กรมอุทยานแห่งชาติ จับมือ ทรู และ กองทุนสัตว์ป่าโลก ติดตั้งกล้อง 25 ตัวในพื้นที่แนวเขตผืนป่าของอุทยานฯกุยบุรี เป็นหนึ่งในโครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกมาทำลายพืชไร่ ทันทีที่ช้างป่าเดินผ่านกล้อง จะถูกส่งสัญญาณ ไปยังศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯจะทราบจุดและพิกัดที่แน่ชัดและสัญญาณจะแจ้งเตือนชาวบ้านในจุดนั้นๆทันที พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วออกไปทำการไล่ช้างป่าได้ทันที ซึ่งคาดว่าระบบจะสามารถใช้ได้ในเดือนเมษายน นี้และนับเป็นอุทยานแห่งแรกของในประเทศไทย
29 มกราคม 2560 นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนัก สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่าปัจจุบันข้อมูลทางวิชาการจากการสำรวจของเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม อุทยานแห่งชาติ พบว่าประชากรช้างป่าในปี 2558 พบมีถึง 237 ตัว ในจำนวนนี้มีช้างเพศเมียประมาณ 170 ตัวที่เหลือเป็นช้างเพศผู้ พบว่าปัจจุบันนี้ประชากรช้างป่าในอุทยานแห่งชาติฯกุยบุรี น่าจะมีเพิ่มขึ้นราวประมาณ 260-300 ตัวกระจายตัวหากินอยู่ในผืนป่าอุทยานฯกุยบุรี ทั้งในส่วนพื้นที่อำเภอกุยบุรี อำเภอสามร้อยยอด อำเภอปราณบุรี และอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ โดยก็ยอมรับว่ามีช้างป่าส่วนหนึ่งที่ออกมานอกพื้นที่เข้ามากัดกินพืชไร่ของชาวบ้านได้รับความเสียหาย เนื่องจากช้างป่าติดใจในรสชาติผลไม้ทั้งขนุนและสับปะรด
แนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่านั้นทางกรมอุทยานแห่งชาติฯไม่ได้นิ่งนอนใจ เนื่องจากทุกพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ที่มีช้างป่าพบมีประชากรเพิ่มมากขึ้นทุกที่ ดังนั้นสิ่งสำคัญต้องสร้างแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ ให้อยู่ในป่าลึกเพื่อดึงช้างกลับเข้าป่า ตามแนวพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งกุยบุรีถือเป็นโมเดล ในการจัดการแก้ปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า ซึ่งก็ต้องทำอย่างต่อเนื่องและให้ถูกวิธี
ข่าวน่าสนใจ:
- พิธีเปิดนิทรรศการฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์และสัตว์ร่วมยุคในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
- ผู้กำกับ สภ.บางเสาธง เชิญตัวคู่กรณีทั้งสองฝ่ายพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่รถชนกันแล้วมีอ้างรู้จักตำรวจ
- นครพนม น้องขวัญ นำทัพกลุ่มนครพนมร่วมใจ เปิดตัว ส.อบจ.นครพนม ทั้ง 30 เขต
- DSI ร่วมบริจาคน้ำดื่มให้ท่านจุฬาราชมนตรี เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
รวมทั้งอุทยานแห่งชาติฯกุยบุรี เองก็ได้สร้างแหล่งอาหารด้วยการปลูกแปลงหญ้าอยู่ในป่าเพิ่มเติมไปแล้วกว่า 400 ไร่จากของเดิมที่มีอยู่ราว1,1000 กว่าไร่ แต่ยอมรับว่ายังไม่เพียงพอ เพราะทางนักวิชาการเองเห็นว่าเราต้องมีแปลงหญ้าถึง 3,000 ไร่ ซึ่งทั้งหมดนี้การปลูกสร้างแหล่งอาหารแหล่งน้ำเพิ่มเติม ต้องกลับเข้าไปสำรวจและหาพื้นที่ทำให้อยู่ในป่าลึก รวมทั้งแหล่งน้ำ ยอมรับว่าทุกวันนี้ข้อมูลพบว่าช้างป่าที่อกจากป่าไปหากินนอกเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นเพราะทั้งแหล่งผลไม้ที่ชาวบ้านปลูกและแหล่งน้ำด้านนอก เพราะหากดูจากการศึกษาข้อมูลลงพื้นที่ในป่าพบว่าในป่ากุยบุรีไม่ค่อยมีแหล่งน้ำ
จากการศึกษาและข้อมูลการวิจัยการกระจายตัวของช้างป่ากุยบุรี พบว่าในปี 2570 จะมีประชากรช้างป่าเพิ่มขึ้นถึง 600 ตัว ซึ่งทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ต้องเตรียมแผนรองรับเอาไว้ มิฉะนั้นปัญหาจะตามมา ปัจจุบันนี้ในผืนป่าอุทยานฯกุยบุรี มีสัตว์ป่ามากมายหลายชนิด ทั้งช้างป่า กระทิง วัวแดง และส่วนสัตว์ป่าหายากยังมีทั้งสมเสร็จ เสือดำ แมวดาว ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น
นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนัก สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชยกตัวอย่างพื้นที่ห้วยคมกฤต ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไปทำการปลูกพืชอาหารช้าง สร้างแหล่งน้ำ เสริมโป่งเทียม ทำให้โขลงช้างป่าบางส่วนของแก่งกระจาน ที่อาศัยหากินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวไม่ออกมารบกวนชาวบ้าน จุดนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ
หรือแม้แต่ของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เองข้อมูลก็มีหลายแหล่งหลายจุดที่จะไปสร้างแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ ทำโป่งเทียม ก็ต้องเป็นทางด้านทิศตะวันตกในโซนเข้าไปทางป่าหมากขึ้นไป ซึ่งอยู่ทางแถบชายแดนไทย เมียนมา หากมีการสร้างแหล่งอาหาร สร้างแหล่งน้ำ เสริมโป่ง ด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์ นำเกลือไปหย่อนไว้ตามจุดต่างๆเพื่อสร้างโป่งเทียม โดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯกุยบุรี ทหาร WWF กลุ่มเพาวเวอร์ กุยบุรี 13 องค์กร ซึ่งมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ท้องถิ่น ฯลฯหลายฝ่ายเข้าไปช่วยกันทางภาคพื้นดิน ซึ่งก็คือการใช้แนวทางประชารัฐของนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็เป็นการบูรณาการร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา
นายกาญจนพันธุ์ คำแหง หน.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี กล่าวว่า นอกจากการสร้างแหล่งอาหาร แหล่งน้ำแล้วล่าสุด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังได้ร่วมลงนามMOU กับ ทรู และกองทุนสัตว์ป่าโลกประเทศไทยป่า(WWF) ในโครงการ”เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า”(Smart Early Warning System) ซึ่งเป็นโครงการติดตั้งกล้องจำนวน 25 ตัว ไว้ในพื้นที่จุดเส้นทางช้างป่าจะผ่านออกมายังพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ทั้งบ้านรวมไทย บ้านย่านซื่อ ฯลฯเหล่านี้เป็นต้น
โดยกล้องทั้งหมดเมื่อมีช้างหรือสัตว์ป่ากำลังเดินผ่านออกมาจากป่า ก็จะทำการส่งสัญญาณภาพกลับไปยังศูนย์ที่ตั้งอยู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชม. ซึ่งจะระบุพิกัดจุดที่ช้างป่ากำลังออก เพื่อทำการส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังชาวบ้านในพื้นที่จุดที่ช้างออกทันที หากกรณีช้างออกเพียง 1 หรือ 2 ตัวอาจจะให้ชาวบ้านหรือเครือข่ายลงมือไล่ช้างเองก่อน อันดับแรก ส่วนหากพบมีช้างออกหลายตัว ทางเราก็จะมีเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วออกไปตามจุดที่สัญญาณแจ้งเตือนเพื่อช่วยไล่ช้างป่าไม่ให้เข้าไปกัดกินพืชผลทางการเกษตร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งอุปกรณ์และสัญญาณเพิ่มเติมของทางทรู โดยจะต้องมีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้งานได้อย่างช้าในราวเดือนมีนาคม-เดือนเมษายนนี้ ซึ่งหลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ของทรู จะเริ่มทำการเพิ่มสัญญาณ และจะเป็นแห่งแรกของผืนป่าของกรมอุทยานแห่งชาติฯ นำมาใช้หากสำเร็จก็สามารถขายพื้นที่ทางโซนอื่นๆต่อไป และนำไปใช้ในพื้นที่ซึ่งเกิดปัญหาช้างป่าออกมารบกวนในอุทยานแห่งชาติฯในจังหวัดอื่นๆได้อีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: