X

เปิดป่าครอบครัวบ้านสำโหรงกุยบุรี  สำรวจพบต้นกำแพงเจ็ดชั้น พืชป่าชายเลนมากสรรรพคุณกลางป่าเบญจพรรณอย่างหนาแน่น

เปิดป่าครอบครัวบ้านสำโหรงกุยบุรี  สำรวจพบต้นกำแพงเจ็ดชั้น พืชป่าชายเลนมากสรรรพคุณกลางป่าเบญจพรรณอย่างหนาแน่น เตรียมต่อยอดนำมาพัฒนาเป็นน้ำมันนวด และยาบำรุงหัวใจ

(วันนี้ 28 สิงหาคม 2566 )ที่ป่าชุมชนบ้านสำโหรง หมู่ที่ 5 ตำบลสามกระทาย อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  นายองครักษ์  ทองนิรมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธีเปิด “กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน” ภายใต้โครงการส่งเสริมการยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมย่อย ป่าครอบครัว สืบสานปณิธานพ่อ สานต่อเศรษฐกิจพอเพียง  พร้อมทำการส่งมอบพันธุ์พันธุ์กล้าไม้ต่างๆจำนวน 9,500 ต้นกับหน่วยงานต่างๆและร่วมปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และเยี่ยมชมบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากป่าครอบครัว เครือข่าย ทสม.ประจวบฯ และเครือข่ายภาคการเกษตรต่างๆ ร่วมด้วย นายไพศาล  ช่อผกา นายอำเภอกุยบุรี นายสมควร คีรีนิล นายก อบต.สามกระทาย พร้อมคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ทสจ.ประจวบฯเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ ทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  ตำบลสามกระทาย และพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งส่วนราชการภาครัฐ ภาคเอกชน ครู นักเรียนจากโรงเรียนบ้านสำโหรง และชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรม เป็นจำนวนกว่า 250 คน

การจัดกิจกรรมในวันนี้ จึงเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการป่าชุมชนและการจัดการป่าในระดับครอบครัว เป็นการปลูกต้นไม้ในใจคน ด้วยแนวคิดการปลูกป่านอกป่า หรือการยกป่ามาไว้ในบ้าน หรือที่เรียกว่า “ป่าครอบครัว”  ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางสังคมเพื่อชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเรื่องใหม่ที่อยู่บนฐานคิดที่ว่า “ครอบครัวเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม และมีบทบาทสำคัญที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

จากผลการดำเนินงานของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : Gistda พบว่า ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านสำโหรง ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ และทุ่งหญ้า มีปริมาณการกักเก็บคาร์บอน คิดเป็น 18.49 ตันคาร์บอนไดออกไซด์หรือเทียบเท่า จึงขอให้คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านสำโหรง ประสานกับองค์การบริหารส่วนตำบลสามกระทาย และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดำเนินการขอขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือน กระจกในประเทศโดยความสมัครใจ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ในการจัดการป่าในระดับครอบครัว และระดับชุมชนอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ต่อไป

จากการสำรวจสภาพป่าครอบครัวบ้านสำโหรง พบต้นกำแพงเจ็ดชั้น ซึ่งปกติมักจะขึ้นบริเวณป่าชายเลน หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่กลับขึ้นอยู่ในป่าชุมชนบ้านสำโหรงที่เป็นพื้นที่ป่าเบญจพรรณอย่างหนาแน่น ต้นกำแพงเจ็ดชั้นเหมาะแก่การนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของท้องถิ่น เนื่องจากเป็นพืชสมุนไพรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเพราะสรรพคุณด้านการเป็นยาแผนไทยรักษาโรคตั้งแต่ใบจรดราก ซึ่งเหมาะจะพัฒนาเพื่อนำมาใช้ประยุกต์ไปกับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการแพทย์แผนไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันนวด หรือยาบำรุงโลหิต หัวใจ เป็นต้น

นายนิทัศน์ จันทร์ทอง ผอ.ทสจ.ประจวบฯ กล่าวว่าการจัดกิจกรรมในวันนี้ สืบเนื่องจาก ในปี 2564 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ป่าครอบครัว จำนวน 6 เครือข่าย และในปี 2566 ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมย่อย ป่าครอบครัว สืบสานปณิธานพ่อ สานต่อเศรษฐกิจพอเพียง ตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ดำเนินจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ป่าครอบครัว เพิ่มเติมอีก 12 แห่ง ทำให้ปัจจุบันจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีเครือข่ายป่าครอบครัว  รวมทั้งสิ้น 18 แห่ง ครบทั้ง 8 อำเภอ ซึ่งศูนย์เรียนรู้ป่าครอบครัว ณ ป่าชุมชนบ้านสำโหรง หมู่ที่ 5 ตำบลสามกระทาย อำเภอกุยบุรี เป็น 1 ใน 18 ศูนย์เรียนรู้ป่าครอบครัวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยอำเภอกุยบุรี มีพื้นที่ป่าชุมชน จำนวน 2 แห่ง คือ ป่าชุมชนบ้านสำโหรงและป่าชุมชนบ้านเขาราง

การดำเนินการดำเนินการโครงการป่าครอบครัวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อประชาสัมพันธ์ศูนย์เรียนรู้ป่าครอบครัวในการใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การสนับสนุนให้มีการเรียนรู้จัดทำผลิตภัณฑ์ของป่าครอบครัว  ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ป่าครอบครัว ได้ร่วมกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยการปลูกต้นไม้ และการตำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ และค้นหาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชนเพื่อประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน