สงขลา-สะเดา เส้นทางมรณะ ( EP 1 ) ถนนกาญจนวิช สายสะเดา-ด่านพรมแดน ทั้งไปและกลับ ถูกรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ยึดไหล่ทาง เป็นที่จอดทั้งกลางวันและกลางคืน จนทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งทั้งบาดเจ็บเล็กน้อย จนถึงขั้นสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ หน้าที่ใครทำไมไม่ทำ เพราะเหตุผลใด
ถนนกาญจนวนิช ช่วงสะเดา –ด่านพรมแดน ด่านพรมแดน –สะเดา ระยะทาง 12 กิโลเมตร เป็นเส้นทางสายหลักที่ด้านหนึ่งก็เชื่อมต่อไปยังรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ส่วนอีกด้านหนึ่งก็มุ่งสู่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งมักจะมีการจราจรที่คับคั่ง มีทั้งประชาชนชาวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ใช้เดินทางสัญจรไปมา
ด้วยความที่เป็นเส้นทางหลักติดต่อไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ จึงเป็นเส้นทางที่มีรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ ทั้งรถพ่วง 18 ล้อ 22 ล้อ รถเทรลเลอร์ ต้องใช้เส้นทางนี้ ซึ่งมีข้อมูลว่าในบางวัน มีรถบรรทุกขนาดใหญ่เหล่านี้ ขนสินค้าเข้า-ออก เป็นจำนวนมากกว่า 1 พันคัน
ข่าวน่าสนใจ:
จนเป็นเหตุให้ส่งผลกระทบต่อการจราจรในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 7 ต.สำนักขาม ยามชั่วโมงเร่งด่วนจะพบเห็นภาพรถติดยาวเป็นกิโลฯ จะเกิดจากเหตุผลใดไม่อยากจะกล่าว แต่ปัญหาที่พบคือ ความมักง่ายของคนขับหรือโชเฟอร์ ที่บางคนบางคัน ขับไม่เว้นช่องให้รถอื่นๆไปได้ ถนนสี่เลนคือยึดหมด ขับและจอดปิดจุดกลับรถ จนทำให้เกิดรถติด นี่เป็นปัญหาของคนในพื้นที่ที่ทำได้คือโพสต์ระบายกันในโลกโซเชี่ยล ( แต่ไม่มีอะไรสะเทือน )
มีหนักกว่าคือการที่รถขนาดยักษ์เหล่านี้ ยึดไหล่ทางเป็นที่จอดทั้งกลางวันกลางคืน จอดซ้อนคัน ( เท่ากับสองคัน ) วันดีคืนดีจอดซ้อน 3 มันซะเลย เหลือให้รถอื่นไปได้เลนเดียวก็พอแล้วว่างั้น !!!
ภาพรถบรรทุกจอดซ้อนคันมีให้ชาวประชา เห็นทั้งกลางวันและกลางคืน ที่เป็นส่วนพ่วง ( หาง ) ก็มี จอดแล้วคนขับไปหลบนอนอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ บ่อยครั้งที่เกิดเหตุรถจักรยานยนต์ รถยนต์ เสียหลักพุ่งชนท้ายรถเหล่านนี้ โดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่แสงสว่างไม่เพียงพอ หรือคนที่ไม่ทันสังเกต เฉลี่ยเดือนละ 2-3 ครั้ง และค่อนข้างถี่มากในเดือนสองเดือนที่ผ่านมา โชคดีก็บาดเจ็บเล็กน้อย คางเหลือง หนักสุดก็เสียชีวิต
ถามว่ามีใครหน้าไหนเข้ามาแก้ไขในเรื่องนี้บ้าง ตอบว่าพอมี แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เรื่อง คือเหมือนเดิม จอดกันเหมือนเดิม บางที่ก็มีผู้ควบคุมกฎฯ เวียนมาจดๆ ถ่ายรูป ปรับเท่าไหร่ไม่รู้ สถานที่เดิมๆ บางคันไปโบกเข้าเดี่ยวก็มีการยกโทรศัพท์ !!! ซึ่งตรงจุดนี้น่าเห็นใจคนทำงาน คนที่โทรมาคุยหรือเคลียร์ได้นี่ไม่ธรรมดา แต่อีกอย่างคือรถบางคันบางบริษัท ทางเจ้าของเขาถึงกับนาย นัยว่ามีดูแลกันอยู่ ทีนี้พอผู้คุมกฎฯไปปั๊บ อ้าวของบริษัทนี้มีอยู่ในระบบแล้ว “ปล่อยสิทำอะไรได้” แต่คันที่ไม่มีแบบที่ว่า “โดน”
ว่ากันถึงเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่กว่าจะคุยกันจบ คนเคราะห์ร้ายได้มีกี่บาท จะเอาอะไรไปสู้กับเขา รถเหล่านี้เป็นรถบริษัทที่ทำประกันคุ้มครอง มีทนายประจำบริษัท มีกูรูท่านนึงบอกว่าเจ้าของบริษัทมักจะมีข้อตกลงกับบริษัทประกันฯ ซึ่งมีการซื้อประกันเพิ่มนอกเหนือจากปกติ ประมาณว่าเพิ่มเงินอีกนิดหน่อย แต่เพิ่มออปชั่นการประกันครอบคลุมหมด จะชนใครเหยียบใคร ใครมาชน ซ่อมรถคู่กรณี ประกันจ่ายฯ ซึ่งนี่แหละที่ทำให้คนขับรถเหล่านี้ (ไม่ทุกคน) มักจะย่ามใจ เพราะตัวเองไม่เดือดร้อน กูรูบอก
กูรูท่านเดิมยังขยายเพิ่มเติม หากกรณีเกิดอุบัติเหตุ รถบรรทุกมักจะมีภาษีกว่าชาวบ้านที่เป็นคู่กรณี ยิ่งเป็นรถของบริษัทที่ดูแลกันอยู่กับระดับๆบางหน่วยงาน รวมถึงประกันฯตัวดี ประมาณว่าน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ส่วนมากจะถูกกล่อมจนได้ไม่กี่บาท หรือไม่ได้เลย มากกว่าที่จะมองถึงความเดือดร้อน เห็นอกเห็นใจตามหลักมนุษยธรรมที่ควรมี ( ติดตามต่อ EP 2 )
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: