สงขลา-สะเดา ตลาดหัวลำโพง ศูนย์รวมสินค้าแหล่งชอปปิ้งเมืองชายแดนสะเดาไทย-มาเลเซีย ความทรงจำอันรุ่งโรจน์ในอดีต ที่กำลังจางหาย และอาจกลายเป็นเพียงลมหายใจเฮือกสุดท้าย
เคยรุ่งเรืองคึกคัก ผู้คนพลุกพล่าน เสียงเอะอะโวยวาย การต่อรองราคา กลิ่นอายของความเป็นเมืองชายแดนที่ผสมผสานวัฒนธรรม สินค้าหลากหลาย โดยเฉพาะเสื้อผ้ามือ นาฬิกา แว่นตา แหวน หรือเครื่องแต่งกายชาย-หญิง ตั้งแต่ศรีษะจรดเท้า สิ่งของสวยๆงามๆประดับบ้านฯลฯ
นั่นคือ “ตลาดหัวลำโพง” ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณซอย 4 ไทย-จังโหลน เขตเทศบาลตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ที่ๆเคยดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้คนทั้งสองฝั่งประเทศ สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับคนในพื้นที่ เป็นภาพที่คุ้นเคย เป็นความทรงจำที่สวยงาม ของใครหลายคน
แต่แล้ว…โควิด-19 ก็เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง การปิดประเทศ การจำกัดการเดินทาง ทำให้ตลาดนัดเงียบเหงาลง ผู้คนหายไป แผงค้าร้าง ความคึกคักลดน้อยลง จนแทบจะเรียกได้ว่ากำลังจะกลายเป็นอดีต และนั่นคือเหตุผลสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดแห่งนี้ นอกจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ดีที่สั่นคลอนอยู่ก่อนหน้านั้นราว 2-3 ปี
ปัจจุบัน แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลงแล้ว แต่ตลาดก็ยังไม่สามารถกลับคืนสู่ความรุ่งเรืองได้เหมือนเดิม หลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค การแข่งขันทางธุรกิจ และการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ที่ทำให้ผู้คนหันไปซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการเติบโตของเมือง ที่มีร้านค้าผุดขึ้นกระจายเป็นวงกว้าง ทำให้มีการแย่งชิงทางการค้า ส่วนหนึ่งเป็นไปได้ว่าผู้คนยุคใหม่จะไม่รู้จักตลาดแห่งนี้เลย
คุณ คธาวุธ พิพัฒน์วณิชย์ เจ้าของแผงรายหนึ่งบอกว่า ในตลาดหัวลำโพงสมัยก่อนมีทั้งหมด 70 กว่าเจ้า ตอนนี้ที่เปิดๆอยู่ประมาณ 10 เจ้าเท่านั้นเปิดร้านมานานกว่า 30 ปี สินค้าในร้านเป็นของใหม่มือ 1 มีหลายอย่างทั้งเสื้อผ้า ผ้าขนหนู กางเกงยีนส์ เสื้อยืดเสื้อเชิ้ต ชุดชั้นใน ผ้าปูที่นอนผ้าห่ม ชุดเด็ก ยุคที่ตลาดเฟื่องฟูประมาณปี 2531-2550
“วันนึงขายได้เป็นหมื่น แล้วเริ่มตกต่ำในช่วงก่อนโควิดฯประมาณ 3-4 ปี แม้หลังจากโควิดฯคลี่คลายก็ไม่เหมือนเดิม บางวันขายไม่ได้หรือไม่ได้ประเดิมเลยก็มี แต่ที่ยังยืนหยัดอยู่ได้เพราะเป็นบ้านหรือร้านของตัวเอง ไม่ต้องเช่า ซึ่งคนที่จะมาเปิดร้านใหม่คือไม่มีแล้ว”
คิดว่าสาเหตุที่ทำให้คนไม่มาตลาดแห่งนี้เป็นเพราะอะไร
อาจจะเป็นเพราะว่ามีร้านเปิดใหม่เยอะ หรือว่าออนไลน์เยอะ และอาจเป็นเพราะร้านที่นี่เปิดน้อย คนก็เลยมาน้อยลง และกลุ่มลูกค้าใหม่ๆก็จะไม่ทราบด้วยว่าที่นี่เป็นตลาดเก่า ลูกค้าส่วนใหญ่ที่นี่จะเป็นคนอินเดียเนื่องจากเขาชอบมาซื้อสินค้าในร้าน ชนิดที่ว่ามาที่เดียวแต่ได้ของครบทุกอย่าง ส่วนอนาคตก็ต้องดูไปเรื่อยๆ หากยังพอมีลูกค้าแวะเวียนมาก็พออยู่ได้
ในช่วงรุ่งเรืองสุดๆเป็นอย่างไร
คุณ กิมจู้ พิพัฒน์วณิชย์ บอกเสริมว่าสมัยก่อนนั้นขายดีมาก เริ่มเปิดร้านตั้งแต่ประมาณ 7 โมงเช้า (วันหยุดหรือวันสำคัญต่างๆ) ก็จะไม่ได้หยุดเลย ข้าวแทบไม่ได้กิน ต้องหาซื้อขนมมาวางไว้ เสื้อผ้าที่จัดหรือแขวนไว้จะขายหมดจนเกลี้ยง วันนึงขายได้ถึง 5 หมื่นบาทเลยทีเดียว
ทางด้านเจ้วรรณ บอกว่า ของที่นำมาขายส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีความชอบเป็นส่วนตัว จำพวกสิ่งของสวยๆงามๆสำหรับประดับบ้าน พวกโมบายแขวนสวยงาม โมบายกระดิ่ง งานภาพวาด งานฝีมือของชาวบ้านทางภาคเหนือ ทางภาคอีสานบ้าง งานเรซิ่น สำหรับการค้าขายในยุคนี้ต้องเรียกว่าซบเซา จากเคยมีอยู่ 100 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เหลืออยู่เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ อาทิตย์นึงต้องมี 3 วัน 4 วัน
ที่เปิดขายอยู่เพราะสินค้าเรามีอยู่ ถ้าหากเราไม่มาเปิดเลยเราก็ไม่รู้จะระบายสินค้าไปไหน ถ้าเรายิ่งไม่เปิดเราก็จะยิ่งไม่มีลูกค้าเข้าไปอีก เราจึงต้องพยายามยืนหยัดและพยายามรวมตัวเพื่อที่จะให้เค้ามาเห็นว่า ที่นี่ยังมีร้านเก่าที่สมัยก่อนเขาเคยมาอยู่นะ ลูกค้าเก่าๆที่เคยมาจะได้บอกต่อว่ายังมีร้านอยู่นะ
“คิดว่ามาดูแลบ้านอีกหลังนึง หากเรานั่งอยู่ที่บ้านเฉยๆไม่มาเปิดเลย ก็เท่ากับว่าเป็นศูนย์ไม่มีรายได้เลย แต่มาที่นี่ก็ยังพอได้ค่ากับข้าวบ้าง ได้มาดูแลสินค้าที่ยังมีอยู่ คือเราผูกพันเราทำมาตั้งแต่ไหนแต่ไร คือเกิน 30 ปีแล้ว แต่กระนั้นหลายๆคนยังไม่รู้ว่าที่นี่มีตลาด แม้แต่คนที่มาอยู่ในพื้นที่หลายๆปี”
ก็คิดอยากให้ทางหน่วยงาน หรือเทศบาลฯมาช่วยโปรโมทช่วยประชาสัมพันธ์ให้ว่าที่นี่ยังมีตลาดอยู่นะ หรือว่าช่วยอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับที่จอดรถ ซึ่งน่าจะไม่เกินความสามารถของหน่วยงาน ซึ่งตอนนี้ที่เปิดอยู่ทุกคนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ผู้เช่า เพราะหากเป็นผู้เช่าคงจะอยู่ไม่ได้ จะหาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าเช่า
นั่นคือเรื่องราวของตลาดหัวลำโพง ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ อนาคตจะเป็นอย่างไร ยังคงต้องติดตาม แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ ความทรงจำ ความรุ่งเรืองในอดีต จะยังคงอยู่ในใจของผู้คนที่เคยสัมผัส และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองชายแดนแห่งนี้ ที่ยุคปัจจุบันไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปเหลียวแล แม้ผู้สื่อข่าวพยายามถามว่าต้องการอะไรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรืออยากจะให้ความช่วยเหลืออย่างใด ได้คำตอบคือเขาต้องการเพียงแค่ไฟส่องสว่างในยามกลางคืนเท่านั้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: