X

ประกาศเขตโรคระบาดฯ ASF ในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.ทับสะแก

ปศุสัตว์ประจวบฯ ประกาศเขตโรคระบาดฯ ASF ในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.ทับสะแก จ.ประจวบฯ ขณะที่เจ้าของฟาร์มหมูรายอื่นเพิ่มมาตรเข้มงดคนนอก-เข้าออกและขนหมูส่งขายเองเพื่อความปลอดภัย

จากกรณีตรวจพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ในฟาร์มสุกร 3 แห่งใน 2 อำเภอที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วยฟาร์มสุกร หมู่ 4 ต.อ่าวน้อย อ.เมือง ฟาร์มสุกร หมู่ 5 ต.อ่างทอง และฟาร์มสุกร หมู่ 13 ต.นาหูกวาง อ.ทับสะแก ทุกรายเป็นผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย มีการทำลายสุกรทั้งหมด 117 ตัว และฝังกลบในฟาร์มที่เกิดโรคตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคระบาดในสัตว์ พร้อมเร่งจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรตามราคาประเมิน พร้อมประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชนิด ASF เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกรในรัศมี 5 กม.รอบจุดเกิดโรค

ล่าสุด วันนี้ (วันที่ 24มกราคม 2565) นายยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ประชุมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทุกอำเภอและด่านกักสัตว์ประจวบคีรีขันธ์   ถึงมาตรการต่าง ๆ หลังจากพบสุกรของเกษตรกร เป็นโรค ASF ถึงแม้จะมีการทำลายไปแล้วก็ตาม

โดยส่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ออกตรวจฟาร์มสุกรในรัศมี 1 กม.รอบจุดเกิดโรคเพื่อเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อ หากพบสุกรติดเชื้อในฟาร์มที่มีการเลี้ยงสุกรน้อยกว่า 50 ตัวหรือเป็นเกษตรกรรายย่อย จะต้องทำลายสุกรทุกตัว หากเป็นฟาร์มขนาดกลางที่เลี้ยงสุกร 50 – 500 ตัว หรือฟาร์มขนาดใหญ่ที่เลี้ยงสุกร 500 ตัวขึ้นไป จะทำลายสุกรเฉพาะในคอกที่พบสุกรติดเชื้อ ส่วนคอกอื่นจะเก็บตัวอย่างส่งตรวจ หากพบสุกรติดเชื้อก็จะทำลายสุกรทั้งคอก จากการสำรวจข้อมูลการเลี้ยงสุกรพบว่ามีเกษตรกรกว่า 1,000 ราย จำนวนสุกรกว่า 80,000 ตัว เป็นเกษตรกรระดับกลางถึงใหญ่ 25 ราย ที่เหลือเป็นเกษตรกรรายย่อยที่เป็นฟาร์มขนาดเล็ก ซึ่งค่อนข้างมีความเสี่ยง เพราะมีระบบการป้องกันในฟาร์มไม่ดีเท่าฟาร์มขนาดกลางถึงใหญ่ที่เลี้ยงในระบบปิด

“ จึงแนะนำให้เฝ้าระวังป้องกันอย่างเข้มงวด หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสุกรด้วยเศษอาหาร เพราะมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากหากเศษอาหารดังกล่าวปนเปื้อนเชื้อ ASF อาจทำให้ฝูงสุกรที่แข็งแรงติดโรคได้ สุกรที่จัดหามาควรมาจากแหล่งผู้จัดหาที่น่าเชื่อถือและผ่านการรับรอง เนื่องจากยานพาหนะ อุปกรณ์ และคนอาจเป็นวัตถุพาหะนำเชื้อโรค ASF ได้เช่นกัน นอกจากนั้นตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกคนที่เข้ามาในฟาร์มไม่มีการสัมผัสกับสุกรอื่นใดในช่วงเวลา 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อยานพาหนะและอุปกรณ์อย่างถูกต้อง รถบรรทุกขนซากสัตว์ถือว่ามีความเสี่ยงสูงและไม่ควรให้เข้ามาในฟาร์มโดยเด็ดขาด

ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวอีกว่า หาพบสุกรมีอาการผิดปกติ ให้แจ้งสัตวแพทย์ทันที และนำสุกรเข้ารับการตรวจหาเชื้อ สุกรที่ป่วยโรค ASF จะมีอาการไข้สูง 40.5–42 องศาเชียลเชียส เบื่ออาหาร เลือดออกทางผิวหนังและอวัยวะภายใน แท้งลูก มีอาการซึม ไอ หายใจลำบาก เสียชีวิตกะทันหัน อัตราการตาย 30-100% ส่วนในลูกสุกร อัตราตายสูงถึง 80-100% ภายใน 14 วัน โดยเชื้อไวรัส ASF ค่อนข้างทนทานต่อสภาพแวดล้อม สำหรับโรค ASF ไม่ติดต่อสู่คน หรือสัตว์อื่นที่ไม่ใช่สุกร ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ เนื้อสุกรที่ติดเชื้อ ASF จึงสามารถปรุงสุกรับประทานได้ตามปกติ

ทั้งนี้ ปศุสัตว์จังหวัดประจวบฯได้ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว ชนิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคระบาดสัตว์ 2558 ในท้องที่หมู่ 4 หมู่บ้านบ้านบึง ต.อ่าวน้อย โดยมีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดออกไปยังพื้นที่ข้างเคียง หรือระบาดเข้ามาในท้องที่จากการเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือซากสัตว์ที่เป็นโรคระบาดหรือพาหะของโรคระบาด จึงออกประกาศให้หมู่ 4 ต.อ่าวน้อย ไปทางทิศเหนือจรด หมู่ 3,7 ต.อ่าวน้อย ทางทิศใต้จรด หมู่ 1 ,10 ต.เกาะหลัก อำเภอเมือง ทางทิศตะวันออก จรด หมู่ 2,3 ต.อ่าวน้อย ทางทิศตะวันตก จรด หมู่ 16 ต.อ่าวน้อย เป็นเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราวห้ามผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์ ชนิดสุกรและหรือซากสัตว์ดังกล่าว เข้า ออก หรือผ่านภายในเขตโรคระบาดชั่วคราว เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ หากฝ่าฝืนมาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 65 พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ฯ

สำหรับอำเภอทับสะแก กำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว หลังจากพบการระบาดในฟาร์มที่ บ้านหนองมะค่า หมู่ที่ 5. ต.อ่างทอง จึงออกประกาศให้ท้องที่ หมู่ที่ 5 ไปทางทิศเหนือจด หมู่ 9 ต.นาหูกวาง ทิศใต้จด หมู่ 7,11 ต.อ่างทอง ทางทิศตะวันออกจด หมู่ 1 ต.อ่างทอง ทางทิศตะวันตกจด หมู่ 7 ต.อ่างทอง เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราว นอกจากนั้นกรณีพบฟาร์มที่บ้านโปร่งแดง หมู่ 3 ต.นาหูกวาง ตรวจพบโรคระบาดหมู จึงประกาศให้พื้นที่ทางทิศเหนือจด หมู่ 2 ต.เขาล้าน ทิศใต้จด หมู่ 6,11 ต.นาหูกวาง ทิศตะวันออกจด หมู่ 3 ต.เขาล้าน ทิศตะวันตกจด หมู่ 5 ต.นาหูกวาง เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราวฯ

ด้าน นายมานิตย์  จิตรชัยกาญจน์  รองนายกเทศมนตรี กม.5 เจ้าของเจเคฟาร์ม ในพื้นที่ ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบฯ ซึ่งเลี้ยงหมูมากว่า 20 ปี ปัจจุบันเหลือแม่หมู และลูกหมู กว่า 300 ตัว ทยอยจับออกขายในพื้นที่ประจวบฯต่อเนื่อง หลังเกิดการระบาดจึงงดการสั่งแม่หมูจากบริษัทเพื่อความปลอดภัย  โดยในพื้นที่เมื่อทีการระบาดนั้น  ตนเองยิ่งต้งเพิ่มมาตรการเข้มมานาน7เดือนแล้ว งดห้ามบุคคลภายนอกเข้า-ออกโดย้ด็ดขาด  ฉีดพ่นฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอภายในฟาร์ม  การจับหมูไปขายตามออเดอร์  ก็ดำเนินการเองทั้งหมดใช้รถของทางฟาร์มเท่านั้น กลับมารถก็ต้องพ่นฉีดฆ่าเชื้อตลอด  ทั้งนี้ต้องป้องกันอย่าให้เกิดโรคภายในฟาร์ม เพราะหากเกิดขึ้นจะต้องประสบปัญหาแน่นอน สังเกตได้จากพื้นที่อื่น ๆ ที่เกิดขึ้น

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน