สหกรณ์ออมทรัพย์…สถาบันการออมและการลงทุนที่คนไม่ค่อยพูดถึง
เมื่อพูดถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ (Savings Cooperative) คนทั่วไปก็จะนึกถึงการเป็นแหล่งเงินกู้ของสมาชิกสหกรณ์ มีเงินกู้ฉุกเฉิน เงินกู้เพื่อเปิดภาคเรียน ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ข้าราชการจะคุ้นเคยกับสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นอย่างดีเนื่องจากได้พึงพาและอาศัยบริการการเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ของหน่วยราชการนั้น ๆ อยู่เสมอ นอกจากการให้บริการทางการเงินเบื้องต้นแก่กลุ่มสมาชิกของตนเองแล้ว สหกรณ์ออมทรัพย์ในภาพรวมยังมีบทบาทที่สำคัญไม่แพ้สถาบันการเงิน (ธนาคาร) ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ที่จริงแล้วสหกรณ์ออมทรัพย์ถือเป็นสถาบันการเงินรูปแบบหนึ่งที่มีบทบาทในการระดมเงินออมของประชาชนซึ่งอาจเป็นรายย่อยหน่อย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกเข้มงวดกับการออมทรัพย์เพื่อจะได้มีเงินไว้ใช้ในยามจำเป็นเนื่องจากเงินออมที่ได้จากสมาชิกก็จะนำไปลงทุนต่อหรือให้กู้ยืมแก่สมาชิกต่อไป สำหรับประเทศไทยมีสหกรณ์ออมทรัพย์สองประเภท คือ เครดิตยูเนียน (สหกรณ์ออมทรัพย์สำหรับสมาชิกที่ไม่มีรายได้ประจำ) และ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีรายได้ประจำ
การดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์มีหลักการพื้นฐานของเช่นเดียวกับสหกรณ์ทั่วไป กล่าวคือการช่วยเหลือสมาชิก โดยใช้หลักของความเท่าเทียมและการมีผลประโยชน์ร่วมกัน สหกรณ์จะอยู่ได้เพราะสมาชิกซื่อสัตย์และมีการตรวจสอบเชื่อใจกัน สมาชิกแต่ละคนมีเสียงเพียงหนึ่งเสียงไม่ว่าจะถือหุ้นมากหรือน้อยเพียงใด นี่คือหลักของความเท่าเทียมกัน (ตรงข้ามกับกรณีการถือหุ้นสถาบันการเงินที่สิทธิออกเสียงขั้นกับจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้น) เมื่อสหกรณ์มีความมั่นคงมีผลประกอบการดีสมาชิกก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนกลับในรูปเงินปันผล
ข่าวน่าสนใจ:
- เดือดกลางวอล์กกิ้ง ปมขัดแย้งร้านบีบีกัน ควงมีด ควงปืน หมายเปิดศึก พลเมืองดีห้ามวุ่น หวั่นนทท.ถูกลูกหลง
- พร้อมรับสมัครเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภา อบจ.พังงา เชิญชวนคนดีมีความสามารถมาสมัคร 23-27 ธันวาคมนี้
- ขอเชิญมาร่วมสัมผัส “ลมหนาว ริมฝั่งโขง ชมอุโมงไฟ ยาวที่สุด” ที่นครพนม
- พะเยา จับหนุ่มใหญ่ ซุกปืนเถื่อนสั้นยาวพร้อมกระสุนเพียบ ในบ้าน
ปัจจุบันจำนวนสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ได้เพิ่มสูงขึ้น ทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์มีความสำคัญในด้านการส่งเสริมการออมอีกสถาบันหนึ่ง อีกทั้งการเติบโตขึ้นของสหกรณ์ออมทรัพย์ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ในการที่จะได้นำเงินออมเหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ปัจจุบันสหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 1,133 สหกรณ์ มีสินทรัพย์รวมกว่า 6 แสนล้านบาท (กว่าครึ่งเป็นส่วนของทุน) เทียบเคียงได้กับธนาคารออมสินที่มีสินทรัพย์รวม 6.8 แสนล้านบาท ในขณะที่ผลการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์นั้นมีกำไรสุทธิกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าธนาคารออมสินถึงร่วม ๆ หมื่นล้านบาท บริการทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์มีรูปแบบคล้ายกับธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ การรับฝากเงิน การให้กู้ยืมเงินประเภทต่างๆ แต่จะต่างจากธนาคารพาณิชย์ตรงที่สหกรณ์ออมทรัพย์จะให้บริการเฉพาะกับสมาชิกเท่านั้น และสมาชิกสามารถออมได้ 2 รูปแบบคือเงินฝากและหุ้นสหกรณ์ อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่าสหกรณ์ออมทรัพย์มียอด NPL เพียง 0.002 % เท่านั้น ซึ่งนับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไปที่มียอด NPL เฉลี่ยประมาณ 4% แสดงให้เห็นว่าสหกรณ์ออมทรัพย์นับเป็นสถาบันการเงินที่มีความมั่นคงเป็นอย่างมาก และยังเป็นที่พึ่งของคนยากที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ ด้วยเหตุนี้จึงควรพัฒนาให้สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นสถาบันการเงินของชุมชนหรือกลุ่มคนเหล่านี้ โดยครอบคลุมหน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมถึงชุมชนได้จัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์คล้ายกับธนาคารชุมชน จะได้ไม่ต้องไปพึ่งพาสถาบันการเงินนอกระบบ เพราะโดยพื้นฐานของสหกรณ์นั้นก็เป็นสถาบันที่มีการดูแลและมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่แล้ว
สหกรณ์ออมทรัพย์มีข้อได้เปรียบธนาคารในหลายข้อ เช่น การที่ไม่ถือเป็นหน่วยภาษีอากรตามประมวลรัษฏากร ทำให้ไม่มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน สมาชิกเองก็ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินปันผลและเงินฝากบางประเภท
การที่สหกรณ์ออมทรัพย์ของไทยมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นทุกปี ทั้งจำนวนสหกรณ์และสินทรัพย์ของสหกรณ์ที่เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงกล่าวได้ว่าสหกรณ์ออมทรัพย์มีความสำคัญ ต่อระบบสถาบันการเงินของไทยในระดับมหภาคด้วย เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์นั้นมีเงินกองทุนเป็นจำนวนมาก จึงน่าที่จะส่งเสริมให้นำเงินกองทุนเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น แทนที่จะให้สมาชิกของสหกรณ์กู้เพียงอย่างเดียว โดยอาจเพิ่มช่องทางนำเงินไปลงทุนในด้านอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีและมีความเสี่ยงต่ำ เช่น การลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน และพันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น หรือกระทั่งไปลงทุน ในต่างประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวสถาบันเองและต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี พบสหกรณ์ออมทรัพย์ยังมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการอยู่บ้าง เช่น ในเรื่องขององค์กรกำกับดูแล ซึ่งในปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ายังไม่ค่อยชำนาญพอในด้านการบริหารจัดการด้านการเงิน จะมีเพียงกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ซึ่งก็จะทำหน้าที่แค่เป็นผู้ตรวจบัญชีสหกรณ์เท่านั้น แต่บทบาทด้านการส่งเสริมและพัฒนาเรื่องการบริหารจัดการยังมีทางทำได้อีกมาก ดังนั้นในอนาคตจึงควรที่จะให้หน่วยงานที่มีความชำนาญในด้านการบริหารจัดการด้านการเงินเข้ามากำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความชำนาญ ในด้านนี้อยู่แล้ว (คล้าย ๆ กับที่ธุรกิจประกันจะมาอยู่ใต้การกำกับของกระทรวงการคลังตามในอนาคต) โดยอาจจะอยู่ในรูปแบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาพิจารณาในเรื่องดังกล่าว เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเห็นว่าสถาบันการเงินทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดๆ ก็ควรได้รับการกำกับดูแล และอยู่ใต้กรอบของกฎระเบียบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นสหกรณ์ออมทรัพย์ขยายบทบาทการทำธุรกรรมด้านการเงินให้เต็มรูปแบบมากขึ้น เช่น ด้านการต่างประเทศ หรือเป็นที่ปรึกษาการเงินและการลงทุนให้แก่สมาชิก มิใช่เป็นเพียงสถาบันการเงินที่พึ่งของคนยากอีกต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: