สงขลา-สะเดา น้ำท่วมหนักสะเดา กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง 16 ราย รวม 100 กระชัง ได้รับความเสียหายปลาตายกือบหมด บางรายกระชังหลุดไปพร้อมกับปลา สูญเงินรายละหลายแสน หวังขายช่วงปีใหม่
ตายยกกระชัง
2 ธันวาคม 2567 จากสถานการณ์อุทกภัยเกือบทุกพื้นที่ใน อ.สะเดา รับผลกระทบอย่างหนักจากฝนที่ตกหนักและน้ำท่วม กระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก ส่งผลให้กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชังในคลองอู่ตะเภา หมู่ที่ 7 บ้านม่วงก็อง ตำบลพังลา ซึ่งเป็นเเหล่งเลี้ยงปลากระชัง (ปลาน้ำจืด)ที่ใหญ่ที่สุดในจังจังหวัดสงขลา เนื้อปลาได้มาตรฐานของกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ GAP ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง
ข่าวน่าสนใจ:
เบื้องต้นพบว่ามีผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ที่จัดตั้งเป็น “ กลุ่มวิสาหกิจผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเพื่อการผลิตบ้านม่วงก็อง” สมาชิกจำนวน 16 ราย มีจำนวนกระชัง 100 กระชัง ปลาที่เลี้ยงไว้ตายเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล คาดว่ามูลค่าความเสียหายรวมหลักล้านบาท
ปลากดเหลือง ขนาด 2-3 ตัวต่อ 1 กก.
โดยส่วนใหญ่ผู้เลี้ยงปลาเหล่านี้วางแผนจะจับปลาเพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้แผนการดังกล่าวต้องพังทลายลง สร้างความเดือดร้อน ความรู้สึกผิดหวังให้กับผู้เลี้ยงปลาเป็นอย่างมาก
ปลานิลขนาดตัวละ 1 กก.
ซึ่งผู้เลี้ยงปลารายหนึ่งได้พาผู้สื่อข่าวไปดูที่บริเวณกระชัง พบว่าแต่ละกระชังมีปลาลอยตายเป็นแพ เริ่มส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง โดยแต่ละกระชังจะเลี้ยงปลาประมาณ 800 – 1,000 ตัวหลายๆกระชังตายทั้งหมด บางกระชังก็มีเหลือเพียงเล็กน้อย
นายชำนาญ ชุมประยูร ประธานกลุ่มฯ และนายสมพงค์ ซังเอียด ประชาสัมพันธ์กลุ่มฯ บอกว่าน้ำท่วมครั้งนี้ ผู้เลี้ยงปลาได้รับผลกระทบทุกเจ้าน้อยบ้าง เยอะบ้าง บางรายก็เสียหาย 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปลาที่เลี้ยงในกระชังจะมีปลานิล ปลาทับทิม ปลากดเหลือง ปลาสวายและปลาดุก
“ที่เห็นจะเป็นปลานิลขนาดน้ำหนักตัวละประมาณ 1 กก. ปลากดเหลืองขนาด 2-3 ตัวต่อ 1 กก.ซึ่งจะเลี้ยงกันเป็นรุ่นๆไม่พร้อมกันทั้งนี้เพื่อให้สามารถขายได้ตลอดเวลาที่เลี้ยง จะจับปลาขายได้ปีละ 2 รอบ สำหรับปลาที่ตายผู้เลี้ยงส่วนใหญ่จะจับขายในช่วงปีใหม่ที่จะถึงนี้”
นายสมพงค์ ซังเอียด ประชาสัมพันธ์กลุ่มฯ บอกเพิ่มเติมว่า ในส่วนของตัวเองเลี้ยงปลาไว้ 4 กระชัง สามารถจับปลาขายได้รอบละประมาณ 2.5 แสนบาท ซึ่งจะมีกำไร 30 เปอร์เซ็นต์ แต่จากเหตุการณ์น้ำท่วมก็สูญรายได้ทั้งหมด หากคิดความเสียหายโดยรวมทุกเจ้า ก็ประมาณ 6 – 7 ล้านบาทเลยทีเดียว ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ทางประมงจังหวัดสงขลา ได้ลงพื้นที่อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายอย่างละเอียด เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบต่อไป
ผู้เลี้ยงปลาคนหนึ่งบอกว่า สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เจ้าของกระชังไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ปลาที่ตายเป็นเพราะกระแสน้ำที่ไหลแรง มีเศษหญ้ามาติดที่กระชัง ปกติปลาจะว่ายทวนน้ำแต่พอกระแสน้ำแรง และท่วมยาวนานเป็นวันๆ ปลาก็จะหมดแรงและตาย ในส่วนที่เหลือก็อาจจะเป็นแผล และก็จะตายในที่สุด หากถามว่าทำไมรู้ว่าน้ำจะท่วมแล้วไม่จับปลาก่อน เอาจริงๆ น้ำมาเร็วผู้เลี้ยงจับไม่ทัน ส่วนลักษณะน้ำท่วมจนปลาตายในครั้งนี้นับเป็นครั้งใหญ่ในรอบ 14 ปี หลังจากที่เคยสูญเสียจากเหตุการณน้ำท่วมหนักในปี 2553
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: