โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด และคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รุกให้ความรู้เรื่องโรคน้ำคั่งในโพรงสมองผู้สูงอายุ แก่ประชาชนทั่วไป อาสาสมัครสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล สหสาขาวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล เพื่อลดภาวะเสี่ยงความจำเสื่อมและทุพพลภาพ หลังพบแนวโน้มอัตราป่วยในกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น
(2 ส.ค.62) โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ และคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมวิชาการ “เรื่องโรคน้ำคั่งในโพรงสมองผู้สูงอายุ” สัญจร ที่ห้องประชุม 901 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลบุรีรัมย์ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนและสังคม เกี่ยวกับอาการและการรักษาผู้ป่วยโรคน้ำคั่งในโพรงสมอง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนทั่วไป อาสาสมัครสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล สหสาขาวิชาชีพ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรคน้ำคั่งในโพรงสมองได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็ว ยังผลให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทำให้ผู้ป่วยโรคน้ำคั่งในโพรงสมองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ความเชี่ยวชาญและขีดความสามารถในการบริการรักษาโรคนี้ ในโรงพยาบาลกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย ซึ่งการออกเผยแพร่ให้ความรู้ประชาชนอย่างกว้างขวาง ก็จะสามารถลดอัตราเสี่ยงจากอาการความจำเสื่อม และทุพพลภาพในกลุ่มผู้ป่วยโรคดังกล่าวได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์ประจักษ์ ศรีรพีพัฒน์ หัวหน้าสาขาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า โรคน้ำคั่งในโพรงสมอง เป็นภาวะความผิดปกติทางสมองที่พบได้เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นโพรงน้ำในสมองมีขนาดใหญ่ขึ้นไปกดเบียดเนื้อสมอง ทำให้สมองทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ป่วยเป็นภาวะน้ำคั่งในสมองหลายแสนคนในประเทศไทย อาการที่พบบ่อย คือ การเดินผิดปกติ ช้าลง ก้าวขาไม่ออก ยกขาไม่พ้นพื้น เดินซอยเท้า ทรงตัวไม่ดี ล้มบ่อย บางรายกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เข้าห้องน้ำไม่ทัน หนักขึ้นจะเริ่มพูดน้อย เสียงเบา สำลักน้ำและอาหารบ่อย ความจำเสื่อมลง โรคนี้เมื่อปล่อยทิ้งไว้อาจนำมาซึ่งทุพพลภาพในอนาคตจากการหกล้ม เลือดออกในสมอง การสำลักอาหารทำให้ปอดติดเชื้อ อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจตลอดจนเดินไม่ได้ ข้อติด แผลกดทับ และเสียชีวิตในที่สุด
ดังนั้น การให้ความรู้แก่ประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ก็จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงผู้ป่วยได้รู้จักโรคนี้มากขึ้น สามารถวินิจฉัยโรคและให้การรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันหรือหยุดการดำเนินของโรคที่อาจนำมาซึ่งภาวะทุพพลภาพที่จะเกิดกับผู้ป่วยได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: