X

“ท็อป” รมว.ทส.เปิดศูนย์เฝ้าระวังช้างป่ากุยบุรี ด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า

 

    (วิมล ทับคง เรื่อง/ภาพ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ลงพื้นที่ป่ากุยบุรีแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ ร่วมกับกลุ่มทรู เปิดศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และปล่อยเนื้อทรายคืนสู่ป่า 48 ตัว    พร้อมทั้งร่วมกันทำโป่งเทียม

วันที่ 14 กันยายน 2562ณ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(รมว.ทส.) เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์เฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Kuiburi’s Elephant Smart Early Warning System) ร่วมด้วยนางสาวกัญจนา ศิลปะอาชา  หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ,นายยุทธพล อังกินันท์ ที่ปรึกษา รมว.ทส. พร้อมด้วยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้บริหารระดับสูงของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ,นายทัศเนศวร์ เพชรคง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ,คณะผู้บริหาร -เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 3 สาขาเพชรบุรี ,นายธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน กลุ่มทรู , นางสาวพิมพ์พาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอกุยบุรี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้าน คณะครู-นักเรียน   และเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี ร่วมในพิธีเปิด

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. กล่าวว่า “การจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้น้อมนำอัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9 ) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 ว่า “ช้างควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติ คือ ให้ไปสร้างอาหารในป่าเป็นแปลงเล็กๆและกระจาย กรณีช้างออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า”

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงน้อมนำพระราชดำรัสมาใช้เป็นหลักในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลให้ปัญหาได้คลี่คลายไประดับหนึ่งแล้ว และต่อมากรมอุทยานแห่งชาติฯและกลุ่มทรู ได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือตามโครงการเฝ้าระวังช้างป่า ด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 ซึ่งได้ตระหนักว่า พื้นที่ชายป่ารอยต่อระหว่างเขตอนุรักษ์และพื้นที่เกษตรกรรม บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กำลังเผชิญปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่า

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. กล่าวอีกว่าดังนั้น ในการจัดการปัญหาดังกล่าว จึงนำความรู้ของทั้ง 2 หน่วยงาน มาร่วมกันแก้ปัญหา โดยการใช้ระบบเตือนภัยล่วงหน้า ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารร่วมกับการใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (camera trap) และพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Smart Early Warning System) ในคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนแบบทันทีทันใด (real time) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพื่อจะได้นำไปสู่การอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลระหว่างช้างป่าและชุมชนในพื้นที่ เป็นการส่งเสริมการคุ้มครองช้างป่าในพื้นที่ และจะเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆด้วย”

ขณะเดียวกัน นายธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน กลุ่มทรู กล่าวว่า สำหรับการทำงานของระบบ Elephant Smart Early Warning System จะติดตั้ง Camera trap พร้อม SIM และ SD Card บริเวณด่านที่ช้างออก รวม 25 ด่าน เมื่อช้าง หรือวัตถุใดๆ เคลื่อนไหวผ่าน กล้องจะทำการบันทึก และส่งภาพไปยังระบบ Cloud โดยเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์ปฏิบัติการ (Control Room) จะทำการ screen และส่งภาพเข้ามือถือผ่าน e-Mail ของเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้ง เตือนให้ดำเนินการผลักดันช้างเข้าพื้นที่ป่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการผลักดันช้างได้รับแจ้งการผลักดันช้าง ผ่าน Application Smart Adventure หลังจากผลักดันช้างสำเร็จจะทำการบันทึกข้อมูลต่างๆ อาทิ พิกัดด่านที่ช้างออก จำนวนช้าง เวลา ความเสียหาย เป็นต้น โดยระบบ Cloud จะทำการประมวลผล เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาต่อไป

 

ทางด้านองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย นางสาวพิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารระบุว่า “อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยเจ้าหน้าที่ของ WWF ได้รับความอนุเคราะห์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ลงพื้นที่ทำงานทั้งด้านงานวิจัยด้วยการศึกษาจำนวนประชากรช้างป่าและพฤติกรรม มีการปรับปรุงแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย สนับสนุนการลาดตระเวณเชิงคุณภาพ และการสร้างการมีส่วนร่วมในเชิงอนุรักษ์ร่วมกับชุมชน   ซึ่งการทำงานร่วมกับกลุ่มทรูฯ ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นในการทำงานเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งของคนกับช้างในพื้นที่ และช่วยให้ชาวบ้านมีทัศนะคติที่ดีต่อช้างป่า ทำให้คนกับช้างอยูร่วมกันได้

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช    กล่าวว่า ทั้งนี้ในการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ บริเวณพื้นที่ป่าก่อนถึงพื้นที่เกษตรกรรมของราษฎรจำนวน 25 จุด เพื่อแจ้งเตือนข้อมูลผ่านศูนย์ฯดังกล่าว และให้เจ้าหน้าที่ร่วมกันเข้าไปดำเนินการผลักดันช้างป่ากลับคืนเข้าไปในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ก่อนที่ช้างป่าจะออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎรได้อย่างทันท่วงที และจากการรายงานในช่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 จนถึงปัจจุบัน  ระยะเวลา 10 เดือน พบว่า กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติดังกล่าว สามารถบันทึกภาพช้างป่า จำนวน 518 ครั้ง รวม 1,826 ภาพ แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่ได้พบช้างป่าบางแห่งได้เกิดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร เพียงจำนวน 27 ครั้ง เท่านั้น ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบจากข้อมูลเชิงสถิติในพื้นที่เฝ้าระวังช้างป่าก่อนมีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติในช่วงเวลาเดียวกัน (พ.ย.60 – ส.ค.61) พบว่าช้างป่าได้ออกมา ทำลายพืชผล ทางการเกษตรของราษฎร จำนวน 628 ครั้ง และพบความเสียหายของพืชผลทางการเกษตร จำนวน 217 ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จจากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการผลักดันช้างป่าได้อย่างทันท่วงที จึงทำให้อัตราความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรลดลงเป็นอย่างมาก

สำหรับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอปราณบุรี อำเภอสามร้อยยอด อำเภอกุยบุรี อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น พันธุ์ไม้ สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ที่สวยงาม มีเนื้อที่ 605,625 ไร่ หรือ 969 ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งที่พบสัตว์ป่าจำนวนมาก รวมถึงช้างป่าและเสือโคร่ง ที่มีความสำคัญระดับภูมิภาคและระดับโลก จึงหวังว่าโครงการนี้จะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ทุกภาคส่วน จะได้ร่วมกันนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ กลยุทธ์และเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่าและชุมชนในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที และยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองช้างป่า ซึ่งเป็นสัตว์ป่าอนุรักษ์ที่สำคัญของประเทศได้เป็นอย่างดียิ่ง

หลังพิธีเปิดเสร็จสิ้นแล้ว นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. พร้อมด้วยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  และคณะได้เยี่ยมชมภายในศูนย์เฝ้าระวังช้างป่า และชมการสาธิตในการปฏิบัติงาน โดยมรเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ให้รายละเอียดพร้อมเจ้าหน้าที่ของทรู และมอบสิ่งของให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ปลูกต้นไม้ เยี่ยมตลาดประชารัฐ และเดินทางไปจุดชมสัตว์ป่าป่าสลัดได ปล่อยสัตว์ป่า เนื้อทราย 48 ตัวคืนสู่ธรรมชาติ พร้อมได้ร่วมกันทำโป่งเทียมให้กับสัตว์ป่าชนิดต่างๆ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน