กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เตรียมให้อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโมเดลหรือตัวอย่างในการเฝ้าระวังช้างป่าไม่ให้ออกมาสร้างความเสียหายกับพืชไร่ของเกษตรกร และลดความสูญเสียทั้งช้างและคน หลังจากทดลองเดินหน้าโครงการศูนย์เฝ้าระวังช้างป่า ด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า ด้วยการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารและการติดตั้งกล้องระบบเอ็นแค็ปเฝ้าระวังช้างป่า ตลอด 24 ชั่วโมง พบว่าที่ผ่านมากว่า 6 เดือนสามารถลดความเสียหายพื้นที่ทางการเกษตรได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ (เรื่อง/ภาพ วิมล ทับคง)
( วันที่ 31 พฤษภาคม 2562) นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมนายสวัสดิ์ ทวีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ,นายวัฒนา พรประเสริฐ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี พร้อมคณะ ได้เดินทางมายังที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี โดยมีนายทัศเนศวร์ เพชรคง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานฯการต้อนรับ เข้าพบปะและพูดคุยทำความเข้าใจ กับชาวบ้านย่านซื่อ ชาวบ้านรวมไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่า ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าโดยที่ให้ชาวบ้านซึ่งเป็นเกษตรกรอยู่รอบพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วยการใช้ระบบเทคโนโลยีการสื่อสาร และแอพพลิเคชั่น และสมาร์ทโฟนเข้ามาช่วยแจ้งหากพบเห็นช้างป่ากำลังออจากป่ามุ่งหน้าออกมาในพื้นที่เกษตรและชุมชน ตามโครงการ”ศูนย์เฝ้าระวังช้างป่า ด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า” ภายในที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่าโครงการเฝ้าระวังช้างป่า ด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้าดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มทรู ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ WWF ประเทศไทย ได้ร่วมบูรณาการในการแก้ไขปัญหาช้างป่าเข้ามากัดกินพืชไร่ของชาวบ้านจนได้รับความเสียหาย อันนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างที่ผ่านมา โดยได้นำกล้องระบบเอ็นแค็ป ( NCAPS) มีการนำซิมการ์ด ติดตั้งในกล้องเอ็นแค็ป เพื่อบันทึกภาพช้างป่า รวมถึงความเคลื่อนไหวต่างๆ ขณะเคลื่อนไหวผ่านหน้ากล้อง โดยกล้องทุกตัวจะส่งภาพต่อไปยังระบบประมวลผลกลาง ผ่านสัญญาณเครือข่ายของระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เข้ามาในศูนย์เฝ้าระวังช้างป่า ด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯกุยบุรี คอยติดตามความเคลื่อนไหวผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ตลอด 24 ชั่วโมง และหากพบความเคลื่อนไหวจากช้าง ที่กำลังออกจากป่าเพื่อมุ่งหน้าเข้ามาในพื้นที่เกษตรและชุมชน เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯก็จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลพิกัดจุดช้างป่า กำลังออกมาให้กับเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนที่เฝ้าระวังช้างป่า เพื่อเข้าไปดำเนินการผลักดันให้ช้างป่ากลับเข้าไปได้ทันท่วงทีเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อพืชไร่ของเกษตรกร
นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวอีกว่าหลังจากการติดตั้งกล้องระบบเอ็นแค็ปในจุดต่างๆ ทดลองมาเป็นระยะเวลา7 เดือน พบว่ากล้องสามารถบันทึกภาพช้างป่าทั้งแบบวีดีโอ และภาพนิ่ง รวมทั้งสัตว์ป่าชนิดอื่นทั้งหมีควาย กระทิง เก้ง และสัตว์ป่าชนิดอื่นๆรวม 252 ครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนสามารถผลักดันช้างป่าได้สำเร็จถึง 208ครั้ง มีช้างป่าสามารถผ่านเข้ามาสร้างความเสียหายในพื้นที่แปลงเกษตรของชาวไร่ในพื้นที่ บ้านรวมไทย บ้านย่านซื่อ ซึ่งอยู่บริเวณรอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติกุติกุยบุรี ลดลงจากเดิมมาก
ขณะนี้มีการติดตั้งกล้องระบบเอ็นแค็ปจาก 30 จุด ตอนนี้สามารถติดตั้งไปแล้ว 16 จุด อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวจะเดินหน้าติดตั้ง และปรับปรุงสัญญาณให้ครอบคลุมพื้นที่ ซึ่งคาดว่า เป็นจุดที่ช้างป่าจะออกมาสร้างความเสียหายให้กับพืชเกษตรและที่อยู่อาศัยของชุมชนต่อไป
ในขณะนี้ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะเลือกให้อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เป็นโมเดลหรือต้นแบบ ในการแก้ปัญหาช้างป่าที่ออกมาสร้างความเสียหายให้ในพื้นที่ทางการเกษตร และที่อยู่อาศัยของชุมชน รวมทั้งลดการสูญเสียทั้งช้างและคน ในพื้นที่มีปัญหาอยู่ อาทิเขาอ่างฤาไน ,เขาชะเมา และพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ในขณะเดียวกันทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังคงต้องสร้างแหล่งอาหารให้เพียงพอต่อประชากรช้างป่าในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีอยู่ประมาณ 300 ตัว โดยต้องไปสร้างแหล่งน้ำและปลูกพืชอาหารให้ช้างป่ากระจายอยู่ในป่าลึก เพื่อดึงช้างให้กลับเข้าป่า ซึ่งเป็นแนวพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: