สงขลา- สะเดา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแนวทางการจัดเก็บ “ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว” หรือที่รู้จักกันดีว่า “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ให้มีผลในสิงหาคม-กันยายน 2565 ภาคธุรกิจ ท่องเที่ยวชายแดนจังหวัดสงขลาเชื่อมีผลกระทบ
28 ส.ค.2565 หลังจากที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ทรุดหนักเป็นเวลากว่า 2 ปี จากวิกฤตโควิด –19 เป็นเวลากว่า 2 ปี และดูเหมือนว่ากำลังจะฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง เหมือนกับต้นไม้ใบหญ้าแห้งเหี่ยว ที่ได้รับสายฝนอันชุ่มฉ่ำ เตรียมผลิดอกก้านใบเพื่อก้าวต่อกับท้องฟ้าที่ดูท่าทางจะแจ่มใส แต่ทว่าเหมือนเมฆหมอกแห่งความมืดมัว กำลังตั้งเค้ามาอีกครั้ง กับแนวทางการจัดเก็บ“ค่าเหยียบแผ่นดิน” คนละ 300 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
ข่าวน่าสนใจ:
- รับสมัคร นายกอบจ.-ส.อบจ.ตรัง วันแรกคึกคัก! บ้านใหญ่ตระกูลโล่ฯ-ส.ส.ตรังทุกพรรค-กองเชียร์นับพัน แห่ให้กำลังใจ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” สู้ศึกอีกสมัย…
- สงขลา รวบเเล้ว "เเม่ใจร้าย"นำลูกเเรกคลอดยัดใส่ถุงดำทิ้งถังขยะ รอสอบสวนสาเหตุเบื้องลึก
- สงขลา ไม่ทันลืมตาดูโลก! พบศพทารกเพศชายยัดถุงดำ ถูกทิ้งถังขยะ ย่านเมืองท่องเที่ยว
- ตรัง "เมนูลูกปลาปิ้งเครื่อง" จับปลาสดๆจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย
ทำไมต้องมีการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน
นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขยายความถึงสาเหตุที่ต้องเก็บ ค่าเหยียบแผ่นดิน ว่า มี 4 ประการหลัก ๆ คือ
1. กันเป็นงบที่ใช้ดูแลเยียวยานักท่องเที่ยว เช่น การเกิดอุบัติเหตุ
2. ใช้ในการบริหารด้านสาธารณสุขกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
3. ให้มีงบประมาณในการดูแลแหล่งท่องเที่ยว ที่เกิดความเสื่อมโทรมจากการท่องเที่ยว
4. เป็นทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการท่องเที่ยว ขยายขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรม การพัฒนาทักษะด้านการบริหาร-การตลาด ส่งเสริมสินค้าด้านการท่องเที่ยวใหม่ ๆ รวมทั้งการจัดให้มีการประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ
ในส่วนของการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ได้เลื่อนจากกำหนดเดิม ที่จะเริ่มจัดเก็บในเดือนเมษายน 2565 และเลื่อนเป็นเดือนมิถุนายน 2565 และสุดท้ายคาดว่าจะจัดเก็บในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2565 โดยการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.นโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2562 เพื่อนำเงินมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและดูแลสวัสดิการนักท่องเที่ยวต่างชาติ
โดยการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน คนละ 300 บาท แบ่งเป็นวงเงิน 50 บาท ไปจัดซื้อประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยว กรณีเกิดอุบัติเหตุจะครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท และกรณีเสียชีวิต จะได้รับชดเชย 1 ล้านบาท มีระยะเวลาคุ้มครอง 45 วัน เพื่อช่วยลดภาระงบประมาณด้านสาธารณสุข ส่วนที่เหลือจะเก็บไว้ในกองทุนนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งจะพิจารณาว่านำเงินไปใช้อะไรได้บ้าง โดยเฉพาะนำไปส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้สามารถแข่งขัน และสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
นายสิทธิพงษ์ สิทธิภัทรประภา หรือ ดร.อ๋อง นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่ – สงขลา บอกว่าการเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดินกับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาทุกคน ซึ่งไม่มีการยกเว้น อาจจะสร้างปัญหาให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งบางส่วนเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับ ต้องจ่ายคนละ 300 บาท คราวนี้ใครอยากจะเดินทางเข้าประเทศ ผลเสียจะเกิดขึ้นกับเมืองชายแดนที่กำลังฟื้นตัวอย่างแน่นอน
แหล่งข่าวบอกว่า จังหวัดสงขลามีด่านพรมแดนที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย 3 แห่ง คือด่านบ้านประกอบ อ.นาทวี ด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา มีชาวมาเลเซียเดินทางเข้ามาจับจ่ายใช้สอย และรับประทานอาหาร แบบวันต่อวันเยอะมาก โดยเฉพาะช่วงเย็นๆ ประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็กลับ หลังจากที่มีการเข้มงวดในเรื่องหนังสือเดินทาง ก็ทำให้นักท่องเที่ยวหรือชาวมาเลเซียกลุ่มนี้ หายหน้าหายตาไปพอสมควรแล้ว จะมีการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน คนละ 300 อีก มีหวังเมืองเงียบแน่
ก็คงต้องรอลุ้นกันว่า จะมีการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน 300 บาท ตามกำหนดที่ว่าไว้หรือไม่ สำหรับเดือนนี้ ส.ค คงไม่ทันล่ะ ลุ้นเดือน ก.ย. ต่อ นักท่องเที่ยวจะหายหรือไม่ จะจัดเก็บทุกคนโดยไม่มีการยกเว้น หรือจะมีรายละเอียดอื่นๆอีกหรือไม่ ต้องติดตาม
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: