คณะอาจารย์ นักศึกษา วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน “สุดเจ๋ง”ผลิตอุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียนสำเร็จ เตรียมเข้ายื่นจดสิทธิบัตรเร็วๆนี้ ยืนยันขณะนี้ถึงแม้จะมีผู้สั่งเข้ามาแต่ยังไม่สามารถผลิตออกมาจำหน่ายได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอผลงานประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียน เพื่อขอรับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ
12 พฤษภาคม2561 ต้องยอมรับกันว่าช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูของ “ทุเรียน” ทั้งภาคตะวันออก ภาคใต้ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งทุเรียนคลองลอย อ.บางสะพาน ทุเรียนป่าละอู อ.หัวหิน ผลไม้ที่เป็นที่ยอมรับว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ชอบกินทุเรียนอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่าปัญหาเมื่อซื้อทุเรียนมาบริโภคและที่เกิดปัญหาตามมา ก็น่าจะเป็นเรื่องของความสุกของเนื้อทุเรียนที่นอกจากแต่ละพูจะสุกไม่เท่ากันแล้ว ยังประเมินไม่ได้ว่า ทุเรียนผลนั้นเนื้อจะมีความสุกในระดับที่ผู้บริโภคชอบหรือไม่ บางคนซื้อไปแล้วบอกไม่สุกซักที ดิบบ้าง สุกบ้างห่ามบ้างเรียกว่าเป็นปัญหามาแทบทุกปี
ดูเหมือนว่านี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ อาจารย์จิตวัฒนา บุญเลิศ หัวหน้าแผนกวิชาช่างกลโรงงาน วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และครูที่ปรึกษาโครงงานอุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียน นำมาเป็นตัวตั้งต้นของแนวคิด ในการประดิษฐ์ “อุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียน” โดยให้แนวคิดกับนักศึกษาที่ต้องทำโครงงานนวัตกรรมและงานวิจัยก่อนจบระดับการศึกษา ของวิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน ก่อนจบของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จะต้องทำโครงงานนวัตกรรมหรืองานวิจัย กลุ่มละ 1 ชิ้น แต่ละกลุ่มมีสมาชิกได้ 2-3 คน ขึ้นกับนักศึกษาเลือก ซึ่งโครงงานนั้นจะเป็นงานชิ้นสำคัญก่อนจบการศึกษา และหากนำไปต่อยอดได้ จะเป็นงานนวัตกรรมที่มีคุณภาพมาก
อาจารย์จิตวัฒนา บุญเลิศ หัวหน้าแผนกวิชาช่างกลโรงงาน วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และครูที่ปรึกษาโครงงานอุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียน กล่าวว่าในพื้นที่อำเภอบางสะพาน มีทุเรียนขึ้นชื่อของพื้นที่ คือ ทุเรียนคลองลอย ซึ่งปัญหาของผู้บริโภคที่ชอบบริโภคทุเรียน คือ ไม่ทราบว่าทุเรียนสุกหรือดิบ หากสุก สุกระดับไหน เพราะความชอบในการบริโภคของแต่ละบุคคลก็แตกต่างกัน อาจจะชอบเนื้อทุเรียนแบบห่าม สุก หรือ สุกมาก และวิธีการพิสูจน์ว่าทุเรียนมีความสุกระดับไหน ก็ใช้วิธีบ้านๆ เช่น การใช้ไม้เล็กๆเคาะบ้าง ,การเจาะเปลือกทุเรียนให้ถึงเนื้อเป็นรูปสามเหลี่ยม ใช้มือกดเนื้อทุเรียนบ้าง ทั้งหมดถือเป็นความสามารถส่วนบุคคล ซึ่งการทำเช่นนี้ เมื่อเนื้อทุเรียนสัมผัสกับมืออาจทำให้เนื้อทุเรียนบริเวณนั้นเสียหาย รสชาติเปลี่ยน หรือเน่าได้ แม้ว่าในบางรายจะใช้วิธีผ่าทั้งผลออกจากกัน หากทุเรียนไม่ได้ระดับความสุกที่ต้องการ ความเสียหายก็จะตามมา
โดยอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นมาก็เพื่อวัดความสุกของทุเรียน นับเป็นโครงงานของนักศึกษาระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 1 คือ นายเมธี ขำพวง นายพันทิวา คำแก้ว และ นายสมทรง แจ้งอักษร ทั้งหมดเป็นนักศึกษาแผนกวิชาเทคนิคการผลิต ซึ่งมี อาจารย์ธีรฉัตร วงค์แหวน อาจารย์องอาจ รุ่งเรือ อาจารย์พิเชษฐ์ อั้นคง, อาจารย์วัลลภ กวีไกรนุช วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน เป็นคณะครูที่ปรึกษาโครงงาน และอาจารย์บรรยง วงศ์สกุลผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน
นายเมธี ขำพวง นักศึกษาแผนกวิชาเทคนิคการผลิต วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน กล่าวถึงการทำโครงงานอุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียนให้ฟังว่า กลุ่มผมคิดโครงงานนี้ขึ้นมา เพราะเชื่อว่าจะสามารถนำไปต่อยอดใช้ในปีการศึกษาสุดท้ายของระดับปวส. เมื่อได้แนวคิดจากอาจารย์ จึงนำมาหาวิธีพิสูจน์ความสุกดิบของทุเรียน โดยตั้งโจทย์ไว้ว่าต้องมีเครื่องมือที่วัดค่าได้แม่นยำที่สุด ทั้งยังต้องเป็นอุปกรณ์ที่พกพาสะดวก มีขนาดเล็ก ใช้งานง่าย สำหรับวัสดุทุกชิ้น ต้องขึ้นรูปใหม่เองทั้งหมด เพราะออกแบบใหม่ทุกชิ้น ผลการทดลองใช้อุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียนที่ผ่านมา ความถูกต้องอยู่ที่ 100 เปอร์เซ็นต์
ด้านนายพันทิวา คำแก้ว นักศึกษาแผนกวิชาเทคนิคการผลิต วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน กล่าวรูปแบบของอุปกรณ์วัดวามสุกของทุเรียน ได้รับการปรับรูปแบบถึง 3 ครั้ง จนได้รูปร่างที่ถนัดมือ ใช้อะลูมิเนียมเป็นวัสดุหลัก ปลายใช้เข็มฉีดยา
อาจารย์จิตวัฒนา บุญเลิศ หัวหน้าแผนกวิชาช่างกลโรงงาน วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่าวิธีการใช้ นำอุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียนเปรียบเสมือนปากกาปาร์กเกอร์ หรือเข็มฉีดยามาทิ่มลงไปในผิวทุเรียน ให้ตรงกับบริเวณที่มีเนื้อทุเรียน แล้วทิ่มส่วนปลายเข็มลงไปให้สุด แล้วกดตัววัดที่ติดไว้ด้านบนของอุปกรณ์ สเกลจะหยุดตรงค่าของเนื้อทุเรียนที่ได้ โดยมีสเกล 3 สี เขียว เหลือง และแดง สีเขียว หมายถึง ทุเรียนสุก เนื้อนิ่มสีเหลือง หมายถึง ทุเรียนห่าม สีแดง หมายถึง ทุเรียนดิบ เปอร์เซ็นต์ความถูกต้องอยู่ที่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากเกิดความคลาดเคลื่อน จะเกิดจากผลทุเรียนเอง ไม่ใช่เพราะอุปกรณ์ หรือการเจาะเข็มลงไปไม่ถูกเนื้อทุเรียน และถูกเปลือกทุเรียน หรือเม็ดทุเรียน ก็จะได้ค่าที่ไม่ถูกต้องซึ่งระยะเวลาตั้งแต่มีแนวคิด เริ่มเขียนโครงการ หาวัสดุอุปกรณ์ กระทั่งนักศึกษาผลิตชิ้นงานออกมาได้ เป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน
ถึงแม้ว่ามูลค่าเฉพาะอุปกรณ์ที่นำมาประดิษฐ์จะมีต้นทุนเพียง 200 บาทก็ตาม แต่ผลการทดลองใช้อุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียนที่ผ่านมา ความถูกต้องอยู่ที่ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เมื่อเราผลิตอุปกรณ์นี้อออกมาเพื่อจำหน่ายในอนาคตจึงมีการตั้งราคาไว้ที่ 1,000 บาท ยอมรับว่าหลังจากมีการเผยแพร่ออกไปก็มีผู้ติดต่อสั่งเข้ามาถึง 50 รายในขณะนี้แต่ทางวิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน จะยังไม่เริ่มผลิตจนกว่าจะเสร็จสิ้นการนำเสนอผลงานสู่สภาวิจัยแห่งชาติและการยื่นขอจดสิทธิบัตรเสียก่อน
ทั้งนี้อุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียนชิ้นนี้ผลงานของนักศึกษา คณะอาจารย์ วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน ซึ่งพกพาสะดวกและการใช้งานไม่ยุ่งยาก ยังได้รับรางวัลชนะเลิศ จากโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับอาชีวศึกษาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเภทอุปกรณ์เพื่อการประกอบอาชีพ เมื่อวันที่ 24 เดือนพฤศจิกายน 2560 พร้อมกันนั้นยังได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทอุปกรณ์เพื่อการประกอบอาชีพและชนะเลิศ Honor Awards ประเภทอุปกรณ์เพื่อการประกอบอาชีพ ระดับภาคกลางเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา และรางวัล”สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา”การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ และการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา ระดับชาติ …ซึ่งล่าสุดวิทยาลัยการอาชีพบางสะพานได้เสนอสิ่งประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียน เพื่อขอรับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ไม่เพียงเท่านั้นสิ่งสำคัญเตรียมที่จะนำอุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียน ขอยื่นจดสิทธิบัตร จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป
ภาพ…วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: