นักวิชาการ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง(ชุมพร) ลงเรือทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ดูเส้นทางที่ปลาฉลามหัวบาตรใช้ว่ายหากินตั้งแต่หาดทรายใหญ่-หาดทรายน้อย มาจนวัดถ้ำเขาเต่า ซึ่งผ่านมา 4 คืนพบว่ามีปลาฉลามหัวบาตรขึ้นมา 6 ตัว เท่านั้นโดยมีขนาดตั้งแต่ 1 เมตรไปจนถึง 2 เมตร ส่วนใหญ่ช่วงนี้จะพบเห็นในช่วงกลางคืนเป็นช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูง
23 เมษายน 2561 ความคืบหน้าการสำรวจติดตามปลาฉลามหัวบาตร ล่าสุดวันนี้นายบรรณรักษ์ เสริมทอง ผอ.สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 เพชรบุรี และนางสาวทิพามาศ อุปน้อย ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง(ชุมพร) และ สพ.ญ.วัชรา ศากรวิมล นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง(ชุมพร) ตลอดจนเจ้าหน้าที่อีกส่วนหนึ่งนำคณะสื่อมวลชนลงเรือทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมเรือยาง แล่นดูสภาพแนวชายงั่งทะเลตั้งแต่บริเวณวัดถ้ำเขาเต่า จุดที่พบปลาฉลามขึ้นหลายคืนที่ผ่านมา ไปจนถึงบริเวณหาดทรายน้อย จุดที่จะมีการติดตั้งทุ่นวางตาข่ายป้องกันปลาฉลาม
นางสาวทิพามาศ อุปน้อย ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง(ชุมพร) กล่าวว่าจากการบินสำรวจโดยใช้อากาศยานไร้คนขับไปแล้ว และครั้งนี้ได้ใช้การสำรวจแล่นเรือดูสภาพพื้นที่ทางทะเล เป็นจุดที่ทางเจ้าหน้าที่ได้ใช้เวลาตลอด 4 วันที่ผ่านมาในช่วงเย็นไปจนถึงช่วงเช้ามืด ในการสังเกตพฤติกรรมของปลาฉลามหัวบาตรที่ว่ายเข้ามาหากินทั้งที่บริเวณวัดถ้ำเขาเต่า 2 จุดทั้งที่รูปปั้นเต่า และบริเวณศาลาหลังใหญ่ เข้ามากินลูกปลาขนาดเล็กซึ่งขณะนี้สามารถยืนยันได้ว่าบริเวณวัดถ้ำเขาเต่า มีปลาฉลามหัวบาตรอย่างน้อย 6 ตัวที่จดบันทึกไว้ได้ แต่ละตัวมีขนาดตั้งแต่ 1 เมตรไปจนถึง 2 เมตรครึ่ง โดยพบว่าจะว่ายมาให้เห็นในช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด
ดังนั้นในวันนี้จึงลงเรือสำรวจบริเวณที่คาดว่าจะเป็นเส้นทางที่ปลาฉลามหัวบาตร น่าจะว่ายมาจากบริเวณหาดทรายใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพระราชฐาน พื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่มีการทำการประมง จึงทำให้มีสัตว์น้ำอาศัยอยู่ ประกอบกับบริเวณหัวเขาหาดทรายใหญ่รอยต่อกับบริเวณหาดทรายน้อย ยังพบว่าเป็นแนวหินขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่เรียงราย รวมทั้งแนวหินบริเวณหาดทรายน้อยไปจนถึงบริเวณวัดถ้ำเขาเต่า ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของปลาฉลามหัวบาตรที่พบ ซึ่งขนาดตัวอาจจะยังไม่โตเต็มวัย คาดว่าน่าจะเป็นลูกปลาฉลามก็เป็นได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลของชาวประมงพื้นบ้านเขาเต่าที่พบว่าปลาฉลามหัวบาตร ที่ว่ายหากินอยู่ในแถบนี้น่าจะมีที่อยู่อาศัยในบริเวณหาดทรายใหญ่ เพราะชาวประมงเคยพบเห็นและติดอวนขึ้นมา
อย่างไรก็ตามทางนักวิชาการจะได้จัดทีมเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลแพร่กระจายของปลาฉลามหัวบาตร/จากชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ อ.ชะอำ อ.หัวหิน และอำเภอ ปราณบุรี เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่ได้ในช่วงนี้นำเสนอต่ออธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)ให้รับทราบต่อไป เนื่องจากจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการวิจัยศึกษาฉลาม ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,กรมประมงผู้เขี่ยวชาญด้านฉลาม,กรม ทช. ฯลฯ นายบรรณรักษ์ เสริมทอง ผอ.สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 เพชรบุรี กล่าว่าการทดลองติดตั้งทุ่นไข่ปลาความยาวประมาณ 400 เมตร ที่หาดทรายน้อยซึ่งจะเริ่มลงมือติดตั้งได้ในวันพรุ่งนี้และจะแล้วเสร็จในวันพุธนี้ รวมทั้งการลงพื้นที่นัดชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ชาวบ้านและชาวประมง ในพื้นที่หมู่บ้านเขาเต่า ให้รับทราบถึงการดำเนินการติดตั้งทุ่นและวางตาข่ายป้องกันฉลาม เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและสามารถดูทุ่นไข่ปลาทดลองได้ สำหรับการติดตั้งทุ่นและวางตาข่ายเพื่อป้องกันฉลามในส่วนของที่เป็นของจริงนั้น ซึ่งแบบล่าสุดจะเป็นรูปลักษณะแบบสี่เหลี่ยม โดยในเบื้องต้นบริเวณหาดทรายน้อย ขณะนี้ก็ยังคงงดห้ามลงเล่นน้ำอยู่ไปจนกว่าจะมีการติดตั้งทุ่นและวางตาข่ายจนเสร็จสมบูรณ์ก่อน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: