รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดโครงการพลิกฟื้นผืนป่า สืบสานวิถีชีวิตที่ดีสู่ชุมชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ณ วนอุทยานปราณบุรี พร้อมปลูกต้นไม้ชายหาด ปล่อยปูทะเล 72 คู่ มอบอุปกรณ์เฝ้าระวังช้างป่าและอุปกรณ์ดำรงชีพในป่าให้กับเจ้าหน้าที่ และมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าทับสะแก เนื้อที่กว่า 3 พันไร่
(วันนี้ 21 กันยายน 2567) ที่วนอุทยานปราณบุรี อ.ปราณบุรี จ.ประจวบฯ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานพิธีเปิด “โครงการพลิกฟื้นผืนป่า สืบสานวิถีชีวิตที่ดีสู่ชุมชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” โดยมีนายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ และ นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยนายสมคิด จันทมฤก ผวจ.ประจวบฯ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรงทรัพยากรธรรมชาติและวิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ นายปิ่นศักดิ์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนผู้บริหาร ข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าที่พันตรี อภิญญา ศักดินันท์ นายอำเภอปราณบุรี ฝ่ายปกครอง เทศบาล อบต. กลุ่มอนุรักษ์ ประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบอุปกรณ์ปฏิบัติงานให้แก่เครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พร้อมมอบอุปกรณ์ดํารงชีพในป่าให้แก่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ดร.เฉลิมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาลได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน เรื่องความเป็นอยู่และที่ทำกินของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินอย่างถูกต้องภายใต้ข้อกฎหมายกำหนด และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลทรัพยากรป่าไม้ของชาติในพื้นที่ที่ตนเองได้อาศัยทำกิน สำหรับในวันนี้ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เพื่อดำเนินโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล เป็นการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐในลักษณะแปลงรวม ดำเนินการภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นผู้รับมอบจำนวน 1 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าทับสะแก เนื้อที่ 3,038-2-84 ไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเมื่อได้รับการดำเนินการแล้วจะมีราษฎรที่ได้รับประโยชน์ สามารถอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จำนวนประมาณ 354 ราย
นอกจากนี้ยังได้มีการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 โดยอนุมัติโครงการในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 17,560 ไร่ เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวสามารถรับการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน และได้รับการส่งเสริมพัฒนาอาชีพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอันจะทำให้ราษฎรได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมทั้งได้มอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 7,404 ไร่ ให้แก่ราษฎร จำนวน 1,210 ราย ในท้องที่อำเภอ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี อำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย โดย“ขอฝากไปยังพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขอให้ท่านช่วยกันป้องกันรักษาป่าที่เหลืออยู่ อย่าให้มีการบุกรุกทำลายป่าเพิ่มเติม ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อท่านจะได้อยู่ร่วมกันกับป่าได้อย่างยั่งยืนอยู่ดีกินดีสืบไป”
หลังจากนั้น ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะได้ร่วมกันปลูกป่าชายหาดวนอุทยานปราณบุรี จำนวน 720 ต้น และปล่อยปูทะเล 72 คู่ บริเวณเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน เพื่อเพิ่มแหล่งอาหารให้กับกับชุมชน และเดินเยี่ยมหอชมวิวทุ่งโปรงทอง ซึ่งเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนเป็นสะพานไม้ เป็นวงกลมระยะทาง 1,000 เมตร และยังมีจุดที่นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการเรือของกลุ่มอนุรักษ์ออกไปเยี่ยวชมวิถีชีวิตของชาวประมงปากน้ำปราณ และชมป่าโกงกาง 100 ปีผืนใหญ่ที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งวนอุทยานปราณบุรี เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวของ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศ มาเดินเที่ยวชมเส้นทางสะพานไม้ศึกษาธรรมชาติ โดยมีตัวเลขเฉลี่ยนักท่องเที่ยวเข้าเดือนละ 10,000-13,000 คน/เดือน
ดร.เฉลิมชัยฯ กล่าวว่า ตอนนี้ทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ ตลอดจนอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรต่างๆทางกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆอยู่อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพราะเราต้องช่วยกันฟื้นฟู รักษาสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รับผิดชอบ หลังจากนี้เมื่อฝนผ่านพ้นไปสิ่งที่ทางกรมฯต้องทำเดินการคือการฟื้นฟู และบูรณะพื้นที่ของเราควบคู่กันไป ผมยืนว่าแหล่งท่องเที่ยวในส่วนของที่กระทรวงฯรับผิดชอบเราจะต้องพัฒนา และทำให้ดีขึ้น
ในส่วนของปัญหา”ลิง” ที่มีอยู่ที่เขาหินเหล็กไฟ เขาตะเกียบ ก็ได้ให้ทางเทศบาลเมืองหัวหิน ร่วมมือกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการจัดการควบคุมประชากรลิง ด้วยการทำหมัน นอกจากนั้นยังรวมถึงพื้นที่เขาช่องกระจก อำเภอเมืองประจวบฯ เพื่อดำเนินการไม่ให้ไปรบกวนชาวบ้าน นักท่องเที่ยว ซึ่งในส่วนของเทศบาลเมืองหัวหิน ก็ต้องไปดำเนินการในการจัดทำแผนงานและงบประมาณเชื่อว่าประมาณ 8 เดือนก็น่าจะเรียบร้อย เพราะทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมที่จะอำนวยความสะดวก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: