หลังจากลูกช้างป่าเพศผู้ ซึ่งได้รับบาดเจ็บในป่าเขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มารักษาอาการต่อที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ล่าสุดได้ล้มลงแล้วโดยทีมสัตวแพทย์ได้พยามช่วยชีวิตอย่างสุดความสามารถแล้ว ซึ่งพบว่าสะโพกและหัวเข่าหลังขวาหลุดและยังพบรอยช้ำกับเลือดคลั่งขนาดใหญ่ด้านข้างกระดูกสันหลังเนื่องจากมีอาการบอบช้ำหนัก และได้ทำการผ่าเก็บชิ้นเนื้อไปตรวจสอบยังห้องปฏิบัติการอีกครั้ง หลังจากนั้นได้ทำการขุดหลุมกลบฝัง รวมระยะเวลาในการรักษาลูกช้างป่าที่บาดเจ็บนานกว่า 50 ชั่วโมง
ข่าวน่าสนใจ:
- สภาวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม จัดงานมหาธีรราชเจ้ารำลึก มหกรรมวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ครั้งที่ 21
- มทบ.32 ลำปาง มอบผ้าห่มคลายหนาวชุมชนบ้านป่าเหมี้ยง
- ผู้ต้องสงสัยคดีคาร์บอมขัดขืน ดึงพวงมาลัยจนรถเสียหลักพุ่งชนคอสะพานยับ ทหารตาย 1 เจ็บ 3 ส่วนคนร้ายหนีเข้าป่า
- จ.สกลนคร เปิดศูนย์อำนวยความสะดวกและปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 (โค้งปิ้งงู)พร้อมให้บริการประชาชน 24 ชม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้พบลูกช้างป่าเพศผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกลูกหลงจากช้างป่าตัวผู้ต่อสู้แย่งชิงตัวเมีย จนป่าบริเวณดังกล่าวราบต้นยางหักโค่น และเข้าสำรวจพื้นที่จนพบมีลูกช้างบาดเจ็บอยู่บริเวณลำห้วยในป่าเขาจ้าว หมู่ 6 ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากแนวเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรีประมาณ 1 กิโลเมตร(ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 18 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา) จนต่อมานายทัศเนศวร์ เพชรคง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และนายเพชรพร โกมลฤทธิ์ กำนันตำบลเขาจ้าว ,ทหาร ฉก.จงอางศึก,ตชด.145 ปราณบุรี ,ตร.สภ.ปราณบุรี ได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวจนกระทั่งมืดค่ำไม่สามารถดำเนินการอะไรและรายงานให้ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับทราบและจัดเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เฝ้าไว้ในขณะที่ยังคงมีโขลงช้างป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี กว่า 10 ตัวที่ออกมาหากินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านที่ทำไร่สับปะรด หลังจากมืดค่ำแล้วก็จะต้องอกมาเฝ้าสับปะรดในช่วงที่ผลผลิตออกและช่วงจะเก็บเกี่ยวผลผลิต
“ทีมสัตวแพทย์ฯลงพื้นที่รักษาลูกช้างป่าบาดเจ็บ”
ต่อมา(วันที่ 19 ธันวาคม 2561 )นายทัศเนศวร์ เพชรคง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้นำนายสวัสดิ์ ทวีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่3 สาขาเพชรบุรี,นายวัฒนา พรประเสริฐ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ลงไปติดตามดูอาการของลูกช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บ พร้อมด้วยสัตวแพทย์หญิงกชพร พิมพ์สิน นายสัตวแพทย์ประจำกลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช , นางสาวกชพร พิมพ์สิน สัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมทีมสัตว์แพทย์ เริ่มรักษาอาการบาดเจ็บอยู่ในพื้นที่บริเวณจุดที่พบลูกช้างบาดเจ็บ และได้มีการปรึกษาหารือของทีมสัตวแพทย์ และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี จนลงความเห็นว่าควรเคลื่อนย้ายลูกช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บ ไปรักษาต่อที่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งจะสะดวกต่อการดูรักษาอีกทั้งบริเวณพื้นที่ป่าเขาจ้าวยังคงมีช้างป่าออกมาหากินอยู่
“เคลื่อนย้ายลูกช้างบาดเจ็บสู่อุทยานฯกุยบุรี”
กระทั่งต่อมา(เย็นวันที่ 19 ธันวาคม 2561) นายสวัสดิ์ ทวีวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ,นายวัฒนา พรประเสริฐ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี พร้อมด้วย นายทัศเนศวร์ เพชรคง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ,สัตวแพทย์หญิงกชพร พิมพ์สิน นายสัตวแพทย์ประจำกลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว่าและพันธุ์พืช , นางสาวกชพร พิมพ์สิน สัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมทีมสัตว์แพทย์ และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ตัดสินใจเคลื่อนย้ายลูกช้างป่ากุยบุรีที่ได้รับบาดเจ็บ โดยมี พ.ต.ท.วิศรุต สุขแท้ ผบ.ร้อย.ตชด.ที่ 145 ปราณบุรี ,ร.ต.อ.สมชาย บุญจริง หน.ชุด ชปข.ร้อย ตชด. ที่ 145 ปราณบุรี พ.อ.เฉลิมพล สังข์ต้อง รอง.ผบ.ฉก.จงอางศึก, พ.ต.ท.เสกสิทธิ จันทร รอง.ผกก.ป สภ.ปราณบุรี,ร.ต.อ.เอกพจน์ ทิมทอง รองสารวัตร สอบสวน สภ.ปราณบุรี พร้อมนายเพชรพร โกมลฤทธิ์ กำนันตำบลเขาจ้าว ร่วมในการเคลื่อนย้ายลูกช้างป่าได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายลูกช้างป่ากุยบุรีที่ได้รับบาดเจ็บ โดยต้องใช้รถไถมาปรับพื้นที่ทำทางเข้าไปเพื่อให้รถบรรทุกเข้ามายังจุดที่ลูกช้างได้รับบาดเจ็บ โดยหลังจากปรับพื้นที่และทำทางเสร็จแล้วใช้เครนที่ติดตั้งอยู่บนรถบรรทุก ยกลูกช้างป่าที่บาดเจ็บขึ้น โดยที่บนพื้นรถยนต์บรรทุกเจ้าหน้าที่เอาฟางจำนวนมากมาปูก่อนที่จะวางลูกช้างป่าลง และนำไปทำการรักษาที่บริเวณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยมีทีมสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เฝ้าดูแลอาการตลอดทั้งคืน
“ลูกช้างป่าล้ม ช่วงบ่ายพบอาการบอบช้ำภายในหนัก”
(วันที่ 21 ธันวาคม 2561) เวลา 13.30 น.นายทัศเนศวร์ เพชรคง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้รายงานข้อมูลให้ นายสวัสดิ์ ทวีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่3 สาขาเพชรบุรี และนายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่3 สาขาเพชรบุรี ทราบข้อมูลว่าถึงแม้ทีมสัตวแพทย์ที่ให้การรักษาดูแลอาการลูกช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเวลาประมาณ 13.30 น. ลูกช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บได้สิ้นใจแล้ว จากนั้นจึงนิมนต์พระสงฆ์จากวัดบ้านรวมไทยมาสวดอุทิศส่วนกุศลให้ลูกช้างป่า ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวบ้านในพื้นที่ โดยมีพนักงานสอบสวน สภ.บ้างยางชุม มาร่วมตรวจสอบจุดที่ลูกช้างป่าเสียชีวิตและลงบันทึกประจำวัน และรวบรวมข้อมูลประกอบสำนวนคดี ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
“ทีมสัตว์แพทย์ ลงมือผ่าพิสูจน์ ก่อนขุดหลุมกลบฝัง”
จากนั้นทีมสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นำโดยสัตวแพทย์หญิงสุนิตา วิงวอน นายสัตวแพทย์ประจำกลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า , สัตวแพทย์หญิงกชพร พิมพ์สิน นายสัตวแพทย์ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และทีมสัตวบาล ได้ลงมือผ่าพิสูจน์ซากลูกช้างป่า โดยได้ผ่าบริเวณกลางลำตัวช้างเป็นลำดับแรก พบร่องรอยกล้ามเนื้อข้างกระดูกสันหลังลักษณะช้ำเป็นวงขนาดใหญ่และมีเลือดคลั่งอยู่ภายใน จากนั้นผ่าที่บริเวณขาหลังด้านขวาพบว่าบริเวณกระดูกสะโพกและหัวเขาด้านขวาหลุดจนสามารถขยับหมุนได้ แต่ชิ้นส่วนกระดูกขาและกระดูกสันหลังไม่แตกหัก
จากนั้นทำการผ่าเพิ่มเติมเพื่อเก็บชิ้นส่วนอวัยวะภายใน ทั้งหัวใจ ตับ ไต ปอด ลิ้น และหลอดลม ซึ่งพบว่าที่บริเวณหลอดลมส่วนต้น พบหนอนตัวอ้วน ความยาวประมาณ2เซนติเมตร จำนวน 2 ตัวอยู่ภายในซึ่งบ่งชี้ว่าลูกช้างมีภาวะติดเชื้อ โดยสัตวแพทย์ได้เก็บชิ้นเนื้อบรรจุถุงซิบล็อคจำนวน 2 ชุด และนำชิ้นเนื้อแบ่งแช่น้ำยาในขวดแก้วอีก 1 ชุด เพื่อส่งตรวจที่ห้องปฎิบัติการ ซึ่งผลการตรวจชิ้นเนื้อจะทราบผล ประมาณ 30 วัน ทั้งนี้ยังได้ตรวจนับซี่ฟันของลูกช้างป่า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการระบุอายุของลูกช้างที่แท้จริง ซึ่งผลการนับซี่ฟันได้ 5ปีครึ่ง และขั้นตอนสุดท้ายคือทำการถอดขนายหรืองาช้างขนาดเล็ก ซึ่งมีเพียง1ข้าง ความยาว 17.5 เซนติเมตร ออกมาเพื่อล้างทำความสะอาดก่อนจะส่งมอบให้อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เก็บรักษาต่อไป
โดยหลังจากเก็บชิ้นเนื้อทั้งหมดแล้ว จึงได้ทำการขุดหลุมเพื่อฝังกลบลูกช้างป่า โดยโรยปูนขาวเพื่อป้องกันเชื้อโรค แล้วจึงฝังกลบด้วยดินจนแน่นในบริเวณดังกล่าว ท่ามกลางความเสียใจของทุกคนที่ต้องสูญเสียช้างป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
เรื่อง/ภาพ สมบัติ ลิมปจีระวงษ์
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: