จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หนุนส่งเสริมอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้แก่แรงงานนอกระบบ ชวนปลูกผักปลอดสารพิษจำหน่ายช่วงเทศกาลกินเจ หลังสินค้าหลักภาคเกษตร ทั้งสับปะรด ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมะพร้าวราคาตกต่ำ
นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เดินทางไปเปิด”โครงการส่งเสริมอาชีพ เพิ่มรายได้แก่แรงงานนอกระบบ กลุ่มเกษตรกร ในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีนายไชยชนะ สุทธิวรชัย นายอำเภอสามร้อยยอด , พันเอกกรกานต์ นาวาเวชกุล รองผู้อำนวยการ รมน. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , นางสาวกรจิรัฎฐ์ สุดสวาสด์ แรงงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์,นายประเสริฐ ไทยอุดมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลศาลาลัย หน่วยงานที่เกี่ยงข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลศาลาลัย เข้าร่วม ณ บ้านเลขที่ 292 หมู่ที่ 2 ตำบลศาลาลัย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากการประชุมคณะกรรมการดูแลแรงงานนอกระบบ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นผู้แต่งตั้งขึ้น และได้มีการประชุมกันอย่างต่อเนื่องซึ่งการประชุมครั้งล่าสุดที่มีคณะกรรมการจากหน่วยงานราชการ และผู้แทนภาคเอกชน ภาคประชาชน
โดยตัวแทนจากภาคประชาชนในภาคเกษตรที่ปลูกพืชหลักของจังหวัดเป็นหลัก คือ สับปะรด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และมะพร้าว ซึ่งก็ทราบกันดีว่าปีนี้ราคาผลผลิตตกต่ำเป็นอย่างมาก ภาคประชาชนจึงเสนอว่าควรจะมีโครงการของกระทรวงแรงงานที่จะมาส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มแรงงานนอกระบบเหล่านี้ เพื่อให้มีรายได้เสริมจากงานที่ทำอยู่เป็นประจำ ด้วยเหตุนี้ในที่ประชุมจึงพิจารณากันว่าในช่วงอีกประมาณ 40 วัน จะมีเทศกาลกินเจ จึงได้เชิญชวนกลุ่มแรงงานนอกระบบมาปลูกผัก และขายในช่วงเทศกาลกินเจ จึงได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมว่ามีกลุ่มเกษตรกร หรือแรงงานนอกระบบที่อยู่ในภาคเกษตร หรือภาคแรงงานอื่นมาร่วมโครงการ ซึ่งตอนนี้ก็มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว
โดยวันนี้ได้เริ่มโครงการปลูกผักเพื่อนำผลผลิตออกขายในช่วงเทศกาลกินเจของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่สำคัญแรงงานนอกระบบจะได้มีอาชีพอื่น ๆและมีรายได้เข้ามาสู่ครอบครัว คาดว่าจะมีรายได้มากขึ้นในช่วงที่ผลิตผักขายในระยะเวลา 30-35 วัน ก็จะมีเงินเข้ามาในครอบครัว ส่วนผลผลิตที่ได้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันคิดว่าจะมีกระบวนการ 3 ขั้นตอน คือ การจัดหากลุ่มเป้าหมาย กระบวนการผลิตจะต้องมีการวางแผนว่าจะผลิตผักออกมาในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งมีทั้งหมด 9 วัน แต่เราจะผลิตในระยะเวลา 12 วัน ให้ได้วันละอย่างน้อย 1 ตัน ส่วนหลังจากนี้อีก 30 วัน ก็จะเป็นเรื่องของการจำหน่าย ซึ่งได้มอบหมายให้ทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ก็ได้สำรวจความต้องการของผู้บริโภคแล้วว่าจะมีกลุ่มเป้าหมายที่ไหนบ้างที่เราจะนำผลผลิตไปขาย
นายโชตินรินทร์ ยังกล่าวอีกด้วยว่า ผักในโครงการดังกล่าวจะเป็นผักที่ปลอดสารพิษ โดยเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการรับรองจากสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งจะมาทำการตรวจสอบ ส่วนกลุ่มที่มาร่วมในโครงการที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการของกระทรวงเกษตรก็จะมีฉลากรับรองมาตรฐานให้อยู่แล้ว ส่วนกลุ่มใหม่จะรับรองโดยสาธารณสุขโดยจะใช้ตราจังหวัดรับรองให้ และในระยะยาวถ้าโครงการนี้ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีทางจังหวัดก็จะมีการต่อยอดโดยจะส่งเสริมให้กลุ่มแรงงานนอกระบบเลี้ยงปลา ลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อขายในช่วงเทศกาลปีใหม่ และตรุษจีนที่กำลังจะมาถึงต่อไป
ด้านนางสาวกรรณิการ์ สีละพันธ์ เกษตรกรชาวบ้านสามร้อยยอด ที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ทางภาครัฐมาให้การสนับสนุนส่งเสริมอาชีพให้ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งตนเองก็อยู่ในกลุ่มโครงการอาหารปลอดภัยอยู่แล้ว จะทำเกี่ยวกับพืชผักปลอดสารพิษอยู่แล้ว แต่ในกลุ่มก็ยังมีไม่มาก แต่ถ้าภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุนแบบนี้ก็จะหาเครือข่ายให้มากขึ้น เพราะเกษตรกรเองก็อยากปลูกผักปลอดสารพิษอยู่แล้ว ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงทั้งคนผลิต และผู้บริโภคด้วย ส่วนเรื่องการตลาดถ้ามีผลผลิตตามความต้องการแล้วทางภาครัฐก็จะมารับซื้อถึงที่ และยังให้ราคาที่เหมาะสม ซึ่งเราเองก็ไม่ต้องไปเสี่ยงกับการที่จะต้องไปหาตลาดเอง
โดยในวันนี้หลังจากที่พูดคุยกับชาวบ้านเสร็จแล้ว นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชกาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มอบพันธุ์ปลา พร้อมปล่อยปลาลงในบ่ออนุบาลของผู้เข้าร่วมโครงการ และยังได้ปลูกผักบุ้งในแปลงที่เกษตรกรได้เตรียมไว้เป็นการให้กำลังใจแก่เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการด้วย
ข่าว/ภาพ ฐิติชญา แสงสว่าง/สามร้อยยอด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: