พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เดินทางมาติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
วันที่15 มิถุนายน 2561 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง พร้อมคณะฯ เดินทางไปติดตามการดำเนินงานและความหน้าโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าเต็ง–ป่าละอู จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี โครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หนองพลับ–กลัดหลวง อำเภอหัวหิน และโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้เพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ ให้บังเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเกิดประโยชน์แก่ราษฎรยิ่งขึ้น ต่อไป
จากนั้นพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี และคณะฯ ได้เดินทางไปยังศูนย์เรียนรู้และบริการหมู่บ้าน OTOP ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์,นายรุจน์ประทีป ธรรมรพีภัทร์ นายอำเภอหัวหิน,นางสุนันทา พิมพ์ไทย นยก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ,นางพรเพ็ญ สบเหมาะ ผอ.ศูนย์ประสานงานโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าละอู-หนองพลับ ตามพระราชดำริ และส่วนราชการ ตำรวจ ทหาร กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านฯลฯให้การต้อนรับ และเข้ารับฟังการบรรยายสรุปจาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ถึงผลการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ และโครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสให้กับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาช้างป่าให้คนกับช้างกับคนอยู่ร่วมกันได้ องคมนตรี ยังได้ให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาต่างๆในพื้นที่ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำพุไทร ซึ่งมีความตื้นขอให้หน่วยงานดำเนินการเพื่อกักเก็บน้ำให้ได้มากเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
รวมไปถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยราชการจัดหาพื้นที่ว่างเปล่าในเขตจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำมาจัดสรรให้แก่ราษฎรทำกินในรูปแบบสหกรณ์ โดยให้สิทธิครอบครองชั่วลูกชั่วหลาน แต่ไม่ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ และมอบหมายให้หน่วยราชการเข้าไปช่วยเหลือแนะนำ วางแผนการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ให้แก่สมาชิกในโครงการฯ โดยใช้พื้นที่เขตปลอดภัยทางราชการทหาร 85,725 ไร่ และพื้นที่ส่วนที่กรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ 15,625 ไร่ รวม 101,350 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ–ป่ายางน้ำกลัดใต้ ตำบลป่าเต็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวม 11 หมู่บ้าน สมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าวโพด กล้วย สับปะรด มะนาว พืชผัก และการเลี้ยงโคนม พื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านเสาร์ห้า อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีสหกรณ์ที่อยู่ในความส่งเสริมของหน่วยสาธิตสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ 2 สหกรณ์ คือ สหกรณ์การเกษตรห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด และสหกรณ์โคนมไทย–เดนมาร์ก ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด
ต่อจากนั้นได้รับมอบตู้คอนเทนเนอร์ 3 ใบจากภาคเอกชนให้กับทางสหกรณ์การเกษตรกรห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด ไว้ใส่ผลผลิตในช่วงที่ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยเฉพาะทุเรียนป่าละอูก่อนที่จะมีการส่งต่อไปจำหน่ายให้กับพ่อค้าแม่ค้าต่อไป เพื่อป้องกันปัญหาช้างป่า
จากนั้นองคมนตรีฯพร้อมคณะได้เดินทางต่อไปยังบริเวณหอดูช้างภายในป่า เขตพื้นที่แนวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งมีการสร้างแนวรั้วป้องกันช้างป่าตั้งแต่พื้นที่ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มาจนถึงบริเวณ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันปัญหาช้างป่าไม่ให้เข้ามาบุกรุกทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน รวมทั้งยังดูสถานที่แหล่งกักเก็บน้ำสำหรับสัตว์ป่า และได้ร่วมทำโป่งเทียมสำหรับสัตว์ป่าบริเวณหอดูช้างป่า รวมทั้งยังได้เดินลงไปดูโป่งธรรมชาติของสัตว์ป่า ตลอดจนฝายชะลอความชุ่มชื้น
จากนั้น องคมนตรี และคณะฯ เดินทางต่อไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รับฟังการบรรยายสรุปจากนายชูชาติ รักจิตร ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน ถึงการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้จัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวรป่าละอู เพื่อให้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรได้อย่างเพียงพอ
โดยกรมชลประทานได้รับการสนับสนุนงบประมาณในปี 2560 จากคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เพื่อเป็นค่าก่อสร้างจุดตั้งหัวงานโครงการ อาคารสำนักงานย่อย บ้านพักคนงาน ถนน ระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น มีระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานในภาพรวมร้อยละ 7 เมื่อโครงการแล้วเสร็จในปี 2564 จะสามารถช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่หมู่ที่ 1,2,3,5,6และ 8 และบริเวณใกล้เคียงในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ จำนวน 1,095 ครัวเรือน ให้มีน้ำใช้สำหรับการอุปโภค บริโภค และส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้ถึง 6,490 ไร่ สนับสนุนน้ำให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวรป่าละอู ซึ่งมีนักเรียนรวม 220 คน และครู 10 คน อีกด้วย
องคมนตรี พร้อมคณะฯ เดินทางไปรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าโครงการตามพระราชประสงค์หนองพลับ–กลัดหลวง อำเภอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพบปะราษฎรในพื้นที่ พร้อมทั้งปลูกต้นเสน่ห์จันทร์ ณ แปลงปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ โครงการตามพระราชประสงค์หนองพลับ–กลัดหลวงฯ เกิดขึ้นในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ขาดที่ดินทำกินเป็นหลักแหล่งและบุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินของรัฐโดยพลการ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะทดลองดำเนินโครงการพัฒนาที่ดินแผนใหม่ ซึ่งรัฐบาลได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินบริเวณหุบเขาซึ่งเป็นเขตติดต่อระหว่างจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี มีพื้นที่รวม 65,000 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ที่เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ โดยให้สิทธิครอบครองอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นๆ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1
เป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ดีเหมาะแก่การเพาะปลูก จัดสรรพัฒนาที่ดินให้กับราษฎร ครอบครัวละ 20–25 ไร่ ส่วนที่ 2 ดินไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก ให้พัฒนาเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ พร้อมกับจัดสรรให้ราษฎรเข้าอยู่อาศัยและประกอบอาชีพ โดยให้สหกรณ์เป็นผู้ดูแล และกันพื้นที่บริเวณโครงการฯ ประมาณ 500 ไร่ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์โครงการจัดพัฒนาที่ดิน ทำหน้าที่ในการประสานงานระหว่างราษฎรกับส่วนราชการในการช่วยเหลือราษฎรในโครงการ ค้นคว้าทางวิชาการ รวมทั้งผลิตพันธุ์พืช เพื่อสนับสนุนโครงการฯ และราษฎรในจังหวัดใกล้เคียง โครงการตามพระราชประสงค์หนองพลับ–กลัดหลวง มีสหกรณ์อยู่ในความดูแล จำนวน 11 หมู่บ้านสหกรณ์ จำนวนสมาชิก 766 ครอบครัว ประกอบด้วย หมู่บ้านสหกรณ์ 1 และ 2 มีสมาชิก 190 ครอบครัว อยู่ในพื้นที่ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หมู่บ้านสหกรณ์ 3 – 11 มีสมาชิก 576 ครอบครัว อยู่ในพื้นที่ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ และตำบลเขากระปุก ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีสหกรณ์การเกษตร 2 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรหนองพลับรุ่งเรือง จำกัด และสหกรณ์การเกษตรกลัดหลวง จำกัด โดยออกหนังสืออนุญาต รุ่นที่ 1 จำนวน 49 ราย เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554 และอยู่ระหว่างพิจารณาคำขออนุญาต รุ่นที่ 2 อีกประมาณ 350 ราย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: