สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เสริมแกร่งผู้ประกอบการท่องเที่ยวประจวบคีรีขันธ์ จัด Roadshow เที่ยวทั่วไทย ร่วมใจช่วยชาติ พัฒนาศักยภาพ และแนวทางการจัดการอย่างเป็นระบบ หวังช่วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปรับตัวผ่านภาวะวิกฤต ฟื้นตัวได้หลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย
วันนี้(วันที่ 26 สิงหาคม 2563) ที่โรงแรมหัวหินแกรนด์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นางสาวเเสงจันทร์ แก้วประทุมรัสมี ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเปิด โครงการเที่ยวทั่วไทย ร่วมใจช่วยชาติ พัฒนาศักยภาพมาตรฐานท่องเที่ยวองค์รวม และแนวทางการจัดการของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวระหว่างและหลังสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ โควิด-19 โดยมี นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)นายบุญรพี ดำรงรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานอำนวยการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว,นางสาวโศรยา หอมชื่น ผู้อำนวย ททท. สำนักงานประจวบคีรีขันธ์, นางวาสนา ศรีกาญจนา นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน – ชะอำ แขกผู้มีเกียรติ และผู้ประกอบกิจการการท่องเที่ยวในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ร่วมเปิดงานพร้อมทั้งรับฟังการบรรยายจากผู้แทนองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการจัดกิจกรรม Workshop หัวข้อ “ทิศทางการท่องเที่ยวหลัง COVID – 19” รวมถึงการเสวนาภายใต้หัวข้อ “แก้ปัญหาวิกฤตท่องเที่ยวไทย หลังสถานการณ์ COVID – 19”
นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในปัจจุบัน ได้ส่งผลต่อหลายประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก ที่สามารถทำรายได้ให้กับประเทศและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย ก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าว ทำให้ภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงักลง ซึ่งคาดการณ์ว่าสถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้น หากมีการคิดค้นวัคซีนสำเร็จในปี 2564 จึงจะสามารถฟื้นฟูกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ ขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีการออกมาตรการเยียวยา และแก้ไขปัญหาช่วยเหลือผู้ประกอบการ อาทิ มาตรการเยียวยาทางด้านภาษีทั้งหมด 6 มาตรการ รวมถึงมาตรช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างจากการปิดกิจการของสถานประกอบการต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฯ แต่ยังไม่สามารถแก้ไข เยียวยา และฟื้นฟูในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ดังนั้น สทท. จึงได้โครงการ “เที่ยวทั่วไทย ร่วมใจช่วยชาติ” เพื่อพัฒนาศักยภาพ และแนวทางการจัดการอย่างเป็นระบบแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ให้สามารถฟื้นตัว พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจในช่วงระหว่างนี้ และภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดได้สิ้นสุดลง อีกทั้งยังเพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานสำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแนววิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ตามโครงการแนวทางความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (SHA) ด้วย
“วันนี้เราต้องเข้าใจก่อนว่า โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ผลกระทบมันค่อนข้างรุนแรง ทำให้เปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเกือบทั้งหมด วันนี้คือส่วนหนึ่ง ที่เราจะมาคุยเรื่องทำไมต้องมีมาตรฐานต่างๆ โดยมีทาง ททท. เจ้าหน้าที่จากสาธารณสุข เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยว เมื่อเห็นสัญลักษณ์มาตรฐานนี้แล้ว นักท่องเที่ยวจะเชื่อมั่นว่าผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยแล้ว มีการวางตัวอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น mask มีเจลล้างมือ การเว้นระยะห่าง เป็นต้น และอีกหลายๆ มาตรการ สิ่งที่จะเรียนตรงนี้ก็คือ วันนี้การท่องเที่ยวเปลี่ยน เพราะฉะนั้นเราในฐานะผู้ประกอบการต้องมารับรู้ และปรับตัวเอง เพื่อให้รับสภาพกับ new normal ที่กำลังจะถึงนี้ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มา ให้เกิดความเชื่อมั่น ผมเชื่อว่าโควิดมาแล้วต้องไป อาจจะช้าหน่อย แต่ว่าต้องไปแน่ๆ เมื่อไหร่ที่มันไปแล้ว เราต้องกลับมาให้ยิ่งใหญ่กว่าเก่า นี่คือความหวังของประเทศไทย ซึ่งวันนี้เราก็มีมาตรการ หลายมาตรการ
และเราจะมีการทดลองดูโดยนำนักท่องเที่ยวเข้ามา แล้วกักตัว 14 วัน อาจจะเป็นชุมชนตัวอย่าง หรือ เกาะที่ไหนสักแห่ง เพื่อเป็นจังหวัดนำร่อง ตอนนี้ที่เล็งไว้คือที่ จังหวัดภูเก็ต เราคาดว่าจะเปิดให้ทันวันที่ 1 ตุลาคม ก่อนนักท่องเที่ยวเข้ามาต้องมีใบรับรองแพทย์มาก่อน มีการตรวจเชื้อมาเรียบร้อย เมื่อมาถึงเรา เราก็ต้องมีการตรวจอีกรอบหนึ่ง และต้องมีประกันตัวเองถึงหนึ่งแสนยูเอสดอลลาร์ ห้ามข้ามจังหวัด แม้กระทั่งโรงแรมในชั้นต่างๆ ต้องมีการแยกให้ชัดเจน และกลุ่มคนที่เข้าไปบริการก็ต้องมีการกักตัวด้วย เพื่อจะให้เกิดความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวได้กลับมาเที่ยวใหม่“ นายชัยรัตน์ กล่าว
ทางด้าน นางวาสนา ศรีกาญจนา นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน – ชะอำ กล่าวว่าสำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องการท่องเที่ยววันนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จะได้นำเสนอในสิ่งที่ผู้ประกอบการเดือดร้อน และได้นำร่องเกี่ยวกับการที่เรานำประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นภาคของร้านค้า ร้านอาหาร สวนน้ำ ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่อาหารรายวัน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถรับจ้างต่างๆ ทุกคนมีผลกระทบหมด ดังนั้นในการจัดงานในวันนี้จะเป็นกระบอกเสียงที่ดีที่เราจะทำ workshop กันนำสู่ผู้บริหารของประเทศและช่วยแก้ไขในโอกาสต่อไป ซึ่งเป็นโอกาสดีของเมืองท่องเที่ยวอย่างจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: