สงขลา-สะเดา หลายหน่วยงานลงพื้นที่ เร่งช่วยเหลือเยียวยาเด็ก 5 ขวบ พัฒนาการช้า มีอาการชักเกร็งกระตุก หลังฉีดวัคซีนเด็กตามเกณฑ์ เมื่อตอนอายุ 5 เดือน ขณะที่ทีมแพทย์คาดไม่เกิน 2 ปี หายเป็นปกติได้ หากได้รับการรักษาดูแลที่ดี
29 พ.ย. 65 นายแพทย์ สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดสงขลา,สาธารณสุขอำเภอจะนะ และเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ไปยังบ้านเลขที่ 58/1 หมู่ที่ 1 ต.ท่าหมอไทร อ.จะนะ จ.สงขลา
พบกับ น.ส.ยุพดี ดอเลาะ อายุ 27 ปี แม่ของเด็กชาย เอินฮัม หมันเหล้ม อายุ 4 ปี 2 เดือน หลังจากที่ น.ส.ยุพดีฯ ได้ร้องเรียนกับสื่อมวลชนว่า ลูกชายของตนเข้ารับการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ ที่ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าหมอไทร เมื่อตอนอายุ 5 เดือน 8 วัน แล้วมีอาการชักกระตุก เกร็ง ตาเหลือก น้ำลายฟูมปาก มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กปกติในวัยเดียวกัน ทำให้ได้รับผลกระทบไม่สามารถเข้าโรงเรียนได้
ข่าวน่าสนใจ:
แต่เจ้าหน้าที่ที่ฉีดวัคซีนดังกล่าวให้กับลูกชายของตน กลับไม่เหลียวแล ไม่มาให้การช่วยเหลือแต่อย่างใด ซึ่งตนและครอบครัว ต้องนำบุตรชายเข้ารับการรักษาที่ รพ.จะนะ และส่งไปต่อรักษาที่ รพ.สงขลา ซึ่งแพทย์ก็วินิจฉัยว่า เกิดจากอาการข้างเคียงของการฉีดวัคซีน
ทำให้ลูกชายต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง และแพทย์ก็ปรับยากันชักให้ จนทำให้ขณะนี้ อาการเริ่มดีขึ้น อาการชักน้อยลง และลูกชายก็กลับมาเดินเกือบจะปกติ แต่ยังไม่สามารถพูดเป็นคำได้ เหมือนเด็กในวัยเดียวกัน ทั้งนี้ทีมแพทย์ ได้ตรวจอาการของเด็กชาย อินฮัมฯ ก็ยังไม่พบความผิดปกติในร่างกาย กล้ามเนื้อก็แข็งแรง ปอดและหัวใจก็ทำงานตามปกติ
นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ บอกว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ พม.สงขลา เข้ามาดูแลเด็กชายคนดังกล่าว อาการไม่น่าเป็นห่วงมาก ซึ่งที่ผ่านมา มีอาการชักต่อเนื่อง แต่ล่าสุดทางแม่ของเด็กบอกว่าไม่ได้มีอาการชักมา 3-4 เดือนแล้ว หลังจากได้รับยาจาก รพ.สงขลา และระดับยาคงที่ จนสามารถควบคุมอาการชักได้ เด็กไม่มีอาการซึมเกินไป ถือเป็นสัญญาณที่ดี
แต่มีปัญหาที่พัฒนาการช้าไป เพราะเด็ก 4 ขวบ ที่ขณะนี้เดินได้ แต่ยังไม่คล่อง ขณะที่มือ ยังทำงานใช้การได้ไม่เต็มที่ และยังพูดไม่ได้ ซึ่งต้องเน้นพัฒนาการด้านสติปัญญา และกล้ามเนื้อ
ซึ่งหลังจากนี้จะต้องช่วยกันส่งเสริมพัฒนาการในชีวิตประจำวัน เช่น การหาของเล่น ที่จะช่วยให้เด็กหยิบจับ เพื่อให้มือทำงานได้มากขึ้น หรือ การกินข้าว ให้ใช้มือจับช้อนด้วยตัวเอง หรือ การหานักจิตวิทยา และนักกายภาพบำบัด จาก รพ.จะนะ เข้ามาดูแลเยียวยา ให้เด็กได้มีพัฒนาการทางสมองได้เร็วขึ้น และเมื่อถึงวัยสมควร ก็สามารถนำเข้าเรียนที่โรงเรียนเด็กพิเศษ ของ อ.จะนะได้
ส่วนสาเหตุ ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดจากวัคซีน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ที่เด็กทุกคนต้องได้รับการฉีดเมื่อถึงเกณฑ์ ซึ่งวัคซีนสามารถทำให้เกิดภาวะสมองอักเสบ หรือ ชักเรื้อรังได้ แต่ไม่ได้เกิดกับทุกคน อาจจะ 1 ต่อแสนคน หรือ 1 ต่อ 5 หมื่นคน ซึ่งใน จ.สงขลา เด็กที่มีภาวะแบบนี้มีน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะเกิดจากภาวะติดเชื้อ หรือ กรรมพันธุ์
ทั้งนี้ เด็กยังมีโอกาสที่จะหายเป็นปกติได้ โดยการควบคุมภาวะชัก และหากกินยาต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี ก็จะลดยาหรือหยุดยาได้ พร้อมกับการดูแลด้านพัฒนาการควบคู่กันไป และหากส่งเสริมกระตุ้นที่ดีก็จะหายกลับมามีพัฒนาการได้เหมือนกับเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 ปี
ด้าน นางสาวสุพัตรา ดิสระ ฝ่ายเยียวยา พม.สงขลา เผยว่า จากการพูดคุยกับแม่ของเด็ก ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ ค่าใช้จ่ายในการนำลูกไปพบแพทย์ที่ รพ.สงขลา หรือ ค่าใช้จ่ายในการซื้อแพมเพิซ และการดูแลเด็กรายวัน ซึ่ง พม.จะเร่งดำเนินการเงินสงเคราะห์ครอบครัว และแผนระยะยาว ต้องนำเข้ากองทุนคุ้มครองเด็ก เนื่องจากครอบครัวนี้มีลูกที่ต้องดูแล 3 คน ส่วนการนำเข้าเรียนในโรงเรียน ต้องให้เด็กฝึกพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีขึ้นจากที่บ้านก่อน โดยจะใช้ระยะเวลาฝึก 2 ปี หากดีขึ้นแล้วก็จะเข้าเรียนได้ตามเกณฑ์ปกติ
ขณะที่ น.ส.ยุพดี ดอเลาะ ก็ดีใจและขอบคุณหลายหน่วยงานเข้าให้ความช่วยเหลือ และมารับผิดชอบพร้อมเยียวยาเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งจะมีการเยียวยาค่าใช้จ่ายในการลูกชายไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดูแลลูก ส่วนพัฒนาการลูกก็ต้องดำเนินการไป พร้อมกับคำแนะนำของแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ ส่วนตนก็ต้องทำการบ้านในการรักษาลูก รวมทั้งการนำตัวเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการรักษา และทำกายภาพให้พัฒนาการดีขึ้น
ซึ่งขณะนี้อาการของลูกชายดีขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ถดถอย เดินไม่ได้ แต่ขณะนี้กลับมาเดินได้แล้ว ยิ้มได้ และคาดว่าไม่เกิน 2 ปี จะกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งตนก็จะทำหน้าที่แม่อย่างเต็มที่ ให้ลูกหายเป็นปกติ “ขอขอบคุณทุกๆคนทุกๆหน่วยงาน ที่ได้ให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจขอขอบคุณสื่อมวลชน ที่ได้ช่วยนำเสนอเรื่องของน้อง” น.ส.ยุพดีฯ บอก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: