สงขลา – สะเดา มโนราห์นับร้อยชีวิต ใน 5 จังหวัดภาคใต้ ร่วมรำถวายหลวงปู่ทวด และทวดนวลทองสำลี ในงานเฉลิมฉลองโนรา “ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ณ วัดพะโคะ ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
มโนราห์ จำนวน 164 คน ร่วมร่ายรำถวายเป็นพุทธบูชาหลวงปู่ทวด และทวดนวลทองสำลี (ทวดยายหฺมฺลี) ณ บริเวณลานพระสุวรรณมาลิก ศรีรัตนมหาธาตุ (เจดีย์ทอง) วัดพะโคะ ต.ชุมพล อ.สทิงพระ จ.สงขลา เนื่องในงานเฉลิมฉลองโนรา “ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ด้วยบทร้องที่ไพเราะลึกซึ้ง กระบวนท่ารำที่ออกแบบให้สวยงาม ตามแบบฉบับของการรำถวายครูและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ร่ายรำมาจากสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ในจังหวัดสงขลา ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และยะลา
25 มี.ค. 65 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานพิธีบวงสรวง พร้อมอัญเชิญทวดนวลทองสำลี หรือทวดยายหฺมฺลี ขึ้นประดิษฐานยังแท่นเบญจา โดยมีนางสุรียพรรณ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา รองศาสตราจารย์ วิลาสินี พิพิธกุล อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนชาวสงขลาและจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
สำหรับทวดยายหฺมฺลี หรือ ทวดนวลทองสําลี เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางอุ้มบาตร ลักษณะเครื่องทรงคล้ายการแต่งกายของมโนราห์ เนื้อสำริด สูง 150 เซนติเมตร สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด สันนิษฐานว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ตำนานเล่าว่าในอดีตนานมาแล้ว มีหญิงคนหนึ่งมาพักอาศัยอยู่ ในชุมชนบริเวณนี้ ได้สอนให้ชาวบ้านรู้จักการปั่นด้าย และทอผ้า เป็นที่รักใคร่นับถือของชาวบ้าน ต่างสำนึกในบุญคุณจึงสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็น เครื่องระลึก และให้ชื่อว่า “พระพุทธรูปยายสำลี” และยังมีความเชื่อว่าพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นอนุสรณ์ของนางนวลทองสำลี ธิดาพระยาสายฟ้าฟาดเจ้าเมืองพัทลุง ผู้ให้กำเนิด “ขุนศรีศรัทธา ต้นตำนาน มโนราห์
ด้านรองศาสตราจารย์ วิลาสินี พิพิธกุล อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย บอกว่าองค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ได้ร่วมกับ เครือข่ายโนราภาคใต้ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรมโครงการ เฉลิมฉลองโนรา “ภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ระหว่างวันที่ 25-26 มีนาคม 2565 เพื่อเผยแพร่คุณค่าของศิลปะการแสดงโนราให้เป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง ในโอกาสที่ยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนโนรา ศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ เป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ รวมถึงร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการผลักดัน ให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ที่มีความสอดคล้อง และสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอันหลากหลาย ผ่านเครือข่ายโนราที่จะสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน และเป็นรากฐานของเศรษฐกิจ สร้างสรรค์อย่างยั่งยืน
โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย พิธีอัญเชิญทวดนวลทองสำลี (ทวดยายหฺมฺลี) ในวาระพิเศษ เพื่อให้ลูกหลานสักการะ มโนราห์ 164 คน รำถวายเป็นพุทธบูชาหลวงปู่ทวด และทวดทวดยายหฺมฺลี การแสดงคณะโนราที่มีชื่อเสียง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน มอบความบันเทิง ตลอดทั้งสองวัน และในภาคค่ำ พบกับการแสดงวงดนตรีโนรา คณะไข่เหลี้ยม วิเชียรศรชัย และคณะมโนราห์โทน สมพงษ์น้อย ดาวรุ่ง รวมถึงพิธีกรรมโนราโรงครู กิจกรรมเสวนาและการจัดนิทรรศการ ให้ความรู้เกี่ยวกับโนรา เป็นต้น
ภาพ / ข่าว ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: