อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)ลงพื้นที่ดูจุดติดตั้งทุ่นและวางตาข่ายที่บริเวณหาดทรายน้อย เน้นย้ำก่อนลงมือจัดประชุมทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อการมีส่วนร่วม โดยจะนำนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญลงมาให้ข้อมูล ซึ่งสัปดาห์หน้าจะมีการเสริมทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาร่วมโครงการวิจัยศึกษาฉลามร่วม กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) อนาคตอาจจะมีการประกาศพื้นที่คุ้มครอง และเสนอขึ้นทะเบียนฉลามหัวบาตรเป็นสัตว์คุ้มครองต่อไป
20 เมษายน 2561 นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) เดินทางลงพื้นที่ หาดทรายน้อย บ้านเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อติดตามการสำรวจและศึกษาข้อมูลฉลามหัวบาตร และดูสภาพพื้นที่หาดทรายน้อยที่จะมีการวางแนวทุ่นตาข่ายป้องกันฉลาม เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว โดยนายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์,นายบรรณรักษ์ เสริมทอง ผอ.สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 เพชรบุรี,นายวรรณ ชาตรี ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 เพชรบุรีนางสาวทิพามาศ อุปน้อย ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง(ชุมพร),สพ.ญ.วัชรา ศากรวิมล นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง(ชุมพร) พ.ต.อ.ธนากร วงศ์สิริลักษณ์ ผกก.สภ.หัวหิน, พ.ต.ท.ขจรยศ ทรงประดิษฐ์ สว.ตร.น้ำปราณบุรี ,จีรวัฒน์ พราหมณี ปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่
โดยจุดแรก อธิบดี ทช.ได้ลงพื้นบริเวณหาดทรายน้อย เพื่อดูจุดที่จะมีการติดตั้งทุ่นตาข่ายป้องกันฉลาม โดยรายละเอียดเบื้องต้นของทุ่นตาข่าย จะเป็นลักษณะของตาข่ายเนื้ออวนแบบโพลี สีดำเพื่อให้ปลาฉลามเห็นได้ง่าย ขนาดความกว้างของช่องตาอวน 2.5 – 3นิ้ว ความยาวของตาข่าย 400 เมตร ติดตั้งกับฐานไต้น้ำตามความลึกประมาณ 10 เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความลึกของทะเลบริเวณหาดทรายน้อย พร้อมกันนี้ นางสาวทิพามาศ อุปน้อย ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง(ชุมพร) ได้รายงานความคืบหน้า การสำรวจฉลามหัวบาตรที่เข้ามาว่ายวนเวียนบริเวณชายฝั่งวัดถ้ำเขาเต่า ในช่วงตั้งเวลา 16.00 น.เป็นต้นไป พบว่าฉลามหัวบาตรที่เข้ามาเป็นฉลามหัวบาตรวัยอ่อน ความยาวประมาณ 1-1.20 เมตร ตัวแม่จะอาศัยอยู่ในน้ำลึก เมื่อวานนี้พบฉลามหัวบาตรเข้ามาจำนวน 3 ตัว ขณะนี้ได้จัดเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง จากนั้นจะส่งเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลทำแบบสอบถามจากประชาชนที่พื้นที่ตั้งแต่ชะอำ หัวหิน และปราณบุรี
นอกจากนี้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)ได้สั่งการให้ สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 เพชรบุรี นำทุ่นไข่ปลา มาวางที่หน้าหาดทรายน้อย เพื่อเป็นแนวตัวอย่างในการติดตั้งทุ่น วางตาข่าย โดยจะเริ่มติดตั้งได้ในสัปดาห์หน้า จากนั้นได้เดินทางไปยังวัดถ้ำเขาเต่า เพื่อสอบถามข้อมูลจาก พระอาจารย์แดง หรือ พระครูบุญญาภิราม เจ้าอาวาสวัดถ้ำเขาเต่า ซึ่งเป็นเจ้าของคลิปฉลาม ซึ่งพระอาจารย์แดง ได้ให้ข้อมูลกับอธิบดี ทช. และยินดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาศึกษาข้อมูลฉลามอย่างจริงจัง
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวว่า วันนี้เป็นการลงมาดูข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาต่างๆ พร้อมทั้งหารือร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหน่วยงานในพื้นที่เพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ ขณะนี้มาตรการแรก คือ ห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำทะเลไปก่อนที่จะมีการติดตั้งทุ่น วางตาข่าย เรื่องต่อไปเป็นเรื่องสำคัญคือการจะต้องศึกษาระบบนิเวศของฉลาม ดูวงจรชีวิต จำนวน เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาตามหลักวิชาการ ถือเป็นโอกาสในการศึกษาหาข้อมูลอย่างจริงจัง เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้ ในสัปดาห์หน้านี้จะมีการเสริมทีมนักวิจัยจากศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาร่วมโครงการวิจัยศึกษาฉลามเข้ามาทำการศึกษาร่วมกับทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)
ในการสำรวจข้อมูลน่าจะเป็นลักษณะเดียวกับการสำรวจข้อมูลวาฬบูด้า แต่ขณะนี้สิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนคือ ระบบนิเวศน์ในบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ และมีการฟื้นตัวขึ้นมาก มีการพบสัตว์ทะเลหายาก ในหลายพื้นที่ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย มาตรการต่อมาคือการติดตั้งทุ่น วางตาข่าย ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือประชาชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมระดมความคิดเห็นเพราะเป็นสิ่งใหม่ แม้ว่าจะเป็นแนวทางตามหลักการสากล แต่ก็อยากให้เกิดความชัดเจนประชาชนมาร่วมกันพิจารณา โดยจะจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจให้กับประชาชนได้รับทราบโดยมีนักวิชาการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)มาให้ข้อมูล
อธิบดี ทช. กล่าวอีกว่า ขณะนี้จะมีการศึกษาข้อมูลพื้นที่บริเวณ หาดทรายน้อย หาดทรายใหญ่ และหาดเขาเต่า หากเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่ต้องมีการอนุรักษ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ก็จะมีการศึกษาข้อมูลเพื่อเสนอให้มีการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 สำหรับฉลามหัวบาตร ยังไม่อยู่ในบัญชีสัตว์คุ้มครอง แต่ก็จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ไม่อยากให้ประชาชนไปจับ หรือเข้าไปรบกวน หากพบการจับหรือล่า ถือว่ามีความผิดกฎหมาย ในอนาคตจะมีการเสนอให้ขึ้นบัญชีฉลามเป็นสัตว์คุ้มครองด้วยเช่นกัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: