแพร่เป็นวิทยาทาน นางบุญธรรมฯบอกทิ้งท้าย สำหรับผูู้ที่สนใจ”ผ้าบาติกสีธรรมชาติจากยางกล้วย ” โทรสอบถามที่ 089 – 928 -5929 ได้ทุกวัน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ภูมริน มหันตมรรค

ภูมริน มหันตมรรค

เคยเป็นสื่อทีวีในฐานะทีมช่างภาพตั้งแต่ยุคเปิดตัว ITV. และทำข่าว นสพ.ท้องถิ่นมาก่อน และหยุดไปช่วงนึง 4 ปี เนื่องจากย้ายไปอยู่ที่เชียงใหม่ กลับมาก็เริ่มใหม่ในสื่อทีวี และ นสพ. จนกระทั่งปัจจุบัน 77 ข่าวเด็ด