สงขลา – สะเดา สมาคมโลจิสติกส์และขนส่งภาคใต้ พร้อมผู้ประกอบการ จี้ภาครัฐช่วยเหลือค่าตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด – 19 หนึ่งพันบาทต่อคนต่อครั้งต่อ 14 วัน กับพนักงานขับรถสินค้าเข้า – ออกประเทศ เป็นภาระในยุคเศรษฐกิจย่ำแย่ พร้อมยื่นข้อเสนอขยายเวลาในการบริการ ไม่ให้กระทบต่อการส่งออกสินค้า รวมทั้งขอผลักดันให้ได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ ( มีคลิป )
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 13.00 น.ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา หลังจากที่มีการเผยแพร่ในโซเชียล ว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการตรวจหาเชื้อโควิด – 19 สำหรับผู้ที่ขับขี่รถบรรทุกสินค้าเข้า – ออก ผ่านด่านพรมแดนไทย มาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่บ่นว่าแพง และเป็นการเสียเวลาทำให้เกิดความเสียหายต่อสินค้าที่นำไปส่ง
พบว่ามีการจัดพื้นที่สำหรับตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ไว้ที่บริเวณด่านศุลกากร และมีพนักงานขับรถบรรทุกสินค้าประมาณ 20 คน มานั่งรอ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จาก รพ.ปาดังเบซาร์ มาทำการเก็บตัวอย่างน้ำลายในเวลา 13.30 น. ซึ่งมีจุดรับบัตรคิวและนั่งรอก่อนที่จะไปยังจุดลงทะเบียน จ่ายเงินและรับขวดพลาสติกสำหรับเก็บตัวอย่างน้ำลายให้กับเจ้าหน้าที่ โดยใช้เวลาประมาณ 5 นาทีต่อพนักงานขับรถ 1 คน
พนักงานขับรถคนหนึ่งบอกว่าค่าตรวจหาเชื้อโควิด 1 พันบาทต่อคนต่อครั้ง และมีระยะเวลา 14 วันต้องตรวจใหม่ ถือว่าเป็นภาระเพราะบางบริษัทไม่จ่ายให้ พนักงานขับรถต้องจ่ายเอง “ มันมากเกินบางบริษัทไม่รับผิดชอบ ต้องเสียเอง เดือนนึงวิ่ง 2 เที่ยวเท่ากับเที่ยวละพัน คนขับรถเงิน 100 หรือ 50 ก็มีความหมาย เป็นไปได้ค่าธรรมเนียม 100 – 200 ก็โอเค ” ในส่วนของการตรวจอยากให้ทำตามเวลาราชการ เพราะสินค้าบางอย่างอาจมีความเสียหายหากขนส่งถึงมือผู้รับช้า
ส่วนที่ห้องราชพฤกษ์ รพ.สะเดา เวลาประมาณ 15.00 น. วันเดียวกันได้มีการจัดประชุมหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยมี นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา เป็นประธานร่วมกับสาธารณสุขอำเภอ ฝ่ายปกครอง อ.สะเดา ศุลกากร หอการค้า จ.สงขลา ผู้ประกอบการโลจิสติกส์นำเข้า -ส่งออก รวมประมาณ 40 คน
นายกิตติชัย ธรรมศิริพงษ์ นายกสมาคมโลจิสติกส์และขนส่งภาคใต้ บอกว่ามาหารือเรื่องค่าใช้จ่ายและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะการคัดกรองโควิด ซึ่งเป็นภาระหนักของผู้ประกอบการ โดยทำหนังสือถึงผู้ว่าราชจังหวัดว่าจะช่วยเหลือในส่วนนี้ได้หรือไม่ พร้อมทั้งเวลาของเจ้าหน้าที่ที่ออกมาคัดกรองไม่สอดคล้องกับรถที่จะไปส่งออกหรือผ่านพิธิการ เช่นรถไปถึงตั้งแต่ช่วงเช้า ส่วนเจ้าหน้าที่คัดกรองมาบ่ายโมงครึ่ง
“ จริงๆ ผู้ประกอบการพยายามให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการป้องกันโรคระบาด ส่วนใหญ่ยอมรับได้ ในระดับนึง แต่หากทุกๆ 14 วัน ผู้ประกอบการต้องมีค่าใช้จ่ายในการคัดกรองฯ มันเป็นภาระหนักน่าดู 700 – 800 คัน 7- 8 แสนบาท ต่อ 14 วันเป็นตัวเงินค่อนข้างมหาศาล เป็นภาระหนักของผู้ประกอบการอยู่ อีกอย่างที่อยากเรียกร้องต่อภาครัฐ ในเมื่อมองว่าพนักงานขับรถนำเข้า ส่งออก เป็นกลุ่มเสี่ยงอยากเรียกร้องภาครัฐ ให้พิจารณาเกี่ยวกับโควตาวัคซีนป้องกันโควิดเป็นกลุ่มแรกๆ”
ทางด้าน นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา บอกว่าผลการประชุมวันนี้บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ทำให้ได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และมีข้อตกลงร่วมกันว่าเบื้องต้นการตรวจหาเชื้อโควิดในครั้งแรกทางผู้ประกอบการยินดีให้ตรวจ 100 เปอร์เซ็นต์ ครั้งต่อไปจะมีมาตรการร่วมกันว่าหากผลตรวจออกมาไม่มีผู้ติดเชื้อ มาตรการต่างๆ ในการตรวจ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็นให้ทางรัฐช่วยบรรเทา ซึ่งต้องนำเรื่องเหล่านี้ นำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อการดำเนินการต่อไป
ส่วนค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อโควิด มีหลายวิธี ซึ่ง มาตรฐานการตรวจแบบ PCR ค่าตรวจอยู่ที่พันกว่าถึงสองพันบาท แต่เรามีข้อตกลงพยายามที่ผ่อนปรนจนได้ราคาที่หนึ่งพันบาท ซึ่งนับว่าถูกที่สุดใน จ.สงขลา สำหรับวัคซีนโควิดหากไม่มีการคลาดเคลื่อน จะได้รับประมาณปลายเดือน พ.ค. หรือ ต้นเดือน มิ .ย.
โดยผู้ที่จะได้รับวัคซีนก่อนอันดับแรกๆ จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานเกี่ยวข้องกับโควิด , ผู้ที่ดูแลและเกี่ยวข้องกับโควิดทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ,ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งคนขับรถบรรทุกสินค้าเข้าออกก็เป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งหากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: