สงขลา – สะเดา ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย สาขาสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ชี้แจงขี้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย กยท.ไม่ยุ่งยาก แนะนำชาวสวนยางไปติดต่อที่สำนักงานใกล้ๆบ้าน เพื่อสิทธิและผลประโยชน์ที่จะได้รับ
วันนี้เกษตรกรชาวสวนยาง สามารถที่จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด จากสวัสดิการต่างๆ ที่การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. จัดสรรให้ เพียงแค่ขึ้นทะเบียนเป็น “ เกษตรกรชาวสวนยาง ” กับกยท. แต่เกษตรกรชาวสวนยางบางท่านอาจจะไม่ทราบหรือไม่ได้ใส่ใจต่อสิทธิประโยชน์ดังกล่าวมากนัก ทำให้มีเกษตรกรชาวสวนยางจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ
นายเอกราช ดนยสกุล ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย สาขาสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ได้บอกถึงเรื่องที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางกยท. ว่า เราต้องยอมรับว่าเกษตรกรชาวสวนยางหลายๆ คนนั้นยังรับรู้สวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยไม่ทั่วถึงนัก
หากพูดถึงสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยางนั้น มี 2 ประเด็นสำคัญคือ ประเด็นที่ 1 สวัสดิการชาวสวนยางตามมาตรา 49 ( 5 ) ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ยืมกรณีเสียชีวิต กรณีต้นยางพาราได้รับความเสียหาย อีกส่วนหนึ่งในเรื่องประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม ซึ่งสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย ไม่ได้มีเพียงแค่นี้ แต่ยังมีมาตรา 49 ( 2 ), 49 ( 3 ), 49 ( 4 ), 49 ( 5 ) และ 49 ( 6 ) ที่เกษตรกรชาวสวนยางพารามีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์
ข่าวน่าสนใจ:
เกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับสิทธิประโยชน์จากสวัสดิการมาตราอื่นๆ ได้ ก็ต้องเริ่มจากการขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางกับทางการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของผม คือ เรื่องการไม่ให้ความสำคัญกับการขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางหากเกษตรกรไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ เมื่อเกิดปัญหาอันทำให้เกิดการสูญเสีย สิทธิประโยชน์จากการยางแห่งประเทศไทยที่พร้อมจะชดเชย เกษตรกรชาวสวนยางก็จะไม่ได้รับเลย
อีกกรณีหนึ่งคือ คนกรีดยาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกษตรกรชาวสวนยางพารา ยกตัวอย่าง มีโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งคนที่พึงจะได้รับสิทธิประโยชน์คือเจ้าของสวนยางและคนกรีดยางโดยคนกรีดยางบางท่านไม่มีบัญชีแค่เพียงไม่มีบัญชีตรงนั้นบางท่านก็ไปที่กยท. และบอกว่าขอเปลี่ยนเป็นเจ้าของสวนเปิดเองทำให้เงินในส่วนของประกันรายได้จะเข้าสู่บัญชีของเจ้าของสวนยางอย่างเดียว คนกรีดยางก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ จึงขอถือโอกาสตรงนี้บอกพี่น้องชาวเกษตรกรชาวสวนยางว่า เกษตรกรชาวสวนยางทั้งหลายที่มีเอกสารสิทธิ์ ควรจะไปขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยที่อยู่ในพื้นที่ภาคส่วนของท่าน เพื่อรับผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่มีความสูญเสียในอนาคต
โดยการเตรียมเอกสารเบื้องต้นสำหรับการขอขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางนั้น แบบฟอร์มการขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง สามารถค้นหาจากในอินเตอร์เน็ตได้ เพียงค้นหาว่า “ แบบฟอร์มการขึ้นทะเบียนชาวสวนยาง” หรือหากอยู่ใกล้สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย ก็สามารถไปขอแบบฟอร์มนี้จากสำนักงานได้ ต่อมาที่สำคัญคือ ผู้นำชุมชนจะต้องเซ็นรับรองว่าเรามีสวนยางอยู่จริงๆ และแนบเอกสารส่วนบุคคลมา ในส่วนเอกสารที่ดิน จะต้องแสดงตัวจริงพร้อมกับสำเนา สำหรับเกษตรกรที่อาจจะกลัวว่าโฉนดที่ดิน จะชำรุดและได้นำไปฝากธนาคารไว้ให้ธนาคารดูแล ท่านสามารถให้ธนาคารช่วยคัดสำเนา และรับรองสำเนาให้ว่าอยู่ที่ธนาคารจริง “ เพียงแค่นั้นก็สามารถดำเนินการได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามจากเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานได้ เพราะเจ้าหน้าที่พร้อมให้บริการเสมอ ”
เนื่องจากเกษตรกรหลายๆ ท่านมีข้อสงสัยในเรื่องผู้รับสวัสดิการ ในส่วนของเอกสารสำหรับทายาทนั้น นายเอกราช อธิบายไว้ว่า การขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยางกับทางกยท. ความหมาย คือ ไม่ใช่เฉพาะในส่วนของสิทธิ์สวัสดิการ ไม่ใช่ในส่วนของประกันชีวิต การขึ้นทะเบียนเกษตรกรหลักๆ จะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลและเป็นข้อมูลของแปลงยาง จะไม่รวมถึงทายาทที่รับสิทธิ์ประกันชีวิต
ส่วนของการรับสิทธิ์ประกันชีวิต สมมุติว่าในกรณีที่เกษตรกรไม่ได้ทำแบบฟอร์มไว้ก่อน ก็สามารถทำเอกสารให้ทายาทเซ็นต์ภายหลังได้
“ สิ่งที่ผมอยากจะเรียนนั่นก็คือ ผมมีความเป็นห่วงในเรื่องหลักๆ คือเกษตรกรหลายๆ ท่านไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย ไม่ใช่แค่เฉพาะสิทธิ์ของสวัสดิการมาตรา 49 ( 5 ) แต่สิทธิ์ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยวงเล็บต่างๆก็จะไม่ได้รับเช่นกัน ”
นายเอกราช บอกด้วยว่าสิ่งที่เป็นกังวลแทนพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางคือการละเลยกับการขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง เพราะหากในวันใดวันหนึ่งที่เกษตรกรผู้นั้นเกิดประสบเหตุบางประการที่ไม่คาดคิดขึ้น ทายาทก็ไม่สามารถจะได้รับสิทธิประโยชน์มาช่วยเหลือเยียวยาต่อไปในอนาคตได้ ในพื้นที่เขตอำเภอสะบ้าย้อยที่ผมรับผิดชอบ มีเกษตรกรที่อาจจะพูดได้ว่าขึ้นทะเบียนเกือบทั้งหมดแล้ว แต่ก็ยังมีอยู่เพียง 2 กลุ่มหลักๆ ที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบทะเบียนคือ พ่อแม่ที่ทำยางร่วมกันทั้งสองคน เป็นเกษตรกรชาวสวนยางทั้งคู่ แต่กลับกลายเป็นว่าคนขึ้นทะเบียนมีแค่เพียงคนเดียว ทั้งๆ ที่ 2 คนมีอาชีพตรงนี้ร่วมกัน
ซึ่งในกรณีที่ต้องขึ้นทะเบียนทั้ง 2 คนนั้นสมมุติว่าหลายๆท่านมีโฉนดมากกว่า 1 ใบอยู่แล้ว ก็สามารถแบ่งโฉนดออกไปขึ้นคนละคนก็ได้ หรือในกรณีที่มีพื้นที่ในปริมาณมาก ก็สามารถแบ่งขึ้นทะเบียนในพื้นที่แปลงเดียวกันได้ สิ่งหนึ่งที่เราอยากจะสื่อออกไปผ่านเกษตรกรชาวสวนยางคือ ทุกคนที่ทำเกี่ยวกับยางพารา ควรจะไปขึ้นทะเบียนทุกคน ตามบทบาทหน้าที่ที่ตัวเองทำ เพื่อรับผลประโยชน์ที่ท่านควรจะได้รับ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: