สงขลา – สะเดา ผู้ทรงคุณวุฒิภาครัฐและเอกชน เชื่อมั่นศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันในพื้นที่ชายแดนใต้ ด้วย “ทุน” ภายในอันหลากหลาย ส่วนโอกาสขึ้นอยู่กับนโยบาย ซึ่งมีโครงการต่างๆ และงบประมาณลงมาในพื้นที่มาก
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดเสวนา ครั้งที่ 2 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หัวข้อ “ SWOTทุนทางสังคมและทรัพยากรกับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ภายใต้ “โครงการผ่าวิกฤติโควิด-19 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้”
มีวิทยากรประกอบด้วย นายธนวัตน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา, นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช ผู้จัดการสาขาภาคใต้ตอนล่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), ผศ.ดร.สุระพรรณ์ จุลสุวรรณ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และว่าที่ ร.ต.รอซีดีย์ บ่าวเบ็ญหมัด ประธานกรรมการ บริษัท อะยัมบัง(ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการเสวนาโดย นายสมชาย สามารถ บรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ เครือเนชั่น และ นายชัยวุฒิ บุญวิวัฒนาการ รองประธานกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนสงขลา
ข่าวน่าสนใจ:
ผศ.ดร.สุระพรรณ์ จุลสุวรรณ์ กล่าวถึงการวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า จากการทำ SWOT โดยการมองโอกาสภายนอก แล้วค่อยไปเจาะภายใน หรือมองศักยภาพของเราและพื้นที่ รวมไปถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร การขยายตัวของความเป็นเมือง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น รวมไปถึงทางศอ.บต.สามารถนำมาปรับใช้กับยุทธศาสตร์การพัฒนาได้
ปัจจุบัน ธุรกิจได้หันมาให้ความสำคัญการผลิตและการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทรัพยากร ระบบนิเวศ ที่เป็นจุดเด่นของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจุดแข็งของเราที่อยู่ติดกับชายแดนมาเลย์ จึงต้องมีการวางแผนรองรับ ขอความร่วมมือ เพื่อเตรียมความพร้อมสู้การเปลี่ยนแปลงหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย
พื้นที่บ้านเรามีมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก บางมหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยระดับประเทศ ซึ่งเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ หรือการสร้างนวัตกรรม สร้างแบรนด์ สร้างสินค้า และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ทางมหาวิทยาลัยพร้อมที่จะสนับสนุน และผลักดัน จุดนี้ถือเป็นจุดแข็งของเรา เป็นจุดแข็งทางการศึกษา
5 จังหวัดชายแดนได้ ถือเป็นพื้นที่เปราะบาง รัฐบาลมีงบประมาณลงมาดูแล ส่วนนี้ถือเป็นโอกาสอย่างมาก เนื่องจากงบประมาณที่ลงมาในพื้นที่ ถือเป็นงบประมาณที่มาก “สิ่งสำคัญที่ถูกยอมรับคือ สังคมพหุวัฒนธรรม และในพื้นที่มีพี่น้องมุสลิม ทำให้อาหารต้องมีเครื่องหมายฮาลาล สร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว” คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา กล่าว
ว่าที่ ร.ต.รอซีดีย์ บ่าวเบ็ญหมัด กล่าวว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิต ต้องมองด้วย 4 L ได้แก่ Land, Labor, Law และ Loan
Land คือที่ดิน ดิน น้ำ อากาศ และทรัพยากรป่าไม้ที่เป็นธรรมชาติ Labor คือ แรงงาน ที่ยังไร้ทักษะ ยังไร้ฝีมือ ก็พัฒนาเขามา หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อทุกคนสามารถที่จะพัฒนาตัวเองได้ และให้โอกาส Law คือ กฎหมาย สิทธิประโยชน์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ และ Loan คือ เงินทุน หรือแหล่งทุน การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่วัดจาก GPP (Gross Provincial Product) แต่ความเป็นมุสลิมจะมองอีกมุมหนึ่ง คือ GHP (Good Hygiene Practice) ความสุขที่เขาได้รับ ที่เขาได้ใช้ชีวิต ได้ความดีในมิติของศาสนา และได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
จุดแข็งในพื้นที่ คือคน เนื่องจากคนจะจัดการในพื้นที่ได้ดี ควรจะจัดการกฎหมาย และระเบียบกติกาได้ จึงหันมาพัฒนาคน พัฒนาความคิด ทัศนคติ ว่าเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร เราอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือสามารถแข่งกับต่างชาติ หรือต่างภูมิภาคได้หรือไม่
ขณะที่ นายธนวัตน์ พูนศิลป์ มองว่า ทุนทางสังคมและทรัพยากรการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจุดแข็งและเสน่ห์ของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจังหวัดสงขลามีจุดแข็งเกี่ยวกับ ศูนย์การค้า การลงทุน ทั้งตัวอำเภอหาดใหญ่ และจังหวัดสงขลา ซึ่งมีมาอย่างยาวนาน อาทิ การแปรรูป การส่งออก โลจิสติกส์ ศูนย์กลางการเงินและการลงทุน มีธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้อยู่ในหาดใหญ่ อุตสาหกรรมพลังงาน เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ศูนย์กลางการแพทย์มีโรงพยาบาลสอนแพทย์ และผลิตแพทย์ มีการขนส่ง มีสนามบิน มีนิคมอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจพิเศษที่สะเดา เป็นต้น
และจุดแข็งต่างๆ ที่มีร่วมกันของ 5 จังหวัด เช่น การท่องเที่ยวมาเลย์ สิงคโปร์ ด่านต่างๆของ 5 จังหวัดที่ติดกับมาเลย์ เป็นช่องทางที่จะให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ศูนย์แปรรูปอาหารทะเล ศูนย์แปลรูปทางการเกษตร ศูนย์แปรรูปไม้ยางพารา ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ และที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางการศึกษาทางมหาวิทยาลัยภาครัฐและเอกชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนจุดแข็งของ 3 จังหวัด คือทรัพยากร ธรรมชาติ สินค้าเกษตรที่มีความสมบูรณ์ยางพารา ปาล์มน้ำมันและผลไม้อื่นๆ มีการท่องเที่ยวทางการเกษตร การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ
“ปัญหาความไม่สงบ การก่อการร้าย ส่งผลให้พื้นที่ขาดนักลงทุน ขาดการพัฒนาด้านการตลาด ขาดการกระจายสินค้า ขาดผู้บริหารราชการมืออาชีพ ไม่มีการยกระดับสินค้าเกษตร ขาดความมั่นคงทางอาหาร” ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าว และว่า
โอกาสการพัฒนาขึ้นอยู่กับนโยบาย ซึ่งโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า แห่งอนาคต กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ นวัตกรรมเทคโนโลยี การตลาดออนไลน์ ศูนย์กลางการค้าฯ IMT-GT ท่องเที่ยวมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดฯ อาหาร/การท่องเที่ยวอุตสาหกรรมฮาลาล การท่องเที่ยวมูลค่าสูง เกษตร Zoning Smart Famer เกษตรมูลค่าสูง และความเชื่อมโยงของเมืองต้นแบบ
ในพื้นที่อำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี ขึ้นชื่อในเรื่องการเกษตร อุตสาหกรรมก้าวหน้าอุตสาหกรรมฮาลาล ตลาดค้าปลีก การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ การแปรรูปไม้ยางพารา และสินค้าเกษตร ตลาดกลางสินค้าเกษตร จุดแข็งของ อ.เบตง จ.ยะลา การพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน พลังงานทางเลือก และอำเภอสุไหงโกลก จ.นราธิวาส การค้าชายแดนระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ด้าน นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช มองว่า ยุทธศาสตร์ชาติ จำแนกเป็น 6 ประเด็น ที่ให้ความสำคัญในการสร้าง SWOT คือ ความสามารในการแข่งขัน มีทรัพยากรมนุษย์ที่ต่างจากที่อื่น และสามารถเชื่อมโยงกับต่างประเทศได้
ปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สังเกตจากเมืองขนาดกลางอย่างหาดใหญ่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเมืองอัจฉริยะ เป็นการใช้เทคโนโลยีในการบริหารเมือง และต้องการให้เป็นเมืองการท่องเที่ยว ซึ่งทาง UN มองว่า สงขลายังเป็นพื้นที่ที่อันตราย ยังเป็นพื้นที่สีแดง ทั้งๆ ที่คนในพื้นที่มองว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่คนต่างชาติยังมองว่า ไม่ปลอดภัย ซึ่งส่งผลให้เราต้องเปิดล็อคบางพื้นที่ ทำให้พื้นที่นั้นปลอดภัย จนนักท่องเที่ยวมั่นใจว่า มันปลอดภัยจริง และหากเราต้องการนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ ก็ต้องมาพูดคุยถึงมาตรการใหม่ๆ
การพัฒนาเมือง คือ สร้างเมืองให้ทันสมัย เป็นเมืองที่ปลอดภัย ซึ่งผู้บริหารที่เป็นคนรุ่นใหม่ สามารถที่จะพัฒนาเมืองได้อย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีคนพูดถึงเมืองอัจฉริยะมากขึ้น และการใช้เทคโนโลยีในการเผยแพร่อัตลักษณ์สู่ภายนอกโดยผ่านการไลฟ์สด เนื่องจากพื้นที่ปัตตานี หรือ 5 จังหวัด จะไปสู้ในเรื่องเศรษฐกิจไม่ได้ แต่คนในพื้นที่มีความสามารถในของภาษา อย่างภาษามลายู ที่สามารถเทียบกับอาเซียนตอนล่าง ภาษาอาหรับ นี่ถือเป็นทุน และมองว่าเป็นทุนทางสังคมของชายแดนใต้ที่มีส่วนที่ไม่เหมือนที่อื่นๆ ของประเทศ และมีโอกาสในการพัฒนามากขึ้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: