X

กรมวิทยาศาสตร์บริการจับมือราชภัฎบุรีรัมย์ยกระดับสิ่งทอพื้นถิ่นหวังเพิ่มยอดขาย

กรมวิทยาศาสตร์บริการ จับมือมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์  ให้ความรู้เทคนิควิธีการย้อมผ้า  ออกแบบลวดลาย และแปรรูป กลุ่มทอผ้าไหม-ผ้าฝ้ายที่บุรีรัมย์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด  เพื่อมุ่งยกระดับผลิตภัณฑ์โอท็อปเป้าหมาย 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ หวังสร้างมูลค่าเพิ่มและกระตุ้นยอดขายให้มากขึ้น

(9 ก.ย.61) ดร.จันทร์เพ็ญ   เมฆาอภิรักษ์   รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  พร้อมคณะฯ  และอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์   ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลการดำเนินงานของกลุ่มสตรีทอผ้าไหม-ผ้าฝ้าย หมู่บ้านเจริญสุข  ต.เจริญสุข  อ.เฉลิมพระเกียรติ และกลุ่มทอผ้าไหมบ้านปะทัดบุ อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์    ภายหลังจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ  ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์  ในการร่วมกันพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าหรือสิ่งทอพื้นถิ่นในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์  ภายใต้โครงการยกระดับ OTOP ใน 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ

โดยในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีเป้าหมายร่วมกับม.ราชภัฎดำเนินการยกระดับผลิตภัณฑ์สิ่งทอพื้นถิ่น  12 อำเภอ คือ อ.เฉลิมพระเกียรติ  แคนดง  บ้านด่าน  บ้านใหม่ไชยพจน์    ชำนิ   พลับพลาชัย  หนองหงส์   นาโพธิ์   ปะคำ   สตึก  ลำปลายมาศ และ อ.พุทไธสง   ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด  สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไหม -ผ้าฝ้าย   และสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มมากขึ้น

โดยการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน กลุ่มสตรีทอผ้าไหม-ผ้าฝ้าย หมู่บ้านเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ และกลุ่มทอผ้าไหมบ้านปะทัดบุ อ.พลับพลาชัย  ภายหลังจากมีการถ่ายทอดความรู้ เทคนิควิธีการย้อมสีผ้าโดยเน้นสีธรรมชาติที่ไม่ส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  รวมถึงการออกแบบลวดลาย และแปรรูปแก่กลุ่มผู้ผลิตไปแล้วก่อนหน้านี้   ก็พบว่ามีการพัฒนาทั้งสี  ลวดลายที่มีคุณภาพและมีความหลากหลายมากขึ้น   ทำให้มียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มขึ้นจากเดิม   ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในการดำเนินโครงการในระดับหนึ่ง

ดร.จันทร์เพ็ญ   เมฆาอภิรักษ์   รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ   กล่าวว่า  เป้าหมายของโครงการยกระดับ OTOP ใน 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ ที่ทางกรมวิทยาศาสตร์การบริการดำเนินการในครั้งนี้   เพื่อต้องการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ผลิตสินค้า OTOP ประเภทผ้า สิ่งทอพื้นถิ่น และผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร หรือผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ  โดยจะมีการผลักดันและสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปพัฒนากระบวนการผลิต และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมาตรฐาน  สอดคล้องกับความต้องการของตลาด   และสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้เพิ่มมากขึ้น

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน