ประจวบคีรีขันธ์ – “หมอล็อต”ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ ชำนาญการ ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ,ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก ฯลฯลงพื้นที่ป่าละอู-ป่าเด็ง ดูแนวรั้วกันช้างป่าพบเกือบ 20 จุดโดนช้างป่าพังราบ ชี้ต้องขุดคูตลอดแนวรั้วทั้งหมดไปด้วย พร้อมวิงวอนขอให้หยุดให้อาหารช้างป้าริมถนนทางเข้าหมู่บ้านป่าละอู และช่วยซ่อมร้านอาหารครัวกันเอง ที่ถูกช้างป่าป่าพังเมื่อหลายวันที่ผ่านมา
11 มกราคม 2561 -“หมอล็อต” นายภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ ชำนาญการ ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เดินทางลงมาพื้นที่ป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน หลังจากในพื้นที่เกิดปัญหาช้างป่าออกมาทำลายทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านบ่อยขึ้น ทำให้นายธัญญา เนติธรรม อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ส่ง”หมอล็อต”ลงพื้นที่โดยประสานกับทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน,เจ้าหน้าที่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งประเทศไทย(WCS) อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่,ทหารชุดเฉพาะกิจจงอางศึก ลงพื้นที่ในวันนี้
ข่าวน่าสนใจ:
โดยจุดแรกมีการลงไปยังแนวรั้วป้องกันช้างในส่วนของ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ซึ่งเป็นจุดที่มีการทำรั้วกันช้างป่าโดยเป็นงบจังหวัดประจวบฯ ซึ่งใช้สลิงเป็นตัวขึงระหว่างเสาปูนตลอดแนว และต่อมาได้รับความเสียหายในหลายจุดเนื่องจากช้างป่า ได้ดันสลิงจนขาดและหย่อน ส่งผลให้ช้างป่าเข้ามาได้ และอีกส่วนหนึ่งเป็นแนวรั้วกันช้างป่ากึ่งถาวร ของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าประเทศไทย(WCS) ที่มีภาคเอกชนเข้ามาบริจาคทำรั้วโดยในส่วนนี้จะใช้เสาปูนเป็นต้นกลมและใช้เหล็กเส้นข้อปล้องอ้อย ยึดติดกับเสาปูน แต่ช้างป่าก็ยังพังข้ามมาได้เป็นบางจุด นอกจากนั้นแล้ว บริเวณในส่วนของ หมู่ 6 หมู่ 7 ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ระยะทาง 13 กิโลเมตร ซึ่งมีการใช้งบประมาณจากภาคเอกชนที่บริจาค และงบประมาณจากภาครัฐมาสร้างแนวรั้วป้องกันช้างป่าเช่นกัน โดยจุดนี้เป็นเสาปูนสี่เหลี่ยม และใช้เหล็กข้อปล้องอ้อยร้อยติดกับเสาปูนป้องกันช้างป่า ได้พังรั้วเข้ามาได้รับความเสียหายประมาณ 15 จุดด้วยกันซึ่งอยู่ระหว่างการซ่อมแซมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของแนวรั้วสลิงหลายหน่วยงานเข้าซ่อมแซมแล้ว
ซึ่งล่าสุดนายวุฒิพงษ์ ศรีช่วย ผช.หน.อช.แก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่พานายภัทรพล และสื่อมวลชนดูจุดที่แนวรั้วในพื้นที่บ้านป่าเด็ง และ ป่าละอู ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักอย่างน้อยพื้นที่ป่าเด็ง 15 จุดและในส่วนที่เหลืออีก 10 จุดเป็นพื้นที่ป่าละอู ซึ่งพบว่าในส่วนของป่าเด็ง พบจุดที่ช้างป่าพังรั้วเข้ามาได้ส่วนใหญ่เป็นบริเวณที่ช้างป่า ใช้เข้าออกเป็นประจำก่อนที่จะมีการสร้างรั้ว ซึ่งก็คือ”ด่านช้าง” ทั้งนี้การซ่อมแซมดังกล่าวต้องใช้เวลา โดยพบว่าคืนที่ผ่านมาก็ยังมีช้างป่าพังรั้ว เข้ามาเช่นกัน
หลังจากนั้นนายวุฒิพงษ์ และเจ้าน้าที่พานายภัทรพล พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน,เจ้าหน้าที่ชุดกู้ภัยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ,เจ้าหน้าที่ทหารชุดเฉพาะกิจจงอางศึก,เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ได้เข้าช่วยกันซ่อมแซมฝาผนังร้านอาหารครัวกันเอง ของนางนงเยาว์. แก้วสุกใส อายุ 48 เจ้าของร้านอาหาร ตั้งอยู่ริมถนนทางเข้าบ้านป่าละอู โครงการสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ป่าละอู –หนองพลับ ตามพระราชดำริ หมู่ 1 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน ซึ่งถูกช้างป่าบุกเข้ามาพังจนได้รับความเสียหายมาตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 6 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา
นางนงเยาว์กล่าวว่า รู้สึกขอบคุณที่ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และหน่วยงานต่างๆเข้ามาช่วยซ่อมแซมฝาผนังร้านให้ในครั้งนี้ ซึ่งการประกอบอาชีพค้าขายก็ยังต้องทำต่อไปที่นี่ ถึงแม้หลายครั้งจะได้รับความเสียหายจากปัญหาช้างป่าซึ่งการเก็บข้าวของและวัตถุดิบ ก็พยามเก็บและเศษขยะต่างๆก็จัดทิ้งโดยมีรถของ อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ มาเก็บ ที่ผ่านมาช้างป่ากินเส้นก๋วยเตี๋ยว น้ำตาลปี๊ป และมะขามเปียก ส่วนเกลือช้างป่าก็ไม่ได้กินแต่อย่างใด
พร้อมกันนั้นนายภัทรพล ทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน,ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก,อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ยังได้ร่วมกันซ่อมแนวรั้วสลิง และจัดเก็บขยะบริเวณบ้านเรือนและริมถนนและร้านค้าต่างๆในพื้นที่ป่าละอู เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในชุมชนช่วยกันจัดการปัญหาขยะตกค้างที่อาจจะเป็นสื่อในการให้ช้างป่าเข้ามาในพื้นที่
ด้านนายภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่าในปัจจุบันนี้ยังมีผู้นำผลไม้ กล้วย อ้อย เศษผัก ฯลฯไปโยนบริเวณริมถนนหนองพลับ-ป่าละอู บริเวณตั้งแต่จุดตรวจไทรเอน-หน่วยหุบเต่า-จุดตรวจพุไทร ทางเข้าหมู่บ้านป่าละอู ซึ่งในความหวังดีอาจเป็นการทำร้ายช้างป่า เพราะส่งผลต่อสุขภาพจะเห็นได้ว่าช้างป่าละอูบางตัวมีงาข้างเดียวเนื่องจากสุขภาพที่ไม่เป็นปกติ ช้างกินกล้วยซึ่งมีฟอสฟอรัสสูง จะทำให้งาแตก หัก และบิ่น ดังนั้นจึงขอวิงวอนให้เลิกนำอาหาร ผลไม้ฯลฯไปให้ช้างป่า
ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับทางจังหวัด อำเภอ อบต.ในพื้นที่จัดสร้างโป่งเทียม แหล่งอาหาร แหล่งน้ำในป่า เพื่อดึงช้างให้กลับเข้าไป และคงต้องมีการสำรวจประชากรช้างป่าแก่งกระจาน ที่แท้จริงว่ามีปริมาณเท่าไหร่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาช้างป่าและรับมือช้างป่าในอนาคต ส่วนบริเวณแนวรั้วทั้งในส่วนของป่าเด็งและป่าละอู ก็ต้องมีการขุดคูรอบแนวรั้วกันช้างตามไปด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: