กาญจนบุรี-เขื่อนวชิราลงกรณ ได้เอื้อและอำนวยประโยชน์อย่างมากมายต่อประเทศชาติ ควบคู่ไปกับการดำเนินงาน ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ครบรอบ 32 ปี รัฐพิธีเปิดเขื่อนวชิราลงกรณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนเขาแหลม อย่างเป็นทางการ ในวันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ.2529 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “เขื่อนวชิราลงกรณ” ตามพระนามาภิไธยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร แทน ชื่อ “เขื่อนเขาแหลม” เมื่อวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2544เขื่อนวชิราลงกรณ เป็นเขื่อนเอนกประสงค์ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของแผนพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลองมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่กว้างใหญ่ของลุ่มน้ำแม่กลองแล้วยังอำนวยประโยชน์สำคัญในด้านการผลิตไฟฟ้าและด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เขื่อนวชิราลงกรณ เป็นเขื่อนหินถมแห่งแรกของประเทศไทย ที่ดาดผิวหน้าด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่บนแม่น้ำแควน้อย ในท้องที่ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี การก่อสร้างเริ่มในเดือน มีนาคม พ.ศ.2522 แล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2527 ความสูงจากฐานเขื่อน 92 เมตร สันเขื่อนกว้าง 10 เมตร เขื่อนมีความยาว 1,019 เมตร ระดับสันเขื่อนสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) +161.75 เมตร ปริมาตรหินถม ตัวเขื่อน 8.1 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำอยู่ในท้องที่อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่รับน้ำฝน 3,720 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง เฉลี่ยปีละ 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำเก็บกักปกติ 8,860 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับ +155.00 เมตร (รทก.) โรงไฟฟ้าเป็นอาคารคอนกรีต เสริมเหล็กติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 100,000 กิโลวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง รวมกำลังผลิต 300,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้า เฉลี่ยปีละ 502.9735 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง
เขื่อนวชิราลงกรณ นอกจากสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้า แล้วยังอำนวยประโยชน์ในด้านอื่นๆ อาทิ ช่วยบรรเทาอุทกภัย ซึ่งโดยปกติน้ำในฤดูฝน น้ำทั้งลำน้ำแควน้อยและแควใหญ่จะมีปริมาณมาก เมื่อไหลมารวมกันจะทำให้เกิดน้ำท่วมลุ่มน้ำแม่กลองเป็นประจำ แต่หลังจากได้ก่อสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ แล้วเสร็จ อ่างเก็บน้ำของเขื่อนจะช่วยเก็บน้ำไว้ เป็นการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าวอย่างถาวรด้านชลประทานและการเกษตรทำให้มีแหล่งน้ำถาวรเพิ่มอีกแห่งหนึ่งช่วยเสริมระบบการชลประทานในพื้นที่ของโครงการ แม่กลองใหญ่ พื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และ จังหวัดสมุทรสงคราม โดยเฉพาะทำการเพาะปลูกในฤดูแล้งจะได้ผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้น ด้านการประมง อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนเหมาะสำหรับเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาขนาดใหญ่ที่สำคัญ ทำให้ราษฎร มีรายได้จากการทำประมงรวมแล้วปีละหลายล้านบาทนอกจากนี้ เขื่อนวชิราลงกรณ มีการระบายน้ำช่วยรักษาระบบนิเวศน์ผลักดันน้ำเค็มและน้ำเสีย ในฤดูแล้ง ก่อนหน้าที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ ในช่วงฤดูแล้งบริเวณปากน้ำแม่กลองจะมีน้ำเค็มไหลย้อนเข้ามา รวมทั้งยังมีน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองไหลเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้นการปล่อยน้ำ จากเขื่อนวชิราลงกรณ เพิ่มขึ้นในฤดูแล้ง จะช่วยขับไล่น้ำเสียและผลักดันน้ำเค็มออกไปทำให้สภาพน้ำในแม่น้ำแม่กลองมีคุณภาพดีขึ้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: