ประจวบคีรีขันธ์ – ช้างป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ออกมาบุกทำลายกัดกินผลผลิตของเกษตรกรในพื้นที่บ้านย่านซื่อ ต.หาดขาม อ.กุยบุรี เสียหายอย่างหนักไม่เว้นแต่ละวันโดยเฉพาะขนุนส่งออกประเทศจีน แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐของจังหวัด เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านแต่อย่างใดทั้งที่ความเสียหายแต่ละครั้งหลายหมื่นบาท ในขณะเดียวกันชาวบ้านย่านซื่อก็เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ออกมาช่วยเหลือชาวบ้านไล่ช้างป่าบ้าง
วันที่ 25 มกราคม 2561 นายประสิทธิ์ ขุนสมุทร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 บ้านย่านซื่อ , นายปรีชา เกษมสุขไพศาล ,นายอนันต์ วงวาล เจ้าของสวนขนุน และไร่สับปะรด บ้านย่านซื่อ ต.หาดขาม อ.กุยบุรี หลายครอบครัว และผู้นำท้องถิ่น พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูสภาพความเสียหายของไร่ขนุนพันธุ์ที่มีชื่อเสียงทองมาเลย์ ,เพชรราชา และทองประเสริฐ ซึ่งขนุนพันธ์เหล่านี้ส่วนใหญ่เก็บผลผลิตส่งขายให้พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อที่อำเภอสามร้อยยอด ส่งต่อไปยังประเทศจีน ถึงแม้ชาวบ้านจะมีการช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการทำแนวรั้วที่ใช้แบตเตอรรี่แรงต่ำขนาด 12 โวลท์ ป้องกันช้างป่าเข้ามากัดกินพืชไร่ที่ปลูกเอาไว้ แต่ก็ไม่สามารถทัดทานช้างป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรีได้
ชาวบ้านย่านซื่อที่ประสบปัญหากล่าวว่าช้างป่ามีความฉลาด จะออกจากป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรีในช่วงเย็นหรือช่วงพลบค่ำ และเดินหากินเรื่อยมาตามแนวป่า และจะเริ่มเข้ากัดกินพืชไร่ทั้งขนุนพันธุ์ขึ้นชื่อ และสับปะรดในช่วงเวลากลางคืน โดยวิธีการช้างป่าจะใช้วิธีเหนี่ยวกิ่งขนุนที่อยู่ขอบสวนหักลงมาพาดรั้วไฟแบบเตอรรี่แรงต่ำก่อน หลังจากนั้นจึงเข้าไปก็เลือกกัดกินขนุนโดยหากเป็นขนุนที่ยังไม่แก่ ช้างป่าจะหักเอาลงมากองทิ้งไว้ตามลำต้นบ้าง หรือลูกขนุนใหญ่หน่อยก็เหยียบให้แตกบ้าง ส่วนลูกไหนที่แก่ก็จะฉีกกิน
โดยพฤติกรรมข้องช้างป่า ขนุนที่หักลงมาแล้วหากไม่แก่ก็จะปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2-4 วัน เมื่อเริ่มส่งกลิ่นหอมช้างป่าก็จะกลับเข้ามาฉีกกินอีกครั้ง ชาวบ้านที่ปลูกทั้งขนุนทองมาเลย์ และขนุนพันธุ์ขึ้นชื่อต่างๆกล่าวว่าระยะหลังช้างป่าบุกมากัดกินผลผลิตทุกวันมีตั้งแต่ 5 ตัว 10 ตัว บางครั้งมีถึง 30 ตัวแล้วแต่ช่วง ความเสียหายแต่ละครั้ง 2หมื่น-5 หมื่นบาทขึ้นไปแล้วแต่ราคาผลผลิตของขนุนที่ขึ้นลง ที่ผ่านมายอมรับว่าไม่รู้จะไปพึ่งใครเพราะไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาแต่อย่างใด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วบริเวณหมู่บ้านย่านซื่อ ระยะหลังเกิดปัญหาช้างป่ากัดกินพืชไรมาโดยตลอด
นายอนันต์ วงวาล อายุ 60 ปีเจ้าของสวนขนุน และไร่สับปะรด บ้านย่านซื่อซึ่งมีอาชีพทำการเกษตรบอกว่า อยากให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จัดเจ้าหน้าที่มาช่วยไล่และต้อนช้างกลับเข้าป่าบ้าง ทุกวันนี้ชาวบ้านต้องช่วยเหลือตัวเองทำห้างเฝ้าช่างป่า กลางวันทำไร่ กลางคืนเฝ้าช้างหากเผลอหลับไปก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักไร่สวนของตนเองที่ผ่านมาช้างป่าเคยเข้ามาหลายสิบตัวได้รับความเสียหาย จึงอยากฝากไปยังหน่วยงานภาครัฐให้เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านบ้าง เนื่องจากแต่ละครั้งต้องเสียเสียรายได้หลายหมื่นบาท โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่อุทยานฯกุยบุรี ต้องออกมาช่วยชาวบ้านไล่ช้างบ้าง เสียลูกโป้งดังขึ้นก็น่าจะรู้ว่าช้างเข้ามาแล้ว บางครั้งชาวบ้านเองก็รู้เพียงว่าจุดลูกโป้ง ก็ไม่รู้วันหนึ่งจะพลาดถูกช้างป่าทำร้ายเสียชีวิตหรือเปล่า
ป้าละม่อม เกษมสุขไพศาล อายุ 61 ปีเจ้าของสวนขนุนและไร่สับปะรด บ้านย่านซื่อ ก็บอกว่าตนเองก็เจอปัญหาช้างป่าเหมือนกับไร่ของเพื่อนบ้านเหมือนกัน ทำไร่อยู่ในพื้นที่บ้านย่านซื่อมานานหลายสิบปีแล้ว เมื่อก่อนช้างป่าไม่ค่อยออกมาสร้างความเสียหาย แต่ปัจจุบันไม่เว้นแต่ละคืน พื้นที่แปลงปลูกสับปะรดบางจุดของครอบครัวตนเอง ต้องเลิกทำปล่อยทิ้งร้างไปแล้วก็มีเพราะสู้ไม่ไหว นางละม่อมยอมรับว่าพฤติกรรมช้างป่าฉลาดมากไม่รู้จะหาวิธีไหนมาป้องกัน ความเสียหายที่ผ่านมาไม่ต้องพูดถึงไม่รู้จะไปของรับความช่วยเหลือจากใคร มาทุกวันนี้เริ่มหนักขึ้นปัญหาช้างป่า
จากปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีช้างป่าออกมากัดกินพืชผลทางการเกษตรจนได้รับความเสียหาย ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร จนนำไปสู้ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะเมื่อเกิดการยิงช้างป่าพลายงางาม ล้มกลางร่องห้วย ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จนล่าสุดทางชุดคลี่คลายคดีช้างป่าถูกยิง วิเคราะห์และพบว่าเหตุที่เกิดขึ้นมาจาก”ปัญหาความขัดแย้งคนกับช้างป่า”ซึ่งพบข้อมูลว่าปีที่ผ่านมาช้างป่าลงมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านในแถบนี้หนักขึ้น
แน่นอนที่สุดในเมื่อข้อมูลนักวิชาการเองก็ระบุอยู่แล้วว่าปัจจุบันประชากรช้างป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีมากเพิ่มขึ้น นี่จึงอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่าทำไมช้างป่าจึงออกมาในพื้นที่เกษตรของชาวบ้านมากเพิ่มขึ้น
ดังนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ว่าราชการการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนหน่วยงานเกี่ยวข้องควรต้องจัดการแก้ไขปัญหาคนกับช้างป่า อย่างมีระบบและเป็นรูปธรรม ก่อนที่ปัญหาหาจะบานปลายไปมากกว่านี้และจักต้องคำนึงแนวทางการแก้ไขปัญหา”ยึดแหลักพระราชดำรัสในหลวง รัชกาลที่ 9” นำมาใช้ให้สมชื่อที่ถูกกล่าวขานกันว่า”กุยบุรีโมเดล”
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: