1 สัปดาห์แล้วที่ช้างป่าพลายงางาม หรือเจ้าด้วน ถูกยิงล้มบริเวณร่องลำห้วย ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี สาเหตุจากลงมากัดกินพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านได้รับความเสียหาย เบื้องต้นตำรวจยังไม่สามารถระบุได้ว่าใครยิงช้าง ส่วนนายอำเภอกุยบุรี แจ้งในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ว่าผู้ลงมือคาดเป็น”คนย่านซื่อ” ขณะที่หลายฝ่ายเห็นว่าขอให้ยึดหลัก”พระราชดำรัสในหลวง ร.9 “แก้ปัญหาคนกับช้างป่า
18 มกราคม 2561 ความคืบหน้ากรณีช้างป่าพลายงางาม กุยบุรีอายุกว่า 20 ปี ถูกยิงด้วยอาวุธปืนไรเฟิล เข้าที่เบ้าตาข้างซ้ายและชาวไร่ไปพบซากช้างล้มอยู่บริเวณลำห้วย ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี หมู่ 8บ้านพุบอน อ.กุยบุรี จ.ประจวบฯนับตั้งแต่วันที่12มกราคม ที่ผ่านมา วันนี้เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ติดตามการคลี่คลายคดี 3 ชุด เบื้องต้นหัวกระสุนปืนไรเฟิลที่ใช้ยิงช้างป่าเป็นขนาด .375 แม้การสแกนค้นหาปลอกกระสุนของหน่วย EOD .oไร่สับปะรดพื้นที่ชายเขาติดกับแนวป่าของเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จะยังไม่พบก็ตาม รวมไปถึงอาวุธปืนไรเฟิลที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามอำเภอ 8 แห่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้ส่งมอบเพื่อทำการตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่ามีเพียงพื้นที่อำเภอปราณบุรีเท่านั้นที่นำอาวุธปืนไรเฟิล .375 มาส่งให้พนักงานสอบสวน สภ.ยางชุมเท่านั้น
ขณะเดียวกันที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติกุยบุรี นายชาตรี จันทร์วีระชัย นายอำเภอกุยบุรี ,นายไชยชยะ นายอำเภอสามเร้อยยอด และนายกาญจนพันธ์ คำแหง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้จัดประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ ( PAC) มีนายชาตรี จันทร์วีระชัย นายอำเภอกุยบุรี ,นายไชยชยะ นายอำเภอสามเร้อยยอด พร้อมคณะกรรมการจากทั้งในส่วนของกำนัน- ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจ ทหาร ชาวบ้านในพื้นที่ และกลุ่มอนุรักษ์ ฯลฯ
โดยการประชุมครั้งนี้คณะกรรมการฯส่วนใหญ่ ได้พูดถึงกรณีช้างป่ากุยบุรี โดนยิงด้วยอาวุธปืนไรเฟิลและล้มลงในเวลาต่อมา ปัจจุบันพบว่าช้างป่าในอุทยานแห่งชาติ ได้ออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรจนได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่อง บริเวณบ้านย่านซื่อ จึงอยากให้ทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และหน่วยงานภาครัฐเร่งหามาตรการแห้ปัญหาช้างป่า เนื่องจากปริมาณช้างป่าที่เพิ่มขึ้น จากเดิมซึ่งไม่ค่อยลงมาสร้างความเสียหาย แต่ระยะหลังช้างป่า ลงมากัดกิชพืชไร่ ล้มต้นยางพาราแทบทุกคืน
นายกาญจนพันธ์ คำแหง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้กล่าวว่าที่ผ่านมาได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ร่วมกับทหาร ออกลาดตระเวนและช่วยกันไล่ช้างป่าที่ลงมากัดกินพืชไร่ของชาวบ้าน ในปัจจุบันยอมรับประชากรของช้างป่าเพิ่มขึ้นในภาพรวมแหล่งอาศัยน้อยลง ต้องมองหลายมิติหลายหน่วยงานต้องร่วมบูรณาการในแก้ปัญหา พยามนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และการจัดสร้างแหล่งอาหาร แหล่งน้ำเพิ่มเติมในป่า จัดสร้างแปลงหญ้าซึ่งนักวิชาการบอกว่าเราต้องมีประมาณ 3,000 ไร่แต่ปัจจุบันเรามีเพียง 1,500 ไร่เท่านั้นซึ่งได้เสนอกรมอุทยานแห่งชาติฯของงบประมาณดำเนินการเพิ่มเติม การแก้ไขปัญหาช้างป่าต้องอาศัยระยะเวลา ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นตนเองก็รู้สึกเสียใจเช่นกัน ดังนั้นในการประชุมครั้งนี้สิ่งที่คณะกรรมการฯได้เสนอก็พร้อมที่จะนำไปสู่การแก้ไขต่อไป การดำเนินการได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการแก้ปัญหาคนกับช้างป่าที่นี่
โดยในส่วนของคณะกรรมการมีเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งการสร้างแนวรั้วกันช้างป่าแบบที่ป่าเด็ง-ป่าละอู ตลอดแนวเขตกว่า 20 กิโลเมตรของหมู่บ้านย่านซื่อ บางส่วนแสดงความไม่เห็นด้วยเนื่องจากจะทำให้ช้างเปลี่ยนพฤติกรรม เหมือนที่เกิดขึ้นในพื้นทีป่าละอูตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ บางส่วนเห็นด้วย และมีการเสนอแนวทางให้ใช้วิธีการขุดคู รวมไปถึงการสร้างแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ เข้าไปในป่า
สิ่งสำคัญทั้งหมดคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ขอให้ยึดหลักแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ให้ไว้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า
ขณะเดียวกัน นายชาตรี จันทร์วีระชัย นายอำเภอกุยบุรี ได้แจ้งในที่ประชุมว่าเบื้องต้นขณะนี้ทราบแล้วว่าผู้ที่ลงมือนั้นเป็น”คนย่านซื่อ” ดังนั้นจึงฝากทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ให้ช่วยกันหาเบาะแสกลุ่มบุคคลที่ก่อเหตุยิงช้างป่าพลายงางาม กุยบุรี สิ่งที่เกิดขึ้นยอมรับว่าได้สร้างความเสื่อมเสียให้กับ อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และประเทศไทยเสียชื่อไปทั่วโลก
สำหรับอาวุธปืนไรเฟิล 20 กระบอกที่พบว่ามีทะเบียนอยู่ในอำเภอกุยบุรี และ 1 กระบอกที่เป็นปืนไรเฟิล .375 จากการตรวจสอบพบว่าปืนกระบอกดังกล่าวเจ้าของเดิมขายไป20 ปีแล้วให้คนบ้านบ่อนอก ต.บ่อนอก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ไปแล้วซึ่งอยู่ระหว่างการติดตามตัว หากยังไม่มาก็จะยกเลิกทะเบียนปืนกระบอกด้งกล่าวซึ่งก็จะกลายเป็นปืนเถื่อนทันที
นายยุทธนา อรรณพเพชร ผู้ใหญ่หมู่ 9 บ้านย่านซื่อ กล่าวว่าในหมู่บ้านย่านซื่อมีประชากรกว่า 1,000 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตรทั้งปลูกสับปะรด ขนุน ยางพารา ปาล์มฯลฯ ตอนนี้ช้างป่าเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ช้างป่าลงมาหากินในพื้นที่เกษตรบริเวณขอบชายป่าติดแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว ซึ่งหน่วยงานภาครัฐต้องเข้ามาช่วยกันหาวิธีการแก้ปัญหาที่ป้องกันได้จริง แต่ละคืนพบว่าช้างลงมาตั้งแต่ 1 – 5 ตัว บางจุดทางด้านทิศเหนือติดหมู่บ้านรวมไทยลงมาถึง 30ตัว ซึ่งการแก้ปัญหาขอให้ยึดหลักแนวพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้สร้างแหล่งอาหาร แหล่งน้ำกระจายอยู่ในป่า ให้คนช่วยกันดูแลสัตว์ป่า ช้างป่า เพื่อให้ทั้งคนทั้งช้างอยู่ร่วมกันได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: