#77 ข่าวเด็ดประจวบคีรีขันธ์(ข่าว/ภาพ พลไชย ภิรมย์ศรี) ชาวบ้านกว่าพันคน จัดเวทีประชาพิจารณ์ สมาชิกนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรื่อง การเพิกถอนผืนป่าในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เนื่องจากปัญหาการทับซ้อนกันของที่ดินในพื้นที่ของนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ที่ครอบครองที่ดิน แต่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้
วันที่ 8 ตุลาคม 2562 ที่ศาลาประชาคม หมู่ 14 บ้านทุ่งยาว ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชาวบ้านกว่าพันคน จัดเวทีประชาพิจารณ์ สมาชิกนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรื่อง การเพิกถอนผืนป่าในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เนื่องจากปัญหาการทับซ้อนกันของที่ดินในพื้นที่ของนิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ที่ครอบครองที่ดิน แต่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวอยู่มากว่า 3 ชั่วอายุคน เกิดปัญหากระทบกระทั่งระหว่างคนในครอบครัว เนื่องจากไม่สามารถแบ่งสรรที่ดินทำกินได้ รวมถึงการสินทรัพย์แปลงเป็นทุน โดยชาวบ้านมีการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อน และออกเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินมากว่า 50 ปี แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีชาวบ้านจาก ตำบลเกาะหลัก ต.ห้วยทราย ต.บ่อนอก ร่วมสังเกตการณ์
นางลั่นทม งุ่ยไก่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้าน กม.12 ต.อ่าวน้อย กล่าวว่า การที่ไม่สามารถออกโฉนดที่ดิน ทำให้ญาติพี่น้องมีปัญหาระหว่างกัน ตนเองเป็นรุ่นที่ 3 ตั้งแต่บรรพบุรุษตั้งรกรากที่ตำบลอ่าวน้อย ตั้งแต่ก่อนมีการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองเมื่อปี 2511 แต่เอกสารที่ชาวบ้านมี คือ น.ค.1, น.ค.3 ซึ่ง เป็นหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตนิคมสร้างตนเอง ออกโดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนมือ หรือทำการซื้อขาย หรือแบ่งที่ดินได้ ซึ่งที่ผ่านมา พี่น้องในครอบครัวเดียวกันเกิดปัญหา เพราะสามารถถือสิทธิ์ครอบครองได้เพียงคนเดียว ทำให้เกิดความเลื่อมล้ำระหว่างพี่น้อง และไม่สามารถขอกู้เงินจากธนาคาร โดยหมู่ 9 เป็นพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในตำบลอ่าวน้อย มีประชากรที่มีปัญหาที่ดินที่ไม่สามารถออกโฉนดได้กว่า 7,000 ไร่
ด้านนายดิเรก จอมทอง ผู้ประสานงาน คณะทำงานติดตามการแก้ไขปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดินเขตนิคมสร้างตนเองอ่าวน้อย กล่าวว่า จากการสำรวจในพื้นที่ตำบลอ่าวน้อยมีประชาชกรกว่า 1,000 ครัวเรือน จำนวนที่ดินกว่า 10,000 ไร่ ได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินได้ ซึ่งคณะทำงานได้ขับเคลื่อนโดยการประสานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องระดับส่วนกลาง คือ นิคมสร้างตนเอง กรมป่าไม้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการเพิกถอนที่ดินที่ทับซ้อน ระหว่างสองหน่วยงานที่กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ จากนั้น เตรียมออกเป็นโฉนดที่ดินให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนไว้ คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2563 ทั้งนี้ การทำประชาพิจารณ์ในครั้งนี้ เป็นอ่าวน้อยโมเดล เพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนเพื่อออกเอกสารสิทธิให้ชาวบ้านในพื้นที่อื่นต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: