ประจวบคีรีขันธ์ -อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ร่วมกับ อำเภอสามร้อยยอด จัดพิธีวันระลึกพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ครบรอบ 130ปี ณ ถ้ำพระยานคร อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบประวัติศาสตร์ มีพระมหากษัตริย์ 5 พระองค์ เสด็จประพาส”ถ้ำพระยานคร” อุทยานฯเตรียมรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ได้จากกรมศิลปากร จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน
วันที่ 20 มิถุนายน 2563 นายภิรมย์ นิลทยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยนายพิทักษ์ พิศสิริวัฒนสุทธิ์ นายอำเภอสามร้อยยอด ,นายนิทัศน์ จันทร์ทอง ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี นายไพโรจน์ นาครักษา ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี และนายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ หน.อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยอดพร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด นางสาวแสงจันทร์ แก้วปทุมรัสมี ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เทศบาล อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำรวจ โรงเรียน และกลุ่มพลังมวลชน ได้เดินทางขึ้นไปยังถ้ำพระยานคร อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด หมู่ 8 ต.สามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกันประกอบพิธี เนื่องในวันระลึกพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ครบรอบ 130 ปี
ข่าวน่าสนใจ:
โดยหน่วยงานต่างๆได้ร่วมกันวางพวงมาลาหน้าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานบนพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ และกล่าวอาศิรวาทราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติฯเพื่อเป็นการน้อมรำลึกและแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
สำหรับถ้ำพระยานคร มีมาตั้งแต่สมัยโบราณและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งยังมีพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี เสด็จประพาสที่ถ้ำพระยานคร หลายพระองค์ เป็นถ้ำที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เดิมมีหลักฐานปรากฏว่ามีพระมหากษัตริย์เพียง 3 พระองค์ที่เสด็จประพาส
ต่อมานายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ หน.อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด กล่าวว่าในปี 2563 ได้ทำหนังสือไปถึงอธิบดีกรมศิลปากรเพื่อขอข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติมของ”ถ้ำพระยานคร” และในเวลาต่อมาทางกรมศิลปากร ได้ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และตอบกลับมายืนยันว่า มีพระมหากษัตริย์ 5 พระองค์ เสด็จประพาส”ถ้ำพระยานคร”ดังนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จประพาสถ้ำพระยานครเป็นอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อปีมะแม พ.ศ.2402 และครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2406 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสถ้ำพระยานครทั้งหมด4ครั้ง ได้แก่ปี พ.ศ.2406 ,2429,2432 และ พ.ศ.2433 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 กล่าวกันว่าพระองค์ท่านเคยเสด็จที่ถ้ำพระยานครครั้งหนึ่ง แต่ไม่ทราบว่าเมื่อใด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 พระองค์ท่านได้เสด็จไปประทับ ที่พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2469 และได้จารึกพระปรมาภิไธย ย่อ ป.ป.ร. ไว้ที่ผนังถ้ำทางทิศตะวันตกของพลับพลา ซึ่งยังปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงวันนี้ และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านได้เสด็จที่ถ้ำพระยานคร เป็นการส่วนพระองค์ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่22 มิถุนายน พ.ศ.2501 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2524
สำหรับพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ตั้งอยู่ในถ้ำพระยานคร เป็นพลับพลาทรงจตุรมุข กว้าง2.55เมตร มีความยาว 8 เมตร สูง 2.55เมตร สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 ได้ทรงโปรดให้สร้างพลับพลาที่ประทับไว้ ในคราวเสด็จประพาสถ้ำพระยานคร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2433โดยทรงโปรดให้จัดทำขึ้นที่กรุงเทพ ฯ แล้วบรรทุกเรือหาญหักศัตรูขนมาก่อสร้างที่ถ้ำพระยานคร ส่งมาประกอบทีหลังโดยให้พระยาชลยุทธโยธินทร์เป็นนายงานยกขึ้น และพระราชทานามว่า”พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์” โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงยกช่อฟ้า ด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2433 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จารึกพระปรมาภิไธย ย่อ จ.ป.ร. ไว้ที่บริเวณผนังด้านเหนือของพลับพลา
นอกจากนั้นพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ยังเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อีกด้วย โดยกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์เป็นโบราณสถานสำคัญเมื่อปี พ.ศ. 2495
#77ข่าวเด็ดประจวบคีรีขันธ์ (วิมล ทับคง รายงาน)
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: