กระบี่-แม่ค้าสาวหัวใส รวมกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางเพาะเห็ดฟางส่งขาย สร้างรายได้ ไม่ง้อราคายาง เผยรายได้จากการขายเห็ด ทำให้ชีวิตในครอบครัวดีขึ้น แม้ราคายางจะตกต่ำ
เกษตรกรชาวสวนยางกระบี่ แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ หันมารวมกลุ่มเพาะเห็ดฟางขาย สร้างรายได้อย่างงาม เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.62 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังบ้านเลขที่ 144 หมู่ 6 ต.โคกยาง อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ หลังทราบว่ามีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง สวนปาล์ม นำเห็ดฟาง มาขายกันจำนวนมากทุกวัน โดยที่บ้านหลังดังกล่าว พบกับ น.ส.อัสรา จินดาพล อายุ 39 ปี เจ้าของบ้าน สอบถามได้ข้อมูลว่า กลุ่มเกษตรกรสวนปาล์ม สวนยาง ในพื้นที่หมู่ 6 กว่า 20 ครัวเรือน รวมตัวกันเพาะเห็ดฟาง ส่งขายให้กับห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ มานานเกือบ 1 ปีแล้ว สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวของกลุ่มเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ทดแทนรายได้จากสวนยาง สวนปาล์ม ที่ราคาตกต่ำมานาน ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกร ใช้พื้นที่ภายในสวนปาล์ม และสวนยาง เป็นพื้นที่เพาะเห็ดฟาง โดยใช้ทลายปาล์มที่เหลือจากโรงงาน มาเป็นแปลงเพาะ ทำให้ชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันทำ แต่ละรายสามารถเก็บเห็ดฟาง ส่งขายได้วันละ 30-50 กก. สร้างรายได้วันละ 600-1,000 บาท
น.ส.อัสรา เล่าที่มาของการรวมกลุ่มกันเพาะเห็ดฟางส่งขายว่า แต่เดิมตนทำงานอยู่ที่ กทม.เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา กลับมาอยู่บ้านจึงคิดหางานเสริมทำ เพื่อสร้างรายได้ เพราะราคาผลผลิตของปาล์ม และยางพารา ตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง จึงลองเพาะเห็ดฟางดูที่บ้านจนสำเร็จ จากนั้นก็นำผลผลิตออกไปส่งขายตามตลาด ต่อมาก็ลองติดต่อไปทางห้างใหญ่ ๆ หลายแห่ง ปรากฏว่า แต่ละแห่งมีความต้องการเห็ดฟาง โดยจะกำหนดให้นำผลผลิตส่งให้ทางห้างวันละ 200-300 กก.เป็นอย่างน้อย จึงกลับมาแนะนำชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกัน ให้ทดลองเพาะโดยใช้ทลายปาล์มทดแทนฟางข้าว เพราะที่ จ.กระบี่ ฟางข้าวจะหายาก แต่ทลายปาล์มมีจำนวนมาก ตนและชาวบ้านจึงรวมตัวกันทำแปลงเพาะเห็ดฟาง หากชาวบ้านรายใดไม่มีที่ดินของตัวเอง ก็จะไปขอใช้พื้นที่สวนปาล์มของคนอื่นเป็นพื้นที่เพาะ ซึ่งเจ้าของสวนปาล์มในพื้นที่ ก็ยินดีให้ชาวบ้านได้ใช้พื้นที่ เพราะเห็นว่าได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย เจ้าของสวนปาล์มก็จะประหยัดในเรื่องของปุ๋ย เพราะหลังจากชาวบ้านเก็บเห็ดจากแปลงเพาะแล้ว ก็จะทำลายปาล์มที่เหลือไปใส่เป็นปุ๋ยปาล์มให้
น.ส.อัสรา เล่าต่อว่า เมื่อทางกลุ่มทำการเพาะเห็ดจนเห็นผลแล้ว ก็มีชาวบ้านอีกหลายคน สนใจมาขอร่วมกลุ่มเพาะเห็ดกันเพิ่มมากขึ้น จนทุกวันนี้มีสมาชิกกว่า 20 รายแล้ว แต่ละรายสามารถทำรายได้เดือนละหลายหมื่น แต่สิ่งที่อยากจะให้หน่วยงานราชการช่วยเหลือ ก็คือ ต้องการให้เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านอีกหลายราย ที่อยากจะเพาะเห็ดฟางขาย แต่ไม่มีเงินลงทุนครั้งแรก เพราะหากมีชาวบ้านหันมาเพาะเห็ดฟางมากขึ้น ก็จะมีเห็ดส่งให้กับห้างใหญ่ ๆ ได้ เพราะผู้รับซื้อยืนยันว่ารับซื้อไม่อั้น จนทุกวันนี้ตนและชาวบ้าน นำเห็ดที่เพาะได้ส่งขายไม่เพียงพอกับความต้องการ
ด้านนางปราณี แก้วช่วย อายุ 60 ปี เกษตรกรที่หันมาทำแปลงเพาะเห็ดฟางขาย เผยด้วยว่า ตนและลูกสาวเดิมจะมีรายได้หลักจากการทำสวนยาง สวนปาล์ม แต่ช่วงหลังราคายางตกต่ำ ทำให้รายได้ของครอบครัวลดลง จึงทดลองเพาะเห็ดฟางตามคำแนะนำ ปรากฎว่าได้ผลผลิตดีเกินคาด ทำให้ทุกวันนี้สามารถเก็บเห็ดขายได้วันละ 30-50 กก. ทำรายได้วันหนึ่งมากกว่า 1,000 บาท ทุกวันนี้จึงไม่เดือดร้อนแม้ราคายางจะตกต่ำ จึงพยายามขยายพื้นที่เพาะเพิ่มขึ้น โดยใช้พื้นที่ในสวนปาล์มของตัวเอง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: