เกษตรชาวสวนมะพร้าว กว่า 20,000 ราย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เจอวิกฤตราคามะพร้าวตกต่ำเหลือเพียงลูกละ 3-5 บาทเท่านั้นมาเป็น 5 เดือนแล้ว ถือว่าต่ำสุดในรอบ5ปี ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนต้องปล่อยให้มะพร้าวร่วงเอง วอนรัฐบาลแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยเสนอให้รัฐบาลควรยกเลิกโควต้านำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ ดีเดย์ 17 ตุลาคม นี้เคลื่อนเข้ากรุงเทพฯ ทวงถามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์
วันที่ 28 กันยายน 2561 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวกว่า 450,000 ไร่ มีเกษตรกรชาวสวนกว่า 24,873 ราย ในปีนี้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีผลผลิตมะพร้าว 370 ล้านผล ถือเป็นผลผลิตครึ่งหนึ่งของในประเทศ โดยพบว่าในปีที่ผ่านมามีการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 ระหว่างเดือนมกราคม2560-กรกฏาคม 2560 จำนวน 186 ล้านผล ในขณะที่ปีนี้นำเข้า 155 ล้านผล ลดลงจากปีที่ผ่านมา 15 เปอร์เซ็นต์ และในปีที่แล้ว 7 เดือนแรกส่งออกมะพร้าว 16 ล้านผล ในปีนี้ส่งออกไปถึง 25 ล้านผล โตถึง 57 เปอร์เซ็นต์ ในภาพของอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าว
ข่าวน่าสนใจ:
- ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 แถลงผลการปฎิบัติการจับกุมยาเสพติด-อาชญากรรม ในพื้นที่จังหวัดยะลา
- 'โครงการสร้างโอกาสสานฝันเด็กและเยาวชน จ.ระยอง' มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษา
- ผู้ว่าตรังสั่งซ่อมด่วนหลังคาท่าเรือปากเมง หวั่นอันตรายนทท. กระทบภาพลักษณ์จว. ลั่นพร้อมออกเงินส่วนตัว 2.3 หมื่นค่าวัสดุ…
- งานช้าง หนุ่มทับปุดขี่ช้างแห่ขันหมาก 10 เชือกไปขอเมีย พ่อยกช้างให้เป็นของขวัญ 1 เชือก
อย่างไรก็ตามขณะนี้ เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวใน 40 จังหวัดทั่วประเทศ ต่างได้ได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์มะพร้าวราคาตกต่ำสุดในรอบ 5ปี มานานเกือบ 5 เดือนเต็มแล้วแต่ยังไม่มีการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวอย่างเป็นรูปธรรม
ถึงแม้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหน่วยงานเกี่ยวข้องได้รับทราบหาแนวทางการแก้ไขปัญหาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ปัญหาคาคาผลผลิตมะพร้าวที่ตกต่ำอยู่ก็ยังไม่มีทีท่าจะปรับขึ้นแต่อย่างใด
ซึ่งเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เสนอให้รัฐบาลระงับการนำเข้าในกรอป AFTA และกรอป WTO สินค้ามะพร้าวผล น้ำกะทิและเนื้อมะพร้าวขาวจากต่างประเทศ และให้ดำเนินการหามาตรการป้องกันการลักลอบนำมะพร้าวเถื่อนเข้ามาในประเทศไทย แต่นั่นก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผลแต่ประการใดในความเป็นจริง
อย่างไรก็ตามในส่วนของ อำเภอทับสะแก ซึ่งถือเป็นพื้นที่ปลูกมะพร้าว และเป็นที่ขึ้นชื่อของประเทศไทย กว่า 140,000 ไร่มีเกษตรกรกว่า 7,923 ราย ซึ่งทำสวนมะพร้าวมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ รุ่นย่า จนเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงรุ่นลูกในปัจจุบันนี้ มะพร้าวบางต้นอายุกว่า 50 ปีขึ้นไปก็ยังคงมีให้เห็น เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในอำเภอทับสะแก และอำเภออื่นๆในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่างเจออุปสรรคปัญหาในเรื่องของศัตรูพืช จากการนำมะพร้าจากต่างประเทศเข้ามาจนเกิดศัตรูพืชระบาดตามมา แต่เมื่อการระบาดของศัตรูพืช เริ่มลดลง ปัญหาภัยแล้งเริ่มหมดไป ดันมาเจอปัญหาราคาผลผลิตมะพร้าว ที่ลดลงจากราคา 20-24 บาท ตอนนี้เหลือเพียง 3-5 บาทเท่านั้น มันเกิดอะไรขึ้นกับชาวสวนมะพร้าว
สิ่งสำคัญหน่วยงานอย่างจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็มักจะพูดว่ายุทธ์ศาสตร์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หนึ่งในภาคเกษตรคือมะพร้าว และยังถือได้ว่า “มะพร้าวคือเมืองหลวงของประจวบคีรีขันธ์” ฟังดูแล้วน่าสนใจ……แต่หากสิ่งที่อยู่ในแผนยุทธ์ศาสตร์ของจังหวัด แต่วันนี้กลับดูสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง
เมื่อยามราคามะพร้าวร่วงหล่นผ่านมาเกือบครึ่งปี แต่ดูเหมือนว่า ภาครัฐในระดับพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำอะไรที่เป็นการช่วยเหลือชาวสวนมะพร้าวได้บ้าง ทำได้เพียงเพิ่มชุดตั้งด่านสกัดการลักลอบมะพร้าวเถื่อนจากต่างประเทศผ่านเข้ามา …..ทั้งๆที่ความเป็นจริงก็รู้อยู่แก่ใจว่าจับใครไม่ได้หลอก เพราะทุกปีที่เปิดกรอปนำเข้ามันก็เข้ามาทั้งแบถูกต้องและไม่ถูกต้องมาโดยตลอด…… รวมทั้งการลงพื้นที่ไปดูตามล้ง ตามสวนชาวบ้าน ท้ายที่สุดก็ไม่เห็นจะมีอะไรที่เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ได้ชื่อว่ามะพร้าวเปรียบเป็นเมืองหลวงของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
แม่แต่กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ วันนี้ทำอะไรได้บ้างทั้งที่เป็นผู้ถือนโยบาย มัวแต่นั่งมองดูแต่ตัวเลขแต่ไม่เคยลงพื้นที่สัมผัสความเป็นจริง ในปัจจุบันว่าในความเป็นจริงเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวเดือดร้อนขนาดไหน …และยังไม่เห็นมีวิธีใดที่จะออกมาป่าวประกาศประชาสัมพันธ์ ให้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ และอีกกว่า 40 จังหวัดได้รู้ต่อไปว่า จะหาทางช่วยเหลือทำอย่างไรให้ราคามะพร้าวปรับขึ้นจากราคาในปัจจุบัน…..วันนี้รัฐรู้บ้างไหมว่า จากผลผลิตมะพร้าวที่ตกต่ำสุดๆ ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่ชาวสวน คนเก็บ คนสอย คนรับจ้างขนส่ง รวมทั้งล้ง รวมไปถึงแม้กระทั่ง”ลิง”ที่รับจ้างขึ้นมะพร้าวก็ไม่มีใครมาจ้าง และยังรวมไปถึงสถาบันการเงินทั้งสหกรณ์ เกษตรกรชาวสวนไม่มีเงินที่จะไปส่งดอก ส่งต้นแล้ว………
ป้าสมหมาย พบสุภาพ หนึ่งในเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว อ.ทับสะแก ซึ่งปัจจุบันเล่าว่าได้รับผลกระทบมานานหลายเดือนจากราคามะพร้าวที่ตกต่ำจริงๆยอมรับวันนี้ต้องหยุดเก็บผลผลิต ปล่อยไว้คาต้น รอผลผลิตร่วงหล่นเอง จากนั้นค่อยเดินเก็บผลผลิตที่ร่วงหล่นลงมาเก็บมากองไว้เมื่อได้เป็นจำนวนมาก100-1,000 ลูก จึงจะใช้ว่าจ้างยานพาหนะมาบรรทุกออกไปขาย
เมื่อก่อนมะพร้าวลูกละ 20 กว่าบาท ก็จ้างเก็บจ้างปลอก ตอนนี้จ้างไปก็ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย เนื่องจากราคามะพร้าวราคาถูกเพียงลูกละ 3-5 บาท ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เหนื่อยจริงๆ ตอนนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเห็นราคามะพร้าวจะปรับตัวขึ้นไปเลย
ลูกมะพร้าวบางส่วนที่ขายไม่ได้ก็เริ่มงอกเป็นใบออกมา โดยป้าเองต้องหันมาทำทุกอย่างในสวน เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้เหลือน้อยที่สุดไม่งั้นก็จะแย่กันไปใหญ่ ทุกวันนี้รายได้จากการขายมะพร้าวหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือเพียง 2 พันบาทจากเดิมในช่วงที่มะพร้าวราคาลูกละ 20 กว่าบาทจะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละกว่า 1 หมื่นบาท
เช่นกัน ป้านกกะทิ เอี่ยมสุขขา อายุ 83 ปี ซึ่งมีอาชีพทำสวนมะพร้าวมานานกว่า 60 ปี ก็ยอมรับว่าทุกกวันนี้ก็ไม่ได้เก็บผลผลิต เช่นกันเนื่องจากไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย โดยส่วนหนึ่งเงินที่กู้หนี้ยืมสินมาก็เริ่มที่จะไม่มีเงินไปส่งทางสถาบันการเงินแล้วเช่นกัน เพราะราคามันถูกมาเกือบครึ่งปีแล้ว เงินที่เก็บเอาไว้ในช่วงราคามะพร้าวดีก็นำออกมาส่งธนาคารใช้หนี้ เดือนที่ผ่านมามีรายได้จากการเก็บมะพร้าวขายเพียง 2,600 บาทเท่านั้น ยังไม่รู้เหมือนกันว่าเดือนต่อๆไปจะเอาเงินที่ไหนไปส่งต้น ส่งดอก ให้ธนาคาร ต้องยอมรับว่าเป็นวิกฤตของเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวจริง
ด้านนายกฤษฏา เกิดสมกิตต์ อายุ 47 ปี เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่หันมาปลูกมะพร้าวอินทรีย์ ของอำเภอทับสะแก ยอมรับว่าที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐได้ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนหันมาทำเกษตรอินทรีย์ แล้วไงวันนี้ราคามะพร้าวไม่สะท้อนความเป็นจริงของตัวเกษตรกร โดยต้นทุนของเกษตรกรจะอยู่ที่ 8 บาทขึ้นไปต่อผล แต่ผู้ประกอบการรับซื้อเพียง3- 4-5 บาทเท่านั้น ทำให้เกษตรกรชาวสวนในพื้นที่บางรายไม่เก็บผลผลิตเพราะไม่คุ้มทุนจริงๆ
ขณะเดียวกันราคากะทิกล่อง และกะทิคั้นตามตลาดต่างๆ ราคาก็ยังคงเป็นราคาเดิมทั้งๆที่ราคามะพร้าว ที่พ่อค้าและโรงงานนั้นซื้อไปในราคาที่ถูก ดังนั้นในความเป็นจริงราคากะทิที่แปรรูป และคั้นแล้วก็ควรจะถูกลงไม่ควรจะแพงถือเป็นการเอาเอาเปรียบผู้บริโภค จึงอยากฝากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ไปตรวจตรวจสอบกรณีดังกล่าวด้วย
ขณะนี้รัฐบาลเอง ก็ยังไม่สามารถหาแนวทางช่วยเหลือกเกษตรชาวสวนมะพร้าวได้ โดยเชื่อว่าปัญหาที่ทำให้ราคามะพร้าวถูกลงนั้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่รัฐบาลปล่อยให้มีการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศทั้งที่ถูกต้อง รวมไปถึงการลักลอบนำมะพร้าวที่ไม่ถูกต้องเข้ามา ด้วยจึงทำให้ผลผลิตของเกษตรกรราคาถูกลง ดังนั้นจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวเป็นการเร่งด่วน วันนี้ควรใช้มะพร้าวในประเทศเราก่อนหากยังปล่อย สถานการณ์ราคามะพร้าวที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้และยังไม่มาตรการแก้ไข ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
เช่นกันอิสระ จัดภัย 1 ในล้งอำเภอทับสะแก กล่าวว่าถึงแม้ราคามาพร้าวจะตกต่ำอยู่ในขณะนี้ก็ยังซื้อมะพร้าวจากเกษตรชาวสวนอยู่ในราคาลูกละ3- 5 บาท อย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เงินอย่างน้อยเฉลี่ยวันละ 10,000 ผลก็ต้องใช้เงินถึง 5 หมื่นบาทก็ตาม แต่ก็ยังสามารถที่จะนำมะพร้าวไปส่งยังโรงงานและตามออเดอร์
แต่ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งก็เจอปัญหาเรื่องของผลผลิตที่ไม่สามารถระบายออกไปได้มากเหมือนช่วงก่อน เมื่อก่อนช่วงมะพร้าวราคาดีมีมะพร้าวอยู่ในล้งประมาณ 4-5 หมื่นลูก แต่ปัจจุบันนี้มีมะพร้าวที่ค้างสต๊อกอยู่ 3 แสนกว่าลูกที่ยังระบายไม่ออกคิดเป็นเงินถึง 3 ล้านกว่าบาท นอกจากนั้นส่วนหนึ่งยังทำให้ผลผลิตมะพร้าวที่รับซื้อมาได้รับความเสียหายเกือบ 1 แสนลูก โดยส่วนใหญ่งอกมีใบออกมาแล้ว อย่างไรก็ตามตนเองก็ต้องพยามที่จะต่อสู้ไปจนกว่าสถานการณ์ราคามะพร้าวจะดีขึ้น แต่หากว่าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นหรือขาดสภาพคล่องทางการเงินก็อาจต้องหยุดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรชาวสวนเป็นการชั่วคราวก็เป็นได้
วันนี้ปัญหาราคามะพร้าวที่ราคาเหลือเพียงไม่กี่บาทเท่านั้นมานานเกือบครึ่งปีแล้ว แต่ท่าทีของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนหน่วยงานระดับจังหวัด ก็ยังแสวงหางแก้ไขไม่เจอ หรือไวไม่ทราบ….แต่แน่นอนที่สุด 17 ตุลาคม 2561 นี้ เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในโซนภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานี,ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ คงจะหมดความอดทนและเดินทางเข้าไปทวงถามการช่วยเหลือ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงพาณิชย์ ทั้งหมดนี้ก็คงเป็นเรื่องที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ คงต้องนั่งขบคิดว่าจะหาทางออกอย่างไร ให้กับเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว ก่อนที่จะถึงวันนั้น
วิมล ทับคง รายงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: