กรมชลประทาน จับมือ อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำเยาวชนและชาวบ้านพร้อมผู้นำท้องถิ่น ร่วมสร้างฝายต้นน้ำ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
วันที่ 28 สิงหาคม 2561 นายบุญรอด หาญองอาจ ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 14 เป็นประธานเปิดกิจกรรม”สร้างฝายต้นน้ำ” โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ 2 บ้านฟ้าประทาน ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ,นางสุนันทา พิมพ์ไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่,นายวุฒิพงษ์ ศรีช่วย ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก ,ตำรวจตระเวนชายแดน พร้อมคณะครู อาจารย์ นักเรียน โรงเรียนนเรศวรห้วยผึ้ง และ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนป่าละอู ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ช่วยกันจัดสร้างฝายต้นน้ำแบบทิ้งหิน จำนวน 4 จุดในลำห้วยบริเวณอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอู
ข่าวน่าสนใจ:
- สอ.สามัญศึกษาเพชรบูรณ์ประชุมใหญ่ โชว์กำไร 52 ล้าน พร้อมเลือกตั้งกรรมการและผู้ตรวจสอบกิจการ
- นนทบุรี กระบะเลี้ยวตัดหน้า จยย.พุ่งชน ร่างหนุ่มชาวลาวลอยก่อนตกกระแทกพื้นดับ
- จัดกิจกรรม โครงการ “หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้กับประชาชน พื้นที่ อ.คลองหาด
- พรรคประชาชนเปิดตัว นายแพทย์จิรชาติ เรื่องวัชรินทร์ หรือ หมอมุดสัง ชิง นายก อบจ.สุราษฎร์ ฯ สมัครจันทร์นี้
นายบุญรอด หาญองอาจ ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 14 กล่าวว่าโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 9 เพื่อเพิ่มศักยภาพการเก็บน้ำ และช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและการปศุสัตว์ในพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอูฯ ให้มีศักยภาพและสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานครอบคลุม 6 หมู่บ้านในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่
ซึ่งกรมชลประทานได้คำนึงถึงการพัฒนาโครงการอย่างยั่งยืน จึงได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)และมาตรการและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมป้องกัน ตลอดจนมาตรการในการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมEIMP) เพื่อดำรงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์แก่คนรุ่นต่อไป ควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน
ดังนั้นในการจัดกิจกรรมทำฝายชะลอน้ำ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการตามแผนป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยฝายจะช่วยชะลอความเร็วของน้ำ ช่วยดักตะกอน และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ที่อยู่รอบๆฝาย นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเยาวชนในพื้นที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9
ในขณะเดียวกันกรมชลประทาน ยังได้จัดเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร แก่นักเรียน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้ทุกคนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินการของโครงการรัฐ ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร
ด้านนางสุนันทา พิมพ์ไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ กล่าวว่ากิจกรรมการสร้างฝายต้นน้ำ ในวันนี้ถือว่ามีประโยชน์ทั้งกับทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ สัตว์ป่า ประชาชน รวมทั้งนักเรียนยังได้มีโอกาสเรียนรู้และร่วมกันสร้างฝายในครั้งนี้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญของน้ำและป่าไม้เป็นอย่างยิ่ง ทรงถือว่าน้ำและป่าไม้ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญของประเทศ และมีความสัมพันธ์เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ต้นน้ำ ทรงเสนอฝายชะลอความชุ่มชื่น หรือฝายต้นน้ำ เป็นเครื่องมือที่จะใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้
“ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่นแบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆเพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกทั้งสองข้าง”
“ควรสร้างฝายต้นน้ำลำธารตามร่องน้ำเพื่อช่วยชะลอกระแสน้ำและเก็บกักน้ำสำหรับสร้างความชุ่มชื้นให้บริเวณต้นน้ำ”
ขณะเดียวกันนายวุฒิพงษ์ ศรีช่วย ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวว่าการสร้างฝายต้นน้ำในลำห้วย ซึ่งอยู่ติดแนวเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทางกรมชลประทานให้ความสำคัญ ประโยชน์ที่ได้โดยเฉพาะในเรื่องของการทำให้ทรัพยากรธรรมป่าไม้บริเวณนี้มีความชุ่มชื้น รวมไปถึงสัตว์ป่าอย่างช้างป่าในบริเวณดังกล่าว ก็สามารถมาใช้ได้ เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ
ข่าว/ภาพ..วิมล ทับคง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: