กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) สนธิกำลังเร่งแก้ปัญหาไฟป่าพรุควนเคร็ง จนคุณภาพอากาศอยู่ในระดับมาตรฐาน เหลือไฟใต้ดิน คาดภายใน7วันควบคุมดับไฟได้หมด
วันที่ 12 สิงหาคม 2562 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส) ระดมเจ้าหน้าที่ทีมเหยี่ยวไฟ และเสือไฟ สนธิกำลังร่วมทุกเหล่าทัพ กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จิตอาสา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดับไฟป่าพรุควนเคร็ง จ. นครศรีธรรมราช เพื่อช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ และป้องกันความเสียหายต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพอันมีค่าของประเทศ นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือร่วมกับจังหวัดนครศรีธรรมราชจัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมส่วนหน้าเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าพรุควนเคร็ง เพื่อสั่งการแบบ Single command กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ไฟป่าและหมอกควันจังหวัดนครศรีธรรมราช (ส่วนหน้า) สั่งการในพื้นที่ ประกอบด้วย ชุดดับไฟ 15 ชุด ชุดปฏิบัติการภาคพื้นดิน 11 ชุด ชุดปฏิบัติการภาคอากาศ 4 ชุด ชุดผลักดันน้ำเข้าพื้นที่ 12 ชุด ชุดลาดตระเวน 10 ชุด ชุดเคลื่อนที่เร็ว 10 ชุด ชุดเตรียมพร้อม 5 ชุด ส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า 8 หน่วย และสถานีควบคุมไฟป่า 16 หน่วย คาดว่าจะควบคุมสถานการณ์และแก้ไขปัญหาได้เรียบร้อยภายในเร็วๆนี้
ข่าวน่าสนใจ:
- กกต.ตรัง พร้อมเปิดสนาม จัดเลือกตั้งอบจ. เปิดยิม 4,000 ที่นั่งรับสมัคร พื้นที่กว้างขวางรองรับกองเชียร์ผอ.กกต.ตรัง เผยการข่าวพบ 3…
- ตรัง ชาวบ้านสืบสานอนุรักษ์การปลูกข้าวไร่ไว้กินเองครอบครัวเหลือขาย
- ชิง ส.อบจ.เพชรบูรณ์ ส่อเดือด! นักการเมืองรุ่นใหม่ทยอยเปิดตัว ท้าชนแชมป์เก่า
- ตรัง สถาบันพระบรมราชชนกเตรียมผลิต 9 หมอรุ่นใหม่ นวัตกรรมสุขภาพไทยสู่ระดับโลก
จากเหตุการณ์พื้นที่พรุควนเคร็งและพื้นที่โดยรอบเกิดเหตุไฟไหม้ ทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกรรมมากกว่า 80 ครั้ง นับตั้งแต่ช่วงต้นปีเป็นต้นมา สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่เกษตรกรรม รวมมากกว่า 15,000 ไร่ ประชาชนและเกษตรกรโดยรอบได้รับความเดือดร้อน ระบบนิเวศป่าพรุและความหลากหลายทางชีวภาพเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก นั้น
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว. ทส. ) กล่าวว่า ตนได้น้อมนำพระราชกระแสความห่วงใยต่อราษฎรของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับปัญหาดังกล่าว ตนจึงได้สั่งการไปยังกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตลอดจนหน่วยงาน อื่นๆของ ทส.เร่งส่งเจ้าหน้าที่ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆลงพื้นที่แก้ไขปัญหาโดยด่วน
ซึ่งได้รับรายงานแล้วว่า กรมป่าไม้จัดกำลังลงพื้นที่ จำนวน 107 คน และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดกำลังลงพื้นที่กว่า 350 คน พร้อมรถยนต์ 54 คัน รถบรรทุกน้ำ 10 คัน เครื่องสูบน้ำดับเพลิงแรงดันสูง 2 เครื่อง ทั้งนี้ ได้ให้จัดหางบประมาณในการจัดซื้อโดรนและกล้องตรวจจับความร้อนที่มีความสามารถในการสแกนคลื่นความร้อน
ทั้งนี้ ต้องมีการติด ตามตรวจสอบพื้นที่ก่อนที่จะเกิดเหตุไฟป่า ซึ่งก่อนหน้านี้ ตนได้เข้าพบ พล. อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพและกระทรวงมหาดไทย ระดมสรรพกำลัง เฮลิคอปเตอร์ และอุปกรณ์ดับไฟที่จำเป็น เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยแล้ว
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว. ทส. ) ได้กล่าวให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ และได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ และพบเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฎิบัติงาน ต่อไป
นายโสภณ ทองดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในวันที่ 12 สิงหาคม 2562 นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์และสั่งการเพื่อแก้ไขปัญหาให้ยุติโดยเร็ว ทั้งนี้ หลายฝ่ายได้ห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว และพยายามร่วมกันให้ความช่วยเหลือมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2562 พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ได้ประชุมผ่าน ระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS) เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน โดยมี พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมด้วย ซึ่งในการประชุมดังกล่าว องคมนตรีได้สั่งการให้ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ระงับไฟที่ยังเกิดขึ้นในพื้นที่โดยเร็วที่สุด รวมทั้งให้กรมชลประทาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพิ่มระดับน้ำในป่าพรุ และให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบพื้นที่คุ้มครองดูแลพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบเป็นหลัก ร่วมประสาน งานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจตราลาดตระเวนพื้นที่ไม่ให้มีการเผาในป่าพรุตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้ง ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการเป็นหูเป็นตาและร่วมเป็นจิตอาสาด้วย
ด้านนายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในพื้นที่ว่า วันนี้ได้บินสำรวจพื้นที่และจากการติดตามสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่ พบว่า สถานการณ์ไฟป่าบนภาคพื้นดินได้ดับหมดแล้ว เหลือเพียงกลุ่มควันที่คงเหลืออยู่ในบางพื้นที่ เช่น จุดลานควาย หมู่ 7 ต. การะเกด อ. เชียรใหญ่ มีกลุ่มควันครุกรุ่นอยู่ต้องใช้เจ้าหน้าที่เดินเท้าเข้าไปอัดฉีดน้ำดับไฟใต้ดิน ซึ่งสามารถดับไปได้แล้วกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่บริเวณดังกล่าว และพื้นที่เนินธัมมัง หมู่ 5 ต. แม่เจ้าอยู่หัว อ. เชียรใหญ่และบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ซึ่งยังมีกลุ่มควันอีกเพียงเล็กน้อยและสามารถควบคุมได้
โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอากาศโปรยน้ำดับควัน เป็นต้น สำหรับสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่พรุควนเคร็ง คาดว่าจะสามารถดับไฟที่ยังคงคุอยู่ชั้นใต้ผิวดินและกลุ่มควันบนผิวดินทั้งหมดได้ภายใน 5-7 วัน นอกจากนี้ จากรายงาน คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ทส. ประสานร่วมมือกับจังหวัดและทุกเหล่าทัพ ให้ปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องแม้ปัญหาจะคลี่คลายไปแล้ว โดยให้สำรวจและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในทุกจุดตลอด 24 ชั่วโมง หากมีเหตุไฟป่าเกิดขึ้นให้ประสานกับศูนย์อำนวยการร่วมของทางจังหวัด เพื่อสั่งการดำเนินการโดยเร่งด่วน พร้อมได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดทำสรุปสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ รายงานต่อ ทส. เป็นรายวัน โดยหลังจากนี้จะได้มีการจัดประชุมเพื่อถอดบทเรียนจากการปฏิบัติงาน (After action review)เช่นเดียวกับกรณีไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อวางแผนการปฏิบัติงานตลอดจนบูรณาการป้องกันมิให้เกิดหรือหากเกิดปัญหาก็ให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด ได้ในฤดูแล้งปีหน้า
ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในช่วงท้ายว่า ทส.จะได้กำหนดแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยในระยะสั้น ได้ดำเนินการขุดอัดน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และร่วมกับทาง ทบ. 4 จัดชุดเตรียมความพร้อม ชุดลาดตระเวนและเฝ้าระวัง จำนวน 7 ชุด ๆ ละ 15 นาย พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้พร้อมปฏิบัติการ สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ได้ประสานกรมชลประทานขุดสระเก็บน้ำและทำคันคลองรอบป่าพรุ เฝ้าระวังและสร้างความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกในชุมชน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่พบเห็นการเผาพื้นที่ป่าและการลักลอบบุกรุกพื้นที่ป่าให้แจ้งต่อสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกจังหวัดเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งการกระทำผิดดังกล่าวถือเป็นความผิดทางอาญา มีโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งอีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: